×

เกษียร เตชะพีระ ‘รัฐพันลึก’ การเบียดแย่งปะทะของ ‘อำนาจ’ สู่การหาจุดร่วมใหม่ที่ยังมองไม่เห็น

20.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ‘รัฐพันลึก’ เป็นจุดส่งท้ายฉันทามติเดิมในการดิ้นรนแสวงหาฉันทามติใหม่ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะลงตัวอย่างไร

     ในงานเสวนา ‘Direk’s Talk ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ’ ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ณ ห้อง ร.103 ชั้น 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีพูดคุยในหลาย panel รวมทั้งมีการเปิดเวทีโดยการกล่าวปาฐกถาของ ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (คลิกอ่าน) ด้วย

 

 

     ขณะที่นักวิชาการคนสุดท้ายที่ขึ้นกล่าวในงานคือ ศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้กล่าวเสวนาในหัวข้อ ‘ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์: ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย’

     ศ. ดร. เกษียร เสวนาเกริ่นนำว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ฟัง ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวทิ้งประเด็นที่น่าคิดไว้ 2 เรื่องคือ รัฐพันลึก หรือรัฐเร้นลึก (Deep State) และอีกประโยคสั้นๆ เกี่ยวกับการที่มีนักการเมืองนอกระบบเลือกตั้งมากขึ้น (State Elite) หรือเป็นนักการเมืองที่เป็นข้าราชการประจำ แต่มาเล่นการเมืองในระหว่างที่ไม่มีการเลือกตั้ง โดยต้องคิดต่อไปว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งอะไรอีกบ้าง

     “ผมจึงอยากทำในสิ่งที่ท่านอาจารย์เสกสรรค์เปรยขึ้น ท่านบอกว่าสิ่งที่เราควรทำคือการวิเคราะห์สถานการณ์รูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม (Concrete Analysis of the Concrete Situation) ผมคิดว่าทำแบบนี้อาจจะเป็นประโยชน์และน่าสนใจ และอาจจะมีความเชื่อมร้อยในสิ่งที่อาจารย์พูด”

     ศ. ดร. เกษียรจึงได้ต่อยอดงานวิจัยเป็นภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง มี 4 ประเด็นย่อยคือ 1. ตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซีย 2. กระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ หรือสภาวะสมัยใหม่แบบไทยๆ 3. ฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และ 4. การลากเส้นแบ่งเขตอำนาจใหม่ และการเมืองวัฒนธรรมของการหวนหาอดีต

 

 

ตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซีย

     ศ. ดร. เกษียรแสดงความคิดเห็นว่า ในแวดวงรัฐศาสตร์ไทย การค้นพบทางวิชาการในปี พ.ศ. 2559 คือบทความ รัฐพันลึก หรือ Deep State ของอาจารย์ ดร. เออเชนี เมรีโอ นักนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ในบทความที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า ‘Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997-2015)’, Journal of Contemporary Asia, 2016 บทความนี้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ถูกวิเคราะห์คิดต่อยอดจากนักวิจารณ์หลายคน เช่น ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นต้น ชื่อบทความในไทยว่า ‘รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ 2540-2558’ แปลโดย วีระ อนามศิลป์

     แนวคิดรัฐพันลึกเสนอว่า ในรัฐสมัยใหม่บางรัฐอย่างตุรกีหรืออเมริกาภายใต้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง ยังมีองค์กรรัฐ ราชการ หน่วยงานประจำต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ตุลาการบางหน่วย ถ้าในไทยก็คงรวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางแห่ง หรือแม้แต่ผู้บริหารบางมหาวิทยาลัยที่เป็นรัฐส่วนลึกหรือเร้นลึกซ้อนทับอยู่ในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ

     รัฐที่ว่านี้มีตรรกะและผลประโยชน์ของตัวเอง สามารถดำเนินงานอิสระจากรัฐบาลเลือกตั้งและอาจแข็งขืน หรือกระทั่งโค่นอำนาจรัฐบาลเลือกตั้งได้ แต่ประเทศไทยไม่ทันข้ามปี สภาพการณ์ความเป็นจริงของการเมืองก็เปลี่ยนไป เมื่อคิดถึงข่าวสารบ้านเมืองที่แปลกพิลึกพิสดารในช่วงหลังที่ผ่านมา หากลองนึกดูไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีข่าวแปลกๆ เยอะ อะไรที่มีอยู่ก็หายไป อะไรที่ไม่น่าแก้ได้ก็สามารถแก้ได้ สมดังที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวไว้ว่าอะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น อะไรที่เคยเห็นก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว มันสะท้อนแนวคิดรัฐพันลึกหรือรัฐซ้อนรัฐว่า อาจจะไม่พอเพียงเสียแล้วที่จะทำความเข้าใจสภาพการเมืองไทยที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ไปใหม่ในปี 2560

     “ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังประสบพบเห็นมันเหมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซีย มันดูเสมือนหนึ่งรัฐหลายรัฐซ้อนกันอยู่ หลายต่อหลายชั้น”

 

 

กระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ หรือภาวะสมัยใหม่แบบไทยๆ

     ศ. ดร. เกษียรอธิบายว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากปรัชญายุครู้แจ้งของยุโรป อเมริกา ในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งสยามด้วย ผ่านระบอบอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งประกอบไปด้วยการปฏิวัติใหญ่ 3 ด้าน คือ 1. การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (The Scientific Revolution) โดยเฉพาะเหตุผลนิยม ประสบการณ์นิยม คติโลกวิสัย 2. การปฏิวัติอุตสาหกรรม (The Industrial Revolution) โดยเฉพาะระบบตลาด เศรษฐกิจทุนนิยม การแบ่งงานกันทำ 3. การปฏิวัติกระฎุมพี (The Bourgeois Revolution) ด้านการเมือง โดยเฉพาะระบอบรัฐธรรมนูญ เสรีนิยม ประชาธิปไตย ชาตินิยม เป็นต้น

     ในประสบการณ์ประเทศต่างๆ ของโลก กระบวนการปฏิวัติ 3 ด้านเพื่อไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ดังกล่าว มีลักษณะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน รุนแรง นองเลือด และทิ้งบาดแผลทางความคิดจิตใจไว้ในสังคมเป็นจำนวนมาก แต่ในกรณีประสบการณ์ของสยามหรือไทยนั้นค่อนข้างต่างออกไป กล่าวคือ มีลักษณะไปครึ่งทาง กึ่งๆ กลางๆ มีการประนีประนอม รอมชอมกันมาก กระบวนการไปสู่สภาวะสมัยใหม่ในไทยนั้นไม่เสร็จสิ้น เปลี่ยนผ่านเท่าไรก็ไม่ถึงจุดหมาย ไม่เสร็จสมบูรณ์สักที

     นักวิชาการหลายๆ คนที่ศึกษาการเมืองไทยแบบทวนกระแสได้เสนอคล้ายๆ กันว่า เมื่อเทียบกับในเอเชียอาคเนย์แล้ว ถึงแม้สยามไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกเต็มตัว แต่ก็อยู่ในสภาพอาณานิคมทางอ้อมที่ผนวกเข้ากับระบบทุนนิยมของอาณานิคมตะวันตกทั่วโลก ในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภายใต้อำนาจอำนวยการของขุนนางท้องถิ่นในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สยามจึงมีลักษณะเป็นอัตตาณานิคม ฉะนั้นจึงไม่มีกระบวนการชาตินิยมจากประชาชนที่กู้ชาติต่างจากชาติ มีแต่กบฏลี้ลับครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งสมาชิกของคณะราษฎรผู้ก่อการล้วนแต่เป็นชนชั้นนำตัวแทนกลไกปกครองระบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงยังไม่เป็นรัฐชาติเต็มตัว เป็นแค่รัฐราชการรวมศูนย์ ที่มีปัญหาความชอบธรรมเรื้อรังอยู่ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม เสนาชาตินิยม สลับกันไป

     ถ้าพูดในภาษาของอาจารย์นิธิก็คือ สยามกลายเป็นรัฐที่ไม่มีชาติ ไม่มีชาติที่แท้จริง ในความหมาย ‘ชุมชนในจินตกรรม’ ของพลเมืองที่เสมอภาคและความเป็นภราดรภาพต่อกัน ที่กุมอำนาจอธิปไตยร่วมกัน ถ้าคำว่าชาติหมายถึงคำนี้ อันนี้คือไทยไม่มี หากแต่ตกอยู่ในสภาพของสังคมที่ไม่เป็นชุมชนในจินตกรรมของคนไทย และคนไม่ไทยที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงเกิดกรณีเหยื่อของรัฐที่ไม่มีชาติดังกล่าวนี้ให้พบเห็นอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นทนายสมชาย นีละไพจิตร ชัยภูมิ ป่าแส เป็นต้น

 

 

 

ฉันทามติแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

     สังคมภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พลิกผันปรับเปลี่ยนไปมา ระหว่างการผลักดันต่อสู้ขัดแย้งของโครงการ เปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ที่มีหลายโปรเจกต์ หลายโครงการ เช่น โครงการเสรีประชาธิปไตย โครงการสังคมนิยมประชาธิปไตย ของปรีดี พนมยงค์ โครงการชาตินิยมแบบอำนาจนิยมทางทหาร ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โครงการเสรีนิยมรอยัลลิสต์ ของหม่อมราชศ์วงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช โครงการเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เหล่านี้คือทางเลือกโครงการต่างๆ ที่มุ่งสู่ความทันสมัยในแบบความเชื่อต่างๆ กันไป

     กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ สังคมไทยจึงได้บรรลุฉันทามติของการประนีประนอม รอมชอม ของกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ กับฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยมที่ลงตัวในระดับหนึ่ง ระหว่างช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ซึ่งพอจะสรุปสาระสังเขปในด้านต่างๆ ได้ดังนี้

     ในแง่เศรษฐกิจ เป็นเศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล เมืองโต ชนบทลีบ โดยถ่วงทานด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

     ในแง่การเมือง คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความใหม่ด้านอุดมการณ์ ราชาชาตินิยม มีชาตินิยมบวกราชาชาตินิยม หรืออุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ

     ในแง่ศาสนา คือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก นี่ไม่ใช่ทางเลือกที่บอกว่ารัฐเป็นกลางทางศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่รัฐที่เป็นพุทธเต็มตัว แต่มีองค์พระประมุขเป็นพุทธมามกะ

     อาจกล่าวได้ว่าฉันทามติแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เป็นแบบวิถีเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยแบบไทยๆ ผ่านการประนีประนอม ต่อรอง คนข้างล่างได้บ้างแม้จะได้ไม่มาก คนชั้นกลางได้มากกว่าและขยายจำนวนออกไป ส่วนคนด้านบนได้มากที่สุด มันช่วยให้หลีกเลี่ยงการกวาดล้างแบบรุนแรงของกระบวนการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ มีฐานรองรับสนับสนุนจากคนชั้นต่างๆ ตามสมควร

     ขณะเดียวกันก็มีเส้นอำนาจและการแบ่งเขตอำนาจเชิงปฏิบัติหรือเสมือนจริงที่ใช้แบบแรก เส้นและเขตที่ว่าอาจไม่ต้องตรงกับเส้นอำนาจในการแบ่งเขตอำนาจตามกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญเสียเลยทีเดียว แต่ก็เป็นที่ยอมรับและเคารพกันว่าอำนาจของฝ่ายหนึ่งหยุดตรงนี้ อำนาจของอีกฝ่ายเริ่มตรงนั้น ไม่ก้าวก่ายกัน ยอมรับเคารพกัน โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นประหนึ่งอนุญาโตตุลาการสุดท้ายในยามที่มีความแตกต่างขัดแย้ง

     นอกจากนี้ภายใต้ฉันทามติดังกล่าว โครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ในทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางเสรีประชาธิปไตย สังคมนิยม ชุมชนนิยม ฯลฯ ต่างถูกแช่แข็งให้หยุดชะงักไว้ชั่วคราวด้วยบารมีแห่งพระราชอำนาจนำ

     จวบจนการปรากฏขึ้นของโครงการทางเลือกเพื่อเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ หรือเปลี่ยนสู่ภาวะสมัยใหม่ในแนวทางประชานิยมเพื่อทุนนิยม บวกกับประชาธิปไตยอำนาจนิยม โดยผ่านการเลือกตั้งของรัฐบาล ดร. ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทย ราว พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา

 

 

การลากเส้นแบ่งเขตอำนาจ การเมืองวัฒนธรรมของการหวนหาอดีต

     ปัจจุบันการเกิดสภาพอะไรที่เคยเห็นก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว เพราะผู้สนับสนุนโครงการเปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ อันเป็นทางเลือกในแนวทางต่างๆ ได้ฟื้นตัวโผล่ออกมาแย่งชิงพื้นที่กันเพื่อผลักดันแนวทางตัวเอง ในสถานการณ์อันเปราะบางที่ไม่มีอำนาจนำทางการเมือง อันเป็นที่ยอมรับในแง่ความชอบธรรม ไม่มีกรอบกติกาปกติของการแก้ไขหรือยุติความขัดแย้ง มีแต่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น และอำนาจบังคับด้วยกำลังที่ไม่อาจแก้ไขข้อขัดแย้งให้ตกไปได้

     โดยฝ่ายต่างๆ ที่เป็นเจ้าของโครงการที่เปลี่ยนเป็นแบบสมัยใหม่ แนวทางต่างๆ  ก็พยายามหวนหาช่วงอดีตหรือบ้านเก่าที่สอดรับกับอุดมคติของกลุ่มตนมากที่สุด บ้างก็หวนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 (ในละครย้อนยุคค่อนข้างมาก) บ้างก็หวนไปสมัยรัชกาลที่ 7 บ้างก็หวนหายุคการปฏิวัติ และมาตรา 17 ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น เกิดเป็นกลุ่มในการหวนหาอดีตและวัฒนธรรมทางการเมือง ประเด็นคือมีคนแบบนี้เยอะมากที่มาหวนหาอดีตกันเยอะ เป็นเพราะอะไร

     ประเด็นคือ กลุ่มฝ่ายต่างๆ ที่มีโครงการของตัวเองไปเลือกหยิบอดีตที่คิดว่าโปรเจกต์ของตัวเองเหมาะที่สุด เด่นที่สุด ขณะเดียวกันกลุ่มอำนาจและสถาบันต่างๆ ซึ่งเหมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซียต่างก็อาศัยช่วงที่เส้นอำนาจเดิมคลอนแคลน คลี่คลาย ฐานรองรับแนวทางการปฏิบัติประเพณีเดิม ขยับขยายเปลี่ยนแปลง พากันหาทางปรับเส้นอำนาจและเขตอำนาจกันใหม่ โดยผลักดันเส้นอำนาจใหม่ของตนไปให้กว้างที่สุด แผ่ขยายมากที่สุด กินพื้นที่อำนาจเก่า-ใหม่ให้มากที่สุด ด้วยความหวังว่าเส้นอำนาจที่ไกลที่สุดของตนซึ่งอยากให้อยู่ตรงนี้นั้น ฝ่ายอื่นจะยอมรับโดยดุษณี ได้ข้อยุติกันตรงนี้ แบบที่ทุกฝ่ายคิดและหวังแบบนี้ ดังเช่น คสช. และสถาบันอำนาจในเครือข่าย เร่งรีบผลักดันกฎหมายใหม่ๆ สารพัดออกมา แพร่ขยายเขตอำนาจความมั่นคงในหน่วยราชการไปสุดเอื้อม ก่อนที่จะจัดเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่

     ข้อที่น่าวิตกคือ เส้นอำนาจมันเบียดกันได้ ปะทะกันได้ แล้วจะหาข้อยุติอย่างไร จะยืดเยื้อไปนานเท่าไรจึงจะบรรลุฉันทามติใหม่ที่ค่อนข้างลงตัว และเป็นที่ยอมรับของกลุ่มพลังใหม่

     “อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น อะไรที่เคยเห็นก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว ในแง่หนึ่งจึงเป็นการแสดงออกของภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองดังที่กล่าวมานี้เอง” ศ. ดร. เกษียร กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising