×

มาตรการคุมหนี้ รูดไม่ปรื๊ด! แบงก์ชาติเตรียมออกมาตรการลดวงเงินบัตรเครดิตเหลือ 1.5 เท่า

14.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมออกหลักเกณฑ์ใหม่ในการอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะที่กระทรวงการคลังและสมาคมธนาคารไทยต่างออกมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว
  • ประธานชมรมหนี้ค้าน เพราะมองว่าแก้ปัญหาไม่ได้จริงจนกว่าจะคุมเข้มอัตราดอกเบี้ยให้เหลือร้อยละ 15 ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย

     แม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยในปีที่ผ่านมาจะปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยแตะระดับอยู่ที่ 79.9 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP แต่ถึงอย่างนั้นสถานการณ์หนี้ครัวเรือนก็ยังน่าเป็นห่วง

     เมื่อสถิติตามฐานข้อมูลของเครดิตบูโรในรายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่าคนไทย 1 ใน 3 เป็นหนี้ในระบบ มีค่ากลางของปริมาณหนี้อยู่ที่ 147,068 บาทต่อคน แถมครึ่งหนึ่งของคนตั้งแต่อายุ 25-35 ปียังมีหนี้ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่คนมีหนี้มากที่สุด และมีสัดส่วนหนี้เสียเกิน 1 ใน 5 แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และมีโอกาสจะเป็นหนี้เสียค่อนข้างสูง (คลิกอ่าน คนไทย 1 ใน 3 มีหนี้ในระบบ คนรุ่นใหม่เป็นหนี้เร็ว หนี้นาน และหนี้เสีย 

     ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมออกหลักเกณฑ์ใหม่ในการอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล หวังลดภาระหนี้ที่ต้นตอ โดยเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก ซึ่งหลักเกณฑ์ที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้คือ

  1. บัตรเครดิต กำหนดให้ผู้มีรายได้ต่อเดือน 15,000-30,000 บาท ได้รับวงเงินบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ แต่ถ้ามีรายได้เดือนละ 30,000-50,000 บาท ได้รับวงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ได้รับวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้
  2. สินเชื่อส่วนบุคคล กำหนดให้ผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และสถาบันการเงินปล่อยกู้ได้สูงสุด 3 แห่ง หรือคิดเป็น 4.5 เท่าของรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาทขึ้นไป สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ 5 เท่าของรายได้

     แต่เมื่อทาง THE STANDARD สอบถามไปที่สำนักสื่อสารสัมพันธ์ ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กลับได้รับคำตอบว่า มาตรการดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิดกว้างๆ และยังไม่มีการนำมาบังคับใช้จริงจนกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งยังระบุไม่ชัดเจนว่าจะประกาศใช้จริงเมื่อไร

     แม้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าวจะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เพราะแม้แต่ สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ยังออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้ โดยระบุว่ากระทรวงการคลังเห็นด้วยที่ ธปท. จะออกมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และทำให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินมากขึ้น

     ขณะที่ ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เชื่อว่ามาตรการนี้เป็นแนวทางที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ เพราะจะช่วยสร้างวินัยทางการเงินกับผู้เริ่มต้นประกอบอาชีพ และไม่เกิดปัญหาการใช้จ่ายไปก่อนโดยไม่สามารถชำระคืนในภายหลังได้

     ต่างจากมุมมองของ ชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า มาตรการดังกล่าวอาจเป็นเพียงยาหอมที่แก้ปัญหาไม่ได้จริง เพราะที่ผ่านมาหลายสถาบันการเงินใช้วิธีการอนุมัติสินเชื่อโดยขอเอกสารแค่สลิปเงินเดือนที่มีรายได้สูงที่สุดเพียงใบเดียว ทำให้ลูกหนี้หลายรายได้รับวงเงินสูงกว่าที่ควรจะได้ และนำไปสู่ภาระการผ่อนชำระที่เกินจะรับไหว

     “ปัญหาคือที่ผ่านมาเขาใช้คำว่า ‘รายได้’ ไม่ใช่คำว่า ‘ฐานเงินเดือน’ และเจ้าหน้าที่ธนาคารก็จะขอใช้สลิปเงินเดือนแค่ใบเดียว ไม่ได้ใช้ใบรับรองเงินเดือน แสดงว่าคุณสามารถเอาสลิปเงินเดือนใบไหนก็ได้ที่คุณได้เงินมากที่สุดไปยื่น แล้วคุณก็จะได้บัตรเครดิตวงเงินสูงๆ คนถึงชอบทำบัตรเครดิตตอนสิ้นปีที่ได้โบนัส สมมติคุณมีเงินเดือน 20,000 มีโบนัสอีก 3 เดือน เขาก็จะมองว่าคุณมีรายได้ 80,000 บาท โดยไม่ได้ดูสเตทเมนต์ย้อนหลัง ดังนั้นผมจึงมองว่ามาตรการที่จะออกมาไม่น่าจะช่วยอะไรได้”

     เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ควรจะเป็น ในฐานะที่คลุกคลีกับลูกหนี้ที่มีปัญหามานานกว่า 14 ปี ชูชาติระบุว่า มาตรการที่ดีที่สุดคือการคุมเข้มเรื่องดอกเบี้ย

     “ขณะที่กฎหมายระบุไว้ว่าห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี แล้วทำไมบัตรเครดิตทุกวันนี้ถึงคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 และบัตรกดเงินสดกลายเป็นร้อยละ 28 ต่อปีได้ ก็เพราะในใบสมัครเขาจะเขียนไว้ว่าเป็น ‘ค่าธรรมเนียม’ ไม่ใช่ ‘ดอกเบี้ย’ คุณต้องไปคุมเข้มเรื่องพวกนี้มากกว่า เพราะถ้าดอกเบี้ยลด เดี๋ยวประชาชนก็หมดหนี้ไปเอง เพราะเขาผ่อนไหว

     “การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปล่อยให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินโกงเงินประชาชนแล้วค่อยมาหาวิธีแก้ปัญหาหลังจากเขาจ่ายไม่ไหว ถ้ากฎหมายเขียนไว้ว่าไม่เกินร้อยละ 15 ก็ต้องไม่เกินจริงๆ ผมเรียกร้องเรื่องนี้มาโดยตลอด แบงก์ชาติเคยเงี่ยหูฟังผมบ้างไหม”

     หลังจากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ามาตรการที่จะออกมานั้นเป็นอย่างไร และในระยะยาวจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้จริงหรือไม่

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising