×

‘เอาเปรียบ-ข่มขู่’ เหรียญ 2 ด้าน ว่าด้วยแรงงานไทย-ต่างด้าว กับความไร้ฝีมือของรัฐบาลไทย

04.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • แรงงานเป็นสิ่งที่เกิดมาควบคู่กับสังคมอุตสาหกรรม การปฏิวัติระบบการทำงานของโลกทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ไลน์การผลิต’ คือแรงงานคนหนึ่งทำสิ่งที่ตนถนัดเพียงอย่างหรือสองอย่าง โดยทำซ้ำจนเกิดความชำนาญและรวดเร็ว
  • แรงงานก่อให้เกิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกลไกตลาด ในศตวรรษที่ 19-20 แรงงานสามารถทดแทนกันได้สมบูรณ์เพราะไม่ใช้ทักษะอะไรมาก ฝึกไม่นานก็ทำได้แล้ว ดังนั้นหากที่ใดค่าแรงถูกเกินไป แรงงานจะไหลไปทำงานที่ได้ค่าแรงแพงกว่า และมีการปรับตัวตลอดเวลาจนมีประสิทธิภาพ
  • แรงงานไทยที่มีฝีมือส่วนใหญ่จะอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ ไปทำงานต่างประเทศ หรือตกงานเพราะต้องการเงินเดือนที่สูง แรงงานต่างด้าวจึงเข้ามาอุดช่องว่างนี้ ทำให้การผลิตระดับล่างยังคงอยู่ได้ แต่ปัญหาใหญ่กลับอยู่ที่การเอาเปรียบแรงงาน ให้ค่าแรงต่ำหรือมีการทารุณ เช่น ข่าวแรงงานประมงไทย แรงงานต่างด้าวกับการค้ามนุษย์จึงกลายเป็นเหรียญที่มี 2 ด้าน

     แรงงานเป็นสิ่งที่เกิดมาควบคู่กับสังคมอุตสาหกรรม เรามีโรงงาน มีสาวฉันทนา สร้างสิ่งที่ต้องการทำแบบเหมาโหลจำนวนมากๆ ในราคาถูก โรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกของเฮนรี ฟอร์ด ปฏิวัติระบบการทำงานของโลกจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ไลน์การผลิต’ คือแรงงานคนหนึ่งทำสิ่งที่ตนถนัดเพียงอย่างหรือสองอย่าง โดยทำซ้ำจนเกิดความชำนาญและรวดเร็ว ในศตวรรษที่แล้วมีการแข่งขันฝีมือแรงงานกันที่ความเร็วและความเรียบร้อยของงาน

 

 

     แรงงานยังก่อให้เกิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกลไกตลาด สมมติฐานยุคนั้นในศตวรรษที่ 19-20 คือแรงงานสามารถทดแทนกันได้สมบูรณ์เพราะไม่ใช้ทักษะอะไรมาก ฝึกไม่นานก็ทำกันได้แล้ว ดังนั้นหากที่ใดค่าแรงถูกเกินไป แรงงานจะไหลไปทำงานที่ได้ค่าแรงแพงกว่า และมีการปรับตัวตลอดเวลาจนมีประสิทธิภาพ

     แรงงานไทยเคยเป็นที่ต้องการของต่างชาติอย่างมากในแง่ความอดทนและเรียบร้อย ยกเว้นเวลาดื่มเหล้า ร้องเพลง กระนั้นนายจ้างในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ยังนิยมแรงงานไทย สมัยที่ผมยังเป็นระดับร้อยเอก พันตรี ผู้บังคับบัญชาผมในขณะนั้นคือ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ มีสายตาที่ยาวไกลมากในเรื่องแรงงาน

     ท่านส่งเสริมให้โรงเรียนร่วมมือกับห้างสรรพสินค้ารับเด็กไปทำงานหารายได้ เพื่อให้จบมารู้จักพึ่งตนเอง ผลงานยังปรากฏจนทุกวันนี้ ผมได้รับทุนสหประชาชาติไปศึกษาระบบการพัฒนาที่อิสราเอลก็จากการส่งเสริมของท่าน กลับมาได้มีโอกาสร่วมในการหาช่องทางส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล มีทั้งที่เอาจากบัณฑิตเกษตร คือนำผู้ที่จบปริญญาตรีมาทำงานเป็นเกษตรกรในโครงการ ชาวบ้านในพื้นที่ชายแดน รวมถึงชาวเขา ส่งไปทำงานในอิสราเอล

การรอเป็นแรงงานรับจ้างหรือดิ้นรนเป็นพนักงานบริษัท คือการเดินไปสู่กับดักที่ดิ้นไม่ออกหากช้าเกินไป ยิ่งการศึกษาไทยเน้นสายศิลปะ เต้นกินรำกิน จะมีแรงงานด้านการผลิตเหลือสักกี่คนกัน เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่มีใครกล้าพูด

 

     สิ่งหนึ่งที่ได้จากอิสราเอลคือ ทำให้เกษตรกรไทยเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ควบคุมการผลิตในสมัยนั้น การใช้น้ำอย่างประหยัด การให้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ ที่สำคัญที่สุดคือ แรงบันดาลใจ เพราะเกษตรกรทุกคนจะพูดว่า ขนาดทะเลทรายยังปลูกได้แล้วบ้านเราดีกว่าตั้งมาก ดังนั้นจะมีผู้ที่เคยทำงานในอิสราเอลกลับมาทำงานหรือเอาทุนมาลงให้กับพื้นที่การเกษตรแบบเข้มข้นในไทยอยู่หลายแห่ง

     ปัจจุบันยังมีแรงงานไทยที่ดิ้นรนไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก บ้างก็โดนโกง บ้างก็สุขสบายดี แต่อาจพูดได้ว่าทำมาหากินกันเองทั้งนั้น ต่างจากฟิลิปปินส์ที่ส่งออกแรงงานภาคบริการไปทั่วโลก อาศัยที่ภาษาดีก็มักเป็นพนักงานต้อนรับในห้างใหญ่ๆ ทั่วโลก นำรายได้ที่เรียกว่า เงินโอน กลับประเทศปีละมหาศาล เรียกได้ว่ามากกว่ารายได้จากดุลการค้าเสียอีก เสียดายที่เรื่องแบบนี้มีการตื่นตัวจากราชการไทยน้อยถึงน้อยที่สุด

     เมื่อมองภาพใหญ่ขึ้นมาอีกจะพบว่า แรงงานมีการโยกย้ายทั่วไป ในการเข้าสู่การเป็นอาเซียน แรงงานวิชาชีพ พวกวิศวกร สถาปนิก แพทย์ ฯลฯ จะเริ่มข้ามพรมแดนกันมากขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการมองเชิงบวก สร้างโอกาสให้กับแรงงานวิชาชีพไทย

 

 

     แรงงานวิชาชีพไทยที่ในตะวันตกต้องการมากที่สุดคือพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลไทย เพราะรู้จักวิธีทำงานกับคนไข้ดีกว่าชาติอื่น และเช่นเคยเหมือนแรงงานอื่นๆ พยาบาลไทยต้องดิ้นรนหาทางไปทำงานด้วยตนเองและถูกชักชวนไปในกลุ่มที่ไปอยู่แล้วเท่านั้น ข่าวที่พยาบาลไม่ได้บรรจุ มีการประท้วงและสุดท้ายได้บรรจุโดยรอทยอยนั้น จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ารัฐให้การสนับสนุนเรื่องแรงงานวิชาชีพพยาบาลไปต่างประเทศ เพราะวิชาชีพพยาบาลใช้ศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เพียงแต่ขอที่สอบเทียบย้ายจากต่างประเทศมาตั้งในประเทศไทย และทำการสอบอย่างมีคุณภาพ มีการอบรมภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยของรัฐในเรื่องภาษาพูดก่อนเดินทางสักครึ่งปีก็เหลือเฟือแล้ว แต่ก็เช่นเดียวกับแรงงานอื่น รัฐสนใจน้อยจนถึงน้อยที่สุด ไม่ทราบเหมือนกันว่าปกติสนใจแรงงานในเรื่องอะไรกัน หรือว่าจะเป็นเรื่องค่าปรับสูงๆ อันนี้น่าสงสัย

     วิชาชีพแพทย์และวิศวกร ก็เป็นที่ต้องการเช่นกัน เราไม่ควรให้คนไทยต้องแย่งกันเข้าบริษัทขนาดยักษ์ของไทยซึ่งมีอยู่น้อยนิด เทียบกับวงการแพทย์และวิศวกรรมทั้งโลก ขนาดวิศวกรจีนยังมีถึง 300 ล้านคน ยังทำงานไม่ค่อยจะทัน การบุกเบิกแนวเดียวกับพยาบาลจึงควรจะมี

     ตอนนี้มหาวิทยาลัยไทยตกอันดับลงเร็วมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากรัฐบาลไม่มีเงิน จึงตัดงบวิจัยและพัฒนาลงมาก ส่งผลให้มหาวิทยาลัยของรัฐไทยตกต่ำในเรื่องผลงานทางวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่อ่านงานของนักวิจัยใหม่ๆ ก็นิยมเอาผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศมาเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนมากำกับ แบบนี้ก็เห็นอนาคตแล้วว่าคงไม่ไปไหน ตรงกันข้ามกับสิงคโปร์ประกาศจะให้ประเทศตนเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคให้ได้ เมื่อระบบการศึกษาดี คุณภาพคนจะสูงขึ้น ประเทศจะแพ้-ชนะอยู่ที่คุณภาพของคน ไม่ใช่อาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งเป็นความคิดโบราณกว่า 3 ศตวรรษก่อน

     มาถึงโรงงานอุตสาหกรรมธรรมดากับแรงงานต่างด้าวบ้าง แน่นอนว่าแรงงานไทยที่มีฝีมือส่วนใหญ่จะอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ ไปทำงานต่างประเทศ หรือตกงานเพราะต้องการเงินเดือนที่สูง แรงงานต่างด้าวจึงเข้ามาอุดช่องว่างนี้ ทำให้การผลิตระดับล่างยังคงอยู่ได้ แต่ปัญหาใหญ่กลับอยู่ที่การเอาเปรียบแรงงาน ให้ค่าแรงต่ำ หรือมีการทารุณ เช่น ข่าวแรงงานประมงไทย เป็นต้น

 

 

     แรงงานต่างด้าวกับการค้ามนุษย์จึงกลายเป็นเหรียญที่มี 2 ด้าน สิ่งที่ควรทำคือการสร้างหลักประกันให้กับแรงงานต่างด้าวเพื่อผลที่ดีต่อประเทศในระยะยาว นำระบบสารสนเทศมาใช้ เช่น การมีบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ ใช้แทนการรับเงินเดือนและติดตามตัว แรงงานต่างด้าวมีกี่คน อยู่ตรงไหน เคลื่อนย้ายไปไหน เปลี่ยนนายจ้างหรือไม่ รัฐต้องทราบ และไม่ยากที่จะจัดวางระบบ

     ส่วนแรงงานประมง ก็แค่ติดกล้อง CCTV ในเรือทุกลำ เมื่อจะออกก็ให้เห็นหน้าแรงงานทุกคน เมื่อกลับมาแล้วก็นำเทปหรือแผ่นบันทึกเก็บไว้ที่แรงงานจังหวัดอย่างน้อย 3 เดือน ใครสงสัย อยากตรวจสอบอะไรก็มาดูภาพได้ตลอดเวลา ก็จะไม่มีแรงงานต่างด้าวโดนโยนศพลงทะเล ทั้งนี้ข้อมูลต้องขึ้นไว้ที่ส่วนกลางด้วย เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการรับสินบน หากทำได้ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรปก็ไม่อาจที่จะแซงชันสินค้าประมงไทยได้ง่ายนัก แต่นั่นก็ต้องแลกมากับการที่ผู้ประกอบการต้องทำงานอย่างสุจริตและมีรายได้ลดลงบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เรื่องเช่นนี้ผู้เกี่ยวข้องคงยังไม่คิด เพราะง่ายเกินไป ท่านคงกำลังคิดเรื่องที่สลับซับซ้อนอยู่เป็นแน่

     เรื่องแรงงานต่างด้าวหนีงาน ต้นเหตุมาจากการถูกโกงตั้งแต่ในประเทศตัวเองแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานก่อสร้าง มักถูกเรียกเงินมาหลายหมื่น พอมาเจอด่านสุดท้ายอีกสองหมื่นก็แทบไม่ต้องทำงานนอกจากหนี เพื่อไม่ต้องใช้หนี้ และไปจ่ายเจ้าหน้าที่รอบละ 500 บาทบ้าง 1,000 บาทบ้าง เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายสองหมื่น บวกกับหนี้เก่าจากข้างในอีกหลายหมื่น อย่างไรก็ตามบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยได้ อย่างน้อยก็บางส่วน

     ที่กำลังเป็นเรื่องตอนนี้คือ แรงงานต่างด้าวภาคบริการ ยกตัวอย่างแรงงานพม่าที่ภาษาอังกฤษดีมาก ไม่ได้รับอนุญาตให้จ้างได้อีกต่อไป คนเหล่านี้ต้องกลับประเทศ ภาคบริการไทยที่ต้องทำงานระหว่างประเทศจึงได้รับผลกระทบ จริงอยู่อาจจะพยายามรักษางานให้กับคนไทย แต่เมื่อคนไทยระบบการศึกษายังล้าหลัง จะมีเวลาสอนให้เก่งภาษาอังกฤษได้อย่างไรในเวลาชั่วชีวิตคน ประเด็นนี้จึงควรรอบคอบมากกว่านี้

 

 

     สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ อนาคตอันใกล้มากในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ สิ่งที่ตามมาคือเรื่องหุ่นยนต์ วิชาการชั้นสูง ฯลฯ ซึ่งแรงงานไทยที่เหลืออยู่ต้องปรับตัวอย่างจริงจัง บางส่วนคงต้องเป็นผู้ประกอบการเอง เหมือนแรงงานจากอิสราเอลข้างต้น และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เท่านั้นจึงจะอยู่รอด การรอเป็นแรงงานรับจ้างหรือดิ้นรนเป็นพนักงานบริษัท คือการเดินไปสู่กับดักที่ดิ้นไม่ออกหากช้าเกินไป ยิ่งการศึกษาไทยเน้นสายศิลปะ เต้นกินรำกิน จะมีแรงงานด้านการผลิตเหลือสักกี่คนกัน เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่มีใครกล้าพูด

     ในยุคใหม่ อาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ หากใช้อีคอมเมิร์ซเป็น แม้จะมีอุปสรรคจากภาครัฐมากในระยะต่อไปก็ตาม ก็ยังดีกว่าการเป็นแรงงานหรือพนักงานราคาถูก การตั้งต้นหาอาชีพก็คือต้องหางานในสิ่งที่สอดคล้องกับยุคสมัย

     ยุคโลกาภิวัตน์ คนจะไม่อยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่จะแสวงหาเครือข่ายคนที่มีอุปนิสัยใจคอคล้ายกัน สู้ไม่ถอย สร้างสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ สำหรับผู้มีรายได้สูงทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ข้าวไทย ต้องเลิกการขายสินค้าเป็นข้าวเปลือก แต่ให้ขายเป็นข้าวสารที่มีการดูแลอย่างดี มีลูกค้าปลายทางอยู่ที่ประเทศตะวันตก

     ในสหรัฐฯ ขณะนี้ข้าวพรีเมียมจากไทยขึ้นอยู่บนภัตตาคารหรูๆ หมด แม่บ้าน-พ่อบ้านที่มีรายได้ปานกลางไม่สามารถไปรับประทานได้ทุกวัน จึงมีการนำข้าวหักไทยผสมกับข้าวอเมริกันขายในราคาแพง แต่ก็มีแม่บ้าน-พ่อบ้านแย่งกันซื้อ แล้วชาวนาไทยทำไมถึงต้องน้ำตาตกใน ใช่เกิดจากการไร้ประสิทธิภาพในการทำงานหรือไม่?

     คิดให้ครบสายการผลิต ตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน ก็จะพบเองว่าโอกาสยังมีอีกมาก เราคงจะหวังให้บริษัทใหญ่ๆ หรือพ่อค้าคนกลาง พ่อค้าส่งออกช่วยคงไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ จะให้รัฐบาลหรือข้าราชการคิดให้ยิ่งหมดความหวัง

     คงมีแต่เกษตรกร นักการผลิตระดับกลางที่พอมีสติปัญญาและมองเห็นสัญญาณอันตรายของอนาคตที่กำลังไล่ล่าใกล้เข้ามาแล้วเท่านั้น ที่จะรวมตัวกันสร้างโอกาสให้กับตนเองและคนที่รู้จักกันเป็นเครือข่าย และด้วยโอกาสเหมาะสมเพียงครั้งเดียวที่เกิดขึ้นก็จะอยู่รอดได้แล้ว

 

Photo: AFP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising