×

ทำไมคิง เพาเวอร์ จึงเทกโอเวอร์สโมสรฟุตบอล เอาด์ เฮเวอร์เลย์ เลอเวน และวงการบอลไทยจะได้อะไร

16.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • คิง เพาเวอร์ เข้าซื้อหุ้นสโมสร เอาด์ เฮเวอร์เลย์ เลอเวน (โอเอชแอล) สโมสรฟุตบอลจากลีก ดิวิชัน 2 ของเบลเยียม
  • สโมสรฟุตบอลในเบลเยียมได้รับความนิยมในการเป็นพันธมิตรกับสโมสรในพรีเมียร์ลีก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ช่วยพัฒนานักเตะเยาวชนได้
  • The Telegraph มองว่า เอาด์ เฮเวอร์เลย์ เลอเวน อาจจะเป็นสโมสรพันธมิตรในการส่งเสริมเลสเตอร์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก
  • การเทกโอเวอร์สโมสรฟุตบอลในยุโรปอาจยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาฟุตบอลในประเทศไทย
  • การเซ็นสัญญาที่อาจส่งเสริมฟุตบอลในประเทศไทย คือการส่งนักเตะอะคาเดมีไปแข่งขันในลีกรองของทวีปยุโรป

     วันนี้ (16 มิ.ย.) เวลา 21.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ แนะนำตัวกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ ณ สนามเดนดริฟ โอเอชแอล ประเทศเบลเยียม หลังเข้าซื้อหุ้น เอาด์ เฮเวอร์เลย์ เลอเวน (โอเอชแอล) สโมสรฟุตบอลจากลีก ดิวิชัน 2 ของเบลเยียม ก่อนจะเทกโอเวอร์เป็นทีมของตัวเอง หลังจากที่เคยซื้อสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2010

     อัยยวัฒน์เผยถึงสาเหตุการเข้าซื้อสโมสรโอเอชแอลว่า เนื่องจากเป็นสโมสรที่มุ่งมั่นและมีศักยภาพในการลงทุนด้านบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับแฟนบอลในพื้นที่ และยืนยันว่าคิง เพาเวอร์ มีเป้าหมายจะพาสโมสรแห่งนี้ก้าวขึ้นสู่ลีกสูงสุดของเบลเยียม

     คำถามคือ ทำไมคิง พาวเวอร์ ถึงต้องซื้อสโมสรดิวิชัน 2 ของเบลเยียม?

 

‘ขยายฐานลูกค้า – ดึงตัวนักเตะ’ ปัจจัยสำคัญของการซื้อสโมสรที่สอง

     หากมองในมุมการตลาด การซื้อกิจการมักจะมีจุดประสงค์หลักในเชิงธุรกิจ เพื่อขยายฐานลูกค้าและไลน์สินค้า รวมถึงเป็นการยกระดับแบรนด์ (เจ้าของธุรกิจที่ซื้อกิจการ) ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากล

 

สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ประจำฤดูกาล 2015-2016

 

     คิง เพาเวอร์ ประสบความสำเร็จสูงสุดหลังบริหารทีมเลสเตอร์ ซิตี้ จนก้าวขึ้นสู่แชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2015/2016 นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้นักเตะและทีมงานแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่ ‘สื่อ’ ทั่วโลกในการลงบทวิเคราะห์และทำความรู้จักบริษัทจากประเทศไทยด้วย

 

     

     อย่างไรก็ตาม โมเดลการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลหลายสโมสรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในโลกฟุตบอล

     The Telegraph สำนักข่าวจากประเทศอังกฤษวิเคราะห์ว่า หนึ่งในสาเหตุที่คิง เพาเวอร์ เข้าเทกโอเวอร์สโมสรในเบลเยียมจะช่วยพัฒนาสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยสัญญายืมตัว และช่วยเปิดโอกาสให้เข้าถึงนักเตะคุณภาพของเบลเยียม (ซึ่งที่ผ่านมาสามารถผลิตนักเตะระดับโลกออกมาได้อย่างต่อเนื่อง)

     เหมือนกับที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นพันธมิตรกับรอยัล อันท์เวิร์ป (สโมสรในลีกสองของเบลเยียม) โดยให้ยืมตัวนักเตะไปพัฒนาฝีเท้าในลีกเบลเยียม

     หรืออาร์เซนอล กับเบเวอเรน (อดีตสโมสรในลีกของเบลเยียม) ที่ดึงตัวนักเตะอย่างเอ็มมานูเอล เอบูเอ มาใช้งาน

     หรือแม้กระทั่งเชลซี ที่ได้ส่งผู้เล่นแบบยืมตัวเพื่อพัฒนาฝีเท้ากับแซงต์-ทรุยด็อง สโมสรฟุตบอลในลีกเบลเยียมเช่นกัน

 

การซื้อสโมสรฟุตบอลยุโรปจะช่วยพัฒนาฟุตบอลไทยแค่ไหน

     ประเด็นนี้ THE STANDARD ได้สัมภาษณ์ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และโฆษกประจำสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ว่า กรณีกลุ่มทุนเข้าซื้อสโมสรในยุโรปจะช่วยพัฒนาฟุตบอลในประเทศหรือไม่

     พาทิศกล่าวตรงไปตรงมาว่า เขายังไม่เห็นแผนพัฒนาฟุตบอลในประเทศที่ชัดเจนจากกลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของสโมสรในยุโรป

     “การซื้อกิจการส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อธุรกิจ คือขยายไลน์ธุรกิจของเจ้าของ แต่เจ้าของแต่ละท่านก็อยากให้คนไทยรู้ว่าตัวเองก็อยากจะส่งเสริมวงการฟุตบอลไทยเช่นกัน แต่การส่งเสริมฟุตบอลไทยโดยตรงยังไม่เกิดผล 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเรายังไม่สามารถเอานักเตะไทยไปเล่นที่ยุโรปได้ทันที

     “เนื่องจากลีกต่างๆ ในยุโรปมีพัฒนาการห่างไกลจากเราเป็นร้อยปี ถ้าจะเอาเด็กของเราไปเล่นเลยคงยาก”

 

บอลไทยจะได้ประโยชน์จากการมีคนไทยเป็นเจ้าของทีมยุโรปได้อย่างไร

     พาทิศยกตัวอย่างแอสไปร์ อะคาเดมี ของกาตาร์ ที่ใช้วิธีซื้อสโมสรในลีกรองของสเปนหลายๆ สโมสร เพื่อให้นักฟุตบอลในอะคาเดมีตัวเองได้ไปเล่นที่นั่น

     “นี่เป็นแนวทางที่ดี” พาทิศให้ความเห็น

     “เพราะการให้เด็กจากอะคาเดมีไปอยู่ในการแข่งขันระดับสูงมันได้ประโยชน์

     “ถ้ามีการซื้อและมีการต่อท่อให้นักเตะไทยไปเล่นสโมสรล่างๆ ในยุโรป อันนี้น่าจะเริ่มเห็นชัดว่าการเทกโอเวอร์สโมสรจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฟุตบอลไทยโดยตรง”

     ปัจจุบันมีสโมสรฟุตบอลในเอเชียเริ่มก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรและเป็นผู้สนับสนุนหลักในสโมสร หรือแม้กระทั่งลีกการแข่งขันยุโรปมากขึ้น

     โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟ LED สัญชาติจีนอย่าง Ledman ที่เซ็นสัญญาเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของ ‘ลีกา 2’ (ลีกสองของโปรตุเกส) โดยมีข้อกำหนดว่า สโมสร 10 อันดับแรกในลีกต้องมีผู้เล่นจีนในทีมอย่างน้อย 1 คน และส่งผู้ช่วยโค้ชจีนไปฝึกวิชาในลีกรองของโปรตุเกส ส่งผลให้นักเตะจีน (รวมถึงผู้ช่วยโค้ช) มีโอกาสได้ลงสัมผัสเกมในระดับลีกอาชีพของยุโรป

     แม้การเทกโอเวอร์สโมสรในเบลเยียมของคิง เพาเวอร์ ครั้งนี้จะยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการพัฒนาฟุตบอลไทย

    แต่เราเชื่อว่า จากการลงทุนในธุรกิจฟุตบอลในยุโรปที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้วันหนึ่งเราอาจจะได้เห็นแผนพัฒนาวงการฟุตบอลไทยที่ชัดเจนมากขึ้น จากกลุ่มทุนไทยที่เป็นเจ้าของสโมสรในยุโรปในอนาคต

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

     –  www.telegraph.co.uk/football/2017/05/16/leicester-city-owner-pushes-ahead-bid-buy-belgian-club-oh-leuven/

     – www.ft.com/content/2567291c-2f89-11e7-9555-23ef563ecf9a?mhq5j=e2

     – www.ledman.com/lm/index.php/artview-25-10.html

     – www.skysports.com/football/news/11712/10913442/leicester-city-owners-king-power-group-buy-belgian-club-oud-heverlee-leuven

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising