×

“ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด” ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีจำนำข้าว นับถอยหลังชะตากรรมบนเส้นทางการเมืองไทย

01.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 mins read
  • นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาศาลในชุดสูทผ้าไหมสีดำประดับลายที่ปกคอ เพื่อแถลงปิดคดีจำนำข้าว ในวันนี้เธอใช้เวลา 1 ชั่วโมง หากนับความยาวที่เธอแถลงบนหน้ากระดาษมีจำนวน 19 หน้า แก้ข้อกล่าวหาใน 6 ประเด็น
  • เสียงสะอื้นและน้ำตา รวมทั้งประโยคที่เธอตั้งใจนำมาแถลงปิดคดีในวันนี้ เธอบอกว่าเป็นการพูดอย่างหมดใจ และขอความเมตตาต่อศาล ยืนยันว่าไม่ได้ทำทุจริต และโครงการนี้มีประโยชน์ต่อชาวนา

     ช่วงหนึ่งในการแถลงปิดคดีด้วยวาจา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีน้ำเสียงสะอื้นผ่านไมโครโฟนในคอกพยานที่เธอกำลังนั่งแถลงอยู่บนเก้าอี้หันหน้าไปยังบัลลังก์ขององค์คณะผู้พิพากษา ต่อหน้าศาลสถิตยุติธรรม  

ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด     

     

     ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์ที่มาจากสื่อมวลชน นักการเมือง ตัวแทนสถานทูต องค์กรระหว่างประเทศ ที่เข้าร่วมรับฟังการแถลงของเธอในวันนี้

     “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือการใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคนเกื้อหนุนดูแล”

     เมื่อแถลงมาถึงตรงนี้ น้ำเสียงของเธอก็เปลี่ยนโทน และเมื่อเธอกล่าวต่อ

     “และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิต ที่ครั้งหนึ่งดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ให้กับชาวนา”

     เธอสะอื้นตลอดประโยคที่แถลงด้วยความตั้งอกตั้งใจ คนที่นั่งอยู่เก้าอี้ด้านหน้าหันมาขอกระดาษทิชชู่จากผู้เข้าร่วมรับฟัง เพื่อส่งต่อให้ทนายความ นำไปให้เธอซับคราบน้ำตา

     “ดิฉันขอใช้โอกาสนี้กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้”

     คือถ้อยแถลงเริ่มต้น หลังจากที่เธอได้กล่าวขอบพระคุณองค์คณะผู้พิพากษา ที่อนุญาตให้ตัวเธอแถลงปิดคดีด้วยตนเองในวันนี้

     หากไล่เรียงนับจำนวนตัวเลขทางคณิตศาสตร์แล้ว คดีนี้มีการไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559

     ศาลให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยานไป 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด ขณะที่ฝ่ายจำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด

     และต่อไปนี้คือถ้อยแถลงที่เธอบอกว่าจะได้กล่าวอย่าง ‘หมดใจ’ นับตั้งแต่การต่อสู้คดีนี้ทุกกระบวนการ ตั้งแต่ถูกชี้มูลความผิดเป็นเวลายาวนาน กว่า 2 ปี 4 เดือน ถ้อยแถลงมีความยาวถึง 19 หน้า ใน 6 ประเด็น

 

 

กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ เปิดคำแถลงปิดคดี

     นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาในชุดสูทผ้าไหมสีดำประดับลายที่ปกคอ หลังทำความเคารพศาล นั่งในคอกพยาน เหลียวมองนาฬิกาเป็นเวลา 09.30 น. พอดิบพอดี ใช้ปลายนิ้วกระแทกไมโครโฟนเพื่อทดสอบเล็กน้อย จากนั้น เธอก็เริ่มแถลงปิดคดี

     “ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม และตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ที่ดิฉันไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาล  แม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งนี้ เพราะดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน

     “ด้วยความเคารพต่อทุกท่านที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ หากมีถ้อยคำใดที่ดิฉันเปิดใจกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้น ดิฉันไม่ได้มีเจตนาอื่นใดและไม่ได้ประสงค์จะใส่ร้ายหรือใส่ความผู้ใด ดิฉันเพียงต้องการให้การพิพากษาคดีที่ดิฉันถูกกล่าวหาในครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ดิฉันไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ในคดีนี้มาก่อน”

 

 

ยกคำกล่าว ‘สัญญา ธรรมศักดิ์’ สะท้อนสายน้ำความยุติธรรม

     ก่อนที่จะเข้าสู่ 6 ประเด็นหลักที่เธอจะแถลงปิดคดีด้วยวาจาเพื่อแก้ข้อกล่าวหาทั้งหมด อดีตนายกฯ ได้เกริ่นนำ ด้วยประโยคที่ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เคยกล่าวไว้ โดยออกตัวว่า แม้ตนเองจะจบการศึกษาทางรัฐศาสตร์ แต่ก็ได้มีโอกาสรับรู้คำกล่าวของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา และอดีตประธานองคมนตรีที่ได้กล่าวไว้ว่า

     “ตำรวจเปรียบประหนึ่งต้นกระแสธารแห่งความยุติธรรม อัยการเป็นกลางน้ำ ศาลเป็นปลายน้ำ ต้นน้ำจึงต้องใสสะอาด จึงจะทำให้ปลายน้ำใสสะอาดตาม หากต้นน้ำขุ่นมัวเสียแล้ว ปลายน้ำก็จะขุ่นมัวตาม ราษฎรก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม

     “คดีนี้มีข้อพิรุธมากมาย ตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล” คือการเปิดฉากแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งสรุปได้ดังนี้

 

1.ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม  และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

     ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดและฟ้องของอัยการโจทก์มีพิรุธ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเริ่มต้นกล่าวหาด้วยเอกสาร 329 แผ่น และใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน มีการเร่งรัดเพื่อชี้มูลความผิด ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน ทั้งที่ข้อกล่าวหาต่อคนอื่นเรื่องทุจริตระบายข้าวยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งเรื่องนี้เป็นระดับปฏิบัติการ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันตลอดมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับเธอ

     มีการนำเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในสำนวนคดีระบายข้าว เพิ่มเข้ามาเสมือนเป็นหลักฐานใหม่ ทั้งที่ครั้งแรกในชั้น ป.ป.ช. ที่กล่าวหาเธอยังไม่มีเอกสารส่วนนี้ จนกระทั่งมีการฟ้องเธอแล้วจึงนำพยานเอกสารส่วนนี้มาเสนอต่อศาล

     และวันที่ 23 มกราคม 2558 อัยการสูงสุดแถลงว่า จะฟ้องคดีเธอ ก่อนที่ สนช. จะลงมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งทำให้สังคมตั้งคำถามว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้น  เป็นการดำเนินการเพื่อชี้นำการลงมติถอดถอนเธอหรือไม่

     มีการฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช. โดยฟ้องเธอก่อน แล้วค่อยสร้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง และพบความผิดปกติของคำฟ้องที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของข้าว และการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขั้นตอนการรับจำนำ และขั้นตอนการระบายข้าวที่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนไว้ในรายงาน แต่โจทก์กลับนำมากล่าวหา โดยไม่ยึดรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด

     “ดิฉันว่าคงไม่มีใครที่ต้องรับชะตากรรมที่หนักหนาและไม่เป็นธรรมมากเท่ากับดิฉันอีกแล้ว และคงไม่มีผู้นำคนใดที่จะกล้านำนโยบายมาดำเนินการเพื่อประชาชนอีกต่อไปค่ะ” คือถ้อยแถลงที่เน้นย้ำสิ่งที่เธอรู้สึกว่าได้รับมาตลอด

นโยบายนี้ มิใช่การดำเนินนโยบายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งตามที่กล่าวหา แต่เป็นการยกระดับรายได้ของชาวนา จำนวนกว่า 15  ล้านคน

2.นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และทำตามกฎหมาย

     “นโยบายนี้ มิใช่การดำเนินนโยบายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งตามที่กล่าวหา แต่เป็นการยกระดับรายได้ของชาวนา จำนวนกว่า 15  ล้านคน หรือกว่า 23% ของประชากรทั้งประเทศให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ”

     เธอยืนยันอีกว่า นโยบายนี้เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 84 (8) กำหนดไว้ ให้รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวนา และยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และกฎหมายมีสภาพบังคับให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม

 

3.ไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ

     ถ้อยแถลงของเธอยืนยันและย้ำว่า ไม่ได้มีการเพิกเฉยหรือละเลย เพราะมีการตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆ เพื่อปฏิบัติการและถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้น การดำเนินนโยบายจึงเป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ มิใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจในการดำเนินการหรือยกเลิก

     การดำเนินโครงการ เมื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย ไม่อาจดำเนินการหรือสั่งการได้โดยลำพัง และในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้โดยลำพัง จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะงานแต่ละด้านกว่า 13 คณะ เพื่อการบูรณาการในการร่วมกันทำงาน

     เมื่อเริ่มดำเนินการ ก็มีการกำหนดขั้นตอนและกระบวนการให้เกิดการคานอำนาจและถ่วงดุล มีการติดตามตรวจสอบตามระเบียบของการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ทำแผนงานโครงการตามเป้าหมาย

     “จึงไม่สามารถที่จะยกเลิก และเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจ ในลักษณะที่นึกจะทำก็ทำ หรือนึกจะเลิกก็เลิก เพราะที่มาของโครงการก็มีกระบวนการ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายผูกพันให้ต้องปฏิบัติ”

 

 

4.โครงการจำนำข้าวมีประโยชน์ และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง

     เธอยืนยันว่า การดำเนินโครงการมีประโยชน์ และมีความคุ้มค่าต่อการดำเนินภารกิจภาครัฐตามที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความคุ้มค่า สร้างรายได้ให้แก่ชาวนาเพิ่มขึ้น และระบุว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนถึงปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งเพียงพอ และเธอยืนยันอีกว่า การดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบกฎหมายและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ  

 

5.ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา หรือ มาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช.

     ในกรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการนี้ เธอแถลงให้เหตุผลว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า 2 หน่วยงานดังกล่าว ไม่มีภารกิจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้งการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ได้แถลงต่อรัฐสภา นอกจากนั้น สตง. และ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และยังใช้ข้อมูลจากการเสนอข่าวโดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง และเธอยืนยันว่า ไม่ได้มีการละเลยเพิกเฉยข้อเสนอแนะนั้น ซึ่งต่อมาได้ส่งให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาตามสายบังคับบัญชา จนกระทั่งมีการตั้ง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และยังให้หน่วยงานในจังหวัดดูแลเรื่องการสวมสิทธิ กวดขัน ป้องกันในทุกกระบวนการอย่างเข้มงวด

 

6.ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว

     จากที่มีข้อกล่าวหา เรื่องการทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจีนั้น เธอกราบเรียนต่อศาลว่า การระบายข้าว เป็นงานในระดับปฏิบัติที่มีคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งในเรื่องนี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน และเป็นพยานโจทก์ ยืนยันในหลายโอกาสว่า เธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี  

     ขณะเดียวกันก็ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ป้องกันการระบายข้าวให้เข้มงวดมาตลอด ให้ผู้รับผิดชอบปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของปริมาณการระบาย ช่วงเวลา และระดับราคาที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศด้วย  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้น ได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจี ในวันที่ 25 ถึง 27 พฤศจิกายน 2555  

ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง ดิฉันจึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม

 

เหยื่อเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง หวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม

     “ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง ดิฉันจึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม” คือถ้อยแถลงที่เธอกล่าวขึ้นเพื่อขอให้ศาลได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และสภาวะแวดล้อมในขณะที่เธอปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การตั้งสมมติฐานที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้ว มาตัดสินการดำเนินการของเธอในอดีต และมี 3 ประเด็น ที่เธอย้ำต่อศาล อีกว่า

     1. นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่ ‘พาณิชย์นโยบาย’ ที่คิดกำไร ขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้

     2. ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดชอบในส่วนงานของตนเอง จึงควรพิจารณาบทบาทของเธอในฐานะผู้กำกับนโยบาย ไม่ใช่ในฐานะผู้ปฏิบัติ หากมีผู้ปฏิบัติกระทำผิดในขั้นตอนใด ย่อมเป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้นๆ โดยที่ไม่เคยมี กรณีที่มากล่าวหาให้บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมด้วยกับฝ่ายปฏิบัติดังเช่นที่โจทก์และคณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำต่อเธอในครั้งนี้ อย่างที่ไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดๆ ถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้มาก่อน

     3.  ขอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเธอตามรายงาน ป.ป.ช. ที่สรุปชี้มูลว่าดิฉันไม่ได้ทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริต และไม่รับฟังพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่ได้ผ่านการไต่สวน หรือกล่าวหาเธอในชั้น ป.ป.ช. แต่เป็นการที่โจทก์เพิ่มเติมหลักฐานใหม่ เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจผิดว่าเธอเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี รวมทั้งกระบวนการสร้างความเสียหายที่ทำให้เธอต้องรับผิดทางแพ่งจำนวนเงินสามหมื่นห้าพันล้านบาท เป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่สั่งการในที่ประชุมว่า ไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม

 

 

กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ ปิดคำแถลงคดีด้วยวาจา

     อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ในช่วงท้ายของการแถลงเธอ มีเสียงสะอื้นและน้ำตา แต่เธอได้ย้ำต่อจากสถานการณ์นั้นว่า

     “แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะ  เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตาม ในการที่จะต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ที่พยายามบิดเบือน และกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม

     “ดิฉันก็จะอดทนมุ่งมั่นต่อไป เพื่อหวังว่ารัฐบาลต่อไปในอนาคต จะได้สามารถนำนโยบายสาธารณะมาสู่ประชาชน

     “พี่น้องเราจะได้ปลดหนี้สิน จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับเขาบ้างค่ะ

     “สุดท้ายนี้ ดิฉันเห็นว่า ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ ดิฉันใคร่ขอวิงวอนศาล ได้โปรดพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของดิฉัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร  ซึ่งคำพูดนี้ เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่ามีการกระทำความผิดแล้ว ทั้งๆ ที่ศาลที่เคารพยังไม่ได้ตัดสิน

     “ดิฉันเชื่อในคำกล่าวที่ว่า ‘ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน’ ดิฉันจึงขอความเมตตาต่อศาล”

     ภายหลังปิดการแถลงคดีด้วยวาจาจบ เธอลุกขึ้นยืนทำความเคารพศาล ก่อนหันหลังกลับมามองยังบรรดาผู้ที่เข้าร่วมรับฟัง และเดินออกจากคอกพยานไปนั่งยังที่นั่งฝั่งจำเลย เหลียวมองนาฬิกาเป็นเวลา 10.30 น. พอดี รวมใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการเปิดหมดใจเพื่อแก้ข้อกล่าวหา

     ต่อมาศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยให้ยกคำร้องล่าสุดของจำเลยที่ยื่นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งและกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบกรณีไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 212 เนื่องจากศาลเห็นว่า เเม้อำนาจที่สั่งว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เเต่อำนาจวินิจฉัยก่อนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยก่อนว่าเข้าข้อกำหนดในการส่งหรือไม่ ใช่ว่าต้องส่งทุกกรณี ดังแนวคำพิพากษาศาลฎีกา 10660/2553 การที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่เพราะมีกระบวนพิจารณาผิดระเบียบจึงให้ยกคำร้อง

     จากนั้นศาลนัดให้ฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ เวลา 09.00 น.

     และเมื่อวันนั้นมาถึง ไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อยในสิ่งที่เธอได้แถลงเพื่อขอความเมตตาต่อศาล คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองที่จะถูกบันทึกไว้ เหลียวมองนาฬิกาอีกที ราวกับเข็มหน้าปัดกำลังนับถอยหลังเพื่อพิสูจน์ชะตากรรมของเธอบนถนนการเมืองไทย

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising