×

จะปรองดองต้องคิดนอกกรอบ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับข้อเสนอ ‘รัฐบาลผสม’ เพื่อการปรองดองแห่งชาติ

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ปรองดอง ซึ่งประกอบไปด้วยพะเยาว์ อัคฮาด จตุพร พรหมพันธุ์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ 
  • จากการพูดคุยกับกลุ่มการเมืองต่างๆ เอนกพบว่าการปรองดองครั้งนี้มีความหวังกว่าที่ผ่านมา เพราะความรู้สึกที่อยากจะขัดแย้งและต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ลดลง ทุกคนพร้อมเดินไปสู่การเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งปัญหาหลายอย่างจะคลี่คลาย
  • ที่ผ่านมาสังคมไทยขัดแย้งกันมาโดยตลอด แต่เมื่อถึงเวลาจะต้องคืนดีก็คืนดีกันได้ อีกทั้งวัฒนธรรมของคนไทยให้โอกาสกับการคืนดี ปรองดอง และสามัคคีเสมอ
  • อีกปัจจัยที่จะทำให้การปรองดองครั้งนี้สำเร็จคือความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เมื่อประเทศไทยกำลังพึ่งพาการท่องเที่ยว เอนกมองว่าเราไม่สามารถมีการเมืองแบบเดิมได้อีกแล้ว
  • หลังการเลือกตั้ง เอนกเสนอให้มีรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ที่รวมหลายพรรคเข้าด้วยกัน เพราะเมื่อไม่มีคนแพ้ก็จะไม่มีคนคอยคัดค้าน แล้วปล่อยให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแทน ถ้าทำได้ การปรองดองก็น่าจะสำเร็จ

     สองทศวรรษที่แล้ว ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้กำเนิดทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ความขัดแย้งของการเมืองไทยในช่วง พ.ศ. 2533-2536 สะท้อนแนวคิดทางประชาธิปไตยที่แตกต่างกันระหว่างคนชนบทและชนชั้นกลางจนเกิดวาทกรรม ‘คนชนบทตั้งรัฐบาล คนชั้นกลางล้มรัฐบาล’

     ถึงวันนี้ ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ยังคงอธิบายปรากฏการณ์ความขัดแย้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แม้เวลาจะเปลี่ยน แต่สังคมนี้แทบไม่เคยเปลี่ยน เรียกได้ว่าเป็นการมองทะลุ ‘เปลือก’ จนเห็น ‘แก่น’ ของความขัดแย้งตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการแบ่งสีเสื้อตามความเชื่อทางการเมือง

     เมื่อถึงวันที่นักวิชาการวัย 63 ปีต้องมารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 7/2560 เป็นอีกครั้งที่ข้อเสนอของเขาถูกพูดถึงในวงกว้าง กับแนวคิดให้ตั้ง ‘รัฐบาลเพื่อการปรองดองแห่งชาติ’ ที่เป็นส่วนผสมของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ขัดแย้งกันหลังการเลือกตั้ง เพื่อลดการเผชิญหน้าและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่

     แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่เมื่อลองคิดตามแบบเป็นเหตุเป็นผลกลับปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดนี้ ‘น่าสนใจ’

     โดยเฉพาะเมื่อ THE STANDARD ถามเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าตั้งความหวังกับการปรองดองครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน คำตอบที่ได้คือความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม จนถึงขั้นอาจสร้างความหวังให้กับคนที่หมดหวังไปแล้วกับการเมืองไทย

     แม้ว่าหลายแนวคิดจำเป็นต้องเปิดใจให้กว้างสักหน่อยที่จะรับฟัง แต่ถ้าลองใช้จินตนาการร่วมด้วย ไม่แน่ว่าทางออกของความขัดแย้งอาจอยู่ไม่ไกลเท่าที่เราเคยคิดกัน

กองทัพก็มีส่วนอยู่ในความขัดแย้งนี้แน่นอน แต่การปรองดองทุกครั้งที่ผ่านมามันก็ไม่มีความเป็นกลางที่สมบูรณ์อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครมีอำนาจ 

 

ความคืบหน้าในการปรองดองตอนนี้เป็นอย่างไร

     ผมอยู่ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การทำงานก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีธงบางอย่างที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นประธานในการประชุมมา 2-3 ครั้งแทนท่านนายกรัฐมนตรี ท่านก็ยืนยันว่าเราจะไม่ทำเรื่องนิรโทษกรรม และจะไม่หยิบยกเรื่องพักโทษ ลดหย่อนโทษ อภัยโทษขึ้นมาพิจารณาเป็นพิเศษ วางเป้าหมายถึงขั้นที่จะทำให้เกิดความสงบ มีความร่วมมือ สามัคคีกันในการที่จะเลือกตั้ง อาจจะมีการเขียนเป็นคำปฏิญาณก็ได้ หรือว่าจะเป็นข้อตกลง MOU ของพรรคฝ่ายต่างๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อยที่สุด

     นอกจากนั้นผมก็ได้ไปคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ อีกหลายพรรค เป็นอีกภารกิจหนึ่งในฐานะการเป็นประธานพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนตั้ง ในนั้นก็มีผู้แทนจากหลายพรรค เช่น คุณภูมิธรรม เวชยชัย (เลขาธิการพรรคเพื่อไทย), คุณชำนิ ศักดิเศรษฐ์ (รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์), คุณอนุทิน ชาญวีรกูล (หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย), คุณนิกร จำนง (กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง) เป็นเวทีที่เรามาช่วยกันคิดว่าจะช่วยกันพัฒนา สร้าง หรือปรับปรุงพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไร บรรยากาศการคุยกันก็ดี เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ ความสมัครสมานสามัคคีกัน หลายคนก็พูดว่าคณะกรรมการชุดนี้แม้ว่าจะมีหน้าที่พัฒนาพรรคการเมือง แต่ในทางปฏิบัติก็อาจจะเป็นคณะกรรมการที่ช่วยเสริมสร้างความปรองดองได้เช่นกัน

 

จากที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการปรองดองโดยตรง มองเห็นความตั้งใจหรือความจริงใจมากน้อยแค่ไหนในการทำเรื่องปรองดองครั้งนี้ของรัฐบาล

     ถ้าดูจากคณะกรรมการที่เขาตั้ง ดูจากประธานของคณะกรรมการซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่ในคณะกรรมการต่างๆ แล้วในยุคนี้ก็เป็นยุคที่อำนาจเกิดจากทหาร และรักษาไว้โดยทหารเยอะ การที่คณะกรรมการชุดนี้มีเจ้าของอำนาจเข้าไปอยู่ในนั้นเยอะก็ชี้ให้เห็นว่าทาง คสช. หรือทางรัฐบาลให้น้ำหนัก และจะใช้อำนาจ ใช้ความชอบธรรมที่มีอยู่ซัพพอร์ตให้เต็มที่ ถ้ามีมติออกมาอย่างไร มีแผนการทำงานออกมาอย่างไร รัฐบาลก็จะสนับสนุนเต็มที่ อันนี้คงชี้ว่าเขามีความตั้งใจที่จะทำ ขณะเดียวกันเขาก็มีความตั้งใจที่จะไม่แตะเรื่องนิรโทษกรรม เพราะฉะนั้นก็มีความชัดเจนในแง่ที่ว่ามันจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่มันจะเดินไปตรงทิศที่คนอีกจำนวนหนึ่งเห็นหรือเปล่า อันนี้ก็ประกันให้เขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะไม่วนอยู่กับที่ เขาจะเดินไปข้างหน้า

 

มองเห็นจุดอ่อน-จุดแข็งอะไรของกระบวนการปรองดองครั้งนี้บ้าง

     กระบวนการที่เห็นคงเป็นเพียงส่วนหนึ่ง และคงต้องมีอีกหลายๆ บทต่อไป แม้แต่เรื่องนิรโทษกรรมก็คงต้องว่ากันต่อในบทต่อๆ ไป แต่ในบทนี้ จุดแข็งก็คือมันมีทิศทางว่าจะเดินไปทางนี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปคิดให้มากมายหลายตลบ ในขั้นนี้เขาทำให้แค่นี้ แล้วเรื่องความปรองดองจริงๆ ก็เป็นเรื่องของทุกๆ ฝ่าย ไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

     ผมก็ได้เรียนเสนอพรรคการเมืองไปหลายครั้งนะครับว่า เรื่องการปรองดอง พรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง อย่าไปคิดว่าเราเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง อย่าไปคิดว่าเราเป็นผู้เคราะห์ร้าย เป็นผู้เสียหายที่เขาจะมาเยียวยารักษา แต่ต้องพยายามเสนอภาพตัวเองออกมาว่าเป็นเจ้าภาพที่แท้จริง หรือเจ้าภาพในระยะข้างหน้าของการปรองดอง ต้องเสนอให้สังคมไทยได้เห็น เสนอให้ผู้สนับสนุนได้เข้าใจว่าตนเองมีเจตนาที่จะปรองดอง มีเจตนาที่จะสร้างนโยบาย สร้างมาตรการที่จะนำไปสู่การปรองดอง เราจะไม่อยู่เฉยๆ หรือถูกรัฐบาล ถูกผู้คุมอำนาจลากไปปรองดอง

 

การปรองดองครั้งนี้ดูเหมือนทุกฝ่ายจะยินดีที่ได้เดินเข้ามาพูดคุยร่วมกัน คุณมองว่าประเด็นสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายยินดีเข้าร่วมในการปรองดองครั้งนี้คืออะไร

     อันนี้เป็นข้อสังเกตที่ดี คือสรุปจากที่ผมไปคุยกับกลุ่มการเมืองต่างๆ คุยกับ  นปช. คุยกับ กปปส. คุยกับกลุ่มอื่นๆ ที่เดินขบวนหรือต่อต้านการเดินขบวน สิ่งหนึ่งที่ได้สังเกตก็คือ 2 ปีมานี้ความรู้สึกที่คุกรุ่น อยากจะขัดแย้ง อยากจะต่อสู้มันลดลงเป็นลำดับ หลังการยึดอำนาจมันก็ยังตึงเครียด ยังร้อนระอุอยู่ แต่ค่อยๆ เย็นลงเป็นลำดับ

     ทีนี้พอมันผ่านไป 2 ปีกว่าแล้ว ผมว่าเมื่อถึงตอนที่รัฐบาลมาเริ่มการปรองดองด้วยการตั้งคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ถึงตอนนั้นเขาก็ไม่อยากจะขัดแย้งอะไรอีกแล้วล่ะ เขาเหนื่อย เขาเบื่อ เขาอยากจะเลือกตั้ง อยากจะให้บ้านเมืองกลับไปสู่ภาวะเดิมให้มากที่สุด ตัวเขาเองก็อยากจะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่ว่าอะไร ก็พร้อมที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นถ้ามีการเลือกตั้ง ผมว่าปัญหาหลายอย่างก็อาจจะคลายไป

คุณต้องเข้าใจว่าการเมืองไทยมันมีธาตุแท้เป็นแบบนี้ ขัดแย้ง แตกแยก แตกหัก จับกุม คุมขัง ยิงกัน ฆ่ากัน แล้วก็นิรโทษ อภัยโทษ

 

แต่ความขัดแย้งดูเหมือนจะไม่ได้หายไปไหน แล้วคุณมั่นใจได้อย่างไรว่าหลังการเลือกตั้งจะไม่ขัดแย้งกันอีก

     ก็ไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้องที่คิดว่าความขัดแย้งจะหายไป เพราะว่าถ้าคุณดูการเมืองไทยย้อนหลังไปยาวๆ ตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มาจนถึง พ.ศ. 2547 จะเห็นว่ามี 2 ธีมหลัก ธีมหนึ่งก็คือขัดแย้ง แตกแยก แตกหัก นองเลือด จับขังคุก เนรเทศ กับอีกธีมก็คืออภัยโทษ นิรโทษ ลดหย่อนโทษ เชิญให้กลับมาใหม่ เรียกว่าเป็นธีมอมตะ

     คุณจะเห็นว่าพอคณะราษฎรยึดอำนาจสำเร็จ ภารกิจแรกๆ ของคณะราษฎรก็คือขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อขอขมาลาโทษ ขอพระราชทานพระกรุณาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหนังสือสำคัญฉบับแรกๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในฐานะปฐมกษัตริย์ของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็คือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475

     จากนั้นมาก็กลายเป็นขัดแย้งขึ้นมารอบใหม่ในอีกหนึ่งปีต่อมา คือเกิดกรณีกบฏบวรเดช ตามมาด้วยการจับกุมเอาคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นคนที่ดีเด่น เป็นคนที่มีการศึกษาสูง แต่ถูกกล่าวหาว่าอยู่ข้างฝ่ายกบฏบวรเดชซึ่งเป็นผู้แพ้ และถูกส่งไปอยู่หลายที่ รวมทั้งเกาะตะรุเตา แล้วพระประยูรญาติชั้นสูงคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ก็ถูกถอดยศฐานันดรศักดิ์ลงมากลายเป็นนักโทษชายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา ขัดแย้งกันหนักมาก แต่ในที่สุดก็คลี่คลายไป มีการนิรโทษกรรม มีการล้างมลทิน มีการอภัยโทษต่างๆ นักโทษที่เกาะตะรุเตาก็ได้กลับมากลายเป็นนักการเมือง กลายเป็นรัฐมนตรีสำคัญหลายท่าน แล้วนักโทษชายรังสิตประยูรศักดิ์ก็กลับมาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 อีก ก็ไล่ต่อมาเรื่อยๆ ทั้งกบฏแมนฮัตตัน ยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุค 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ เมษาฮาวาย รวมถึงพฤษภาทมิฬ

     เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคนเข้าใจผิดที่คิดว่าสังคมไทยแต่เดิมเป็นสังคมที่สงบสันติ แล้วมันเกิดสิ่งผิดปกติคือเกิดการขัดแย้งกัน แล้วก็มาถามผมว่าเมื่อไรจะหายขัดแย้ง ซึ่งเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด โจทย์จริงๆ คือคุณต้องเข้าใจว่าการเมืองไทยมันมีธาตุแท้เป็นแบบนี้ ขัดแย้ง แตกแยก แตกหัก จับกุม คุมขัง ยิงกัน ฆ่ากัน แล้วก็นิรโทษ อภัยโทษ

     ผมมีความเชื่อมั่นว่ามันจะต้องปรองดองได้ เพราะเมื่อดูจากอดีตแล้วมันปรองดองได้ ตอนนี้มันก็ต้องปรองดองได้ เพราะมันก็เป็นสังคมเดียวกันนั่นแหละ อาจจะเปลี่ยนยุค เปลี่ยนสมัยบ้าง แต่ลักษณะของสังคมและหลายๆ อย่างไม่เปลี่ยน ลักษณะสำคัญก็คือสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้อภัยได้ เป็นสังคมที่ไม่หมกมุ่นกับเรื่องความคิดตายตัวจนขยับไปไหนไม่ได้ และเป็นสังคมที่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องคืนดีก็คืนดีกันได้ ไม่ใช่ว่าพูดจากความเพ้อฝัน ไม่ได้พูดในฐานะที่ตนเองเป็นนักวิชาการ แล้วก็พูดตามหลักวิชาการอย่างเดียว แต่ดูจากพฤติกรรม 80 ปีมานี้ มันยากที่จะไม่เป็นแบบนั้น เพราะขัดแย้งตลอดไปไม่ได้

 

เมื่อทหารซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งกลับกลายมาเป็นคนกลางในการทำเรื่องปรองดอง คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

     กองทัพก็มีส่วนอยู่ในความขัดแย้งนี้แน่นอน ทั้งการยึดอำนาจปี พ.ศ. 2549 การเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้เดินขบวนในปี พ.ศ. 2552 และการเป็นผู้รักษาความสงบในระหว่างการเดินขบวนปี พ.ศ. 2557 ทหารต้องมีส่วนแน่นอน ไม่มีความเป็นกลางที่สมบูรณ์หรอก แต่การปรองดองทุกครั้งที่ผ่านมามันก็ไม่มีความเป็นกลางที่สมบูรณ์อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครมีอำนาจ ซึ่งที่ผ่านมามักจะต้องมีเรื่องนิรโทษกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เพราะว่าทั้งสองฝ่ายต้องการนิรโทษกรรม แต่ตอนนี้ฝ่ายเขียวเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นเรื่องนิรโทษกรรมเขาไม่ได้ต้องการเท่าไรหรอก เพราะเขาไม่มีความจำเป็น มันก็ออกมาเป็นในรูปแบบนี้

 

ถ้าไม่มีการนิรโทษกรรมที่ทุกฝ่ายต้องการ คุณมองว่าจะปรองดองกันได้จริงหรือเปล่า

     อาจจะได้หรืออาจจะไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเรื่องปรองดองที่เป็นทางการ แต่ผมเชื่อวัฒนธรรมคนไทยไม่ค่อยเหมือนที่ไหนในโลกนะ คือมันดูเหมือนเด็ดขาด แต่มันก็ไม่เด็ดขาด มันดูเหมือนจะนองเลือด แต่มันก็ไม่นองเลือดมาก ผมเพิ่งกลับมาจากกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาก็เคยผ่านเหตุการณ์เหมือนเรื่องเหลืองกับแดง เป็นเรื่องของคอมมิวนิสต์กัมพูชาสองฝ่าย คือฝ่ายเขมรแดง กับฝ่ายที่ไม่ใช่เขมรแดง บวกกับฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนาม แล้วก็ยังมาเจอกับฝ่ายอเมริกาที่มีทหารเป็นตัวละครหลัก ก็ขัดแย้งกัน 4-5 ฝ่าย ฆ่ากันตายทั้งหมด 1-2 ล้านคน นี่แหละคือพวกเด็ดขาดจริงๆ

     แต่ในสังคมไทยเรามันไม่ใช่สังคมแบบนั้นไง เพราะฉะนั้นการทำเรื่องปรองดอง คุณต้องมีความเชื่อมั่นต่อวัฒนธรรมไทยของคุณว่ามันเต็มไปด้วยความละล้าละลัง ความรีรอที่จะใช้ความรุนแรง ความเด็ดขาด แล้วก็ให้โอกาสกับการคืนดี ปรองดอง สามัคคีเสมอ ดูจาก 80 ปีที่ผมเล่าให้คุณฟัง บางคนยังไม่รู้สึกเลยว่าเราขัดแย้งและได้ปรองดองกันมาแบบนี้ เพราะว่ามันทำเสียจนเป็นธรรมชาติ คุณไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดปกติใช่ไหม

เรื่องปรองดองมันไม่ใช่แค่เพียงว่า มาดูซิว่ารัฐบาลจริงใจหรือเปล่า มาดูซิว่าฝ่ายที่ขัดแย้งเข้าใจกันหรือยัง มีความพร้อมใจหรือยังที่จะสามัคคีปรองดองกัน มันไม่ใช่แค่นั้นนะ มันอยู่ที่คนชม คนเชียร์ด้วย ถ้าคุณยังพยายามที่จะยัดเยียดให้มันกลับไปเป็นแบบเดิมก็ยังปรองดองไม่ได้

 

แต่มีหลายคนมองว่าที่ปรองดองไม่เกิด เพราะยังหาคนกลางที่ทุกฝ่ายไว้วางใจไม่ได้ แล้วตอนนี้ทุกฝ่ายไว้วางใจทหารมากน้อยแค่ไหน

     ทุกฝ่ายไม่ได้ไว้วางใจทั้งหมดหรอก มีทั้งฝ่ายที่รับได้และฝ่ายที่ไม่เอาเลย แต่ทำยังไงได้ล่ะ ตอนนี้ทหารเขากุมอำนาจอยู่ แต่สังคมไทยก็ไม่ได้มีแต่ทหารนี่ คือสังคมไทยเป็นสังคมที่อำนาจไม่ได้รวมศูนย์เด็ดขาดที่เดียว มันเป็นสังคมพหุภาคี พหุอำนาจ หลายๆ ฝ่ายมีอำนาจ เพราะฉะนั้นเราจะไปเกรงทหารเกินไปก็ไม่ใช่

     คืออย่างนี้นะ พวกที่ไม่ใช่พรรคการเมือง อันได้แก่ กลุ่มการเมือง ผมว่าเขาเบื่อแล้วล่ะ มันไม่ใช่อารมณ์ที่จะไปต่อสู้อะไรอีกแล้ว มันเป็นอารมณ์ที่กรำศึกจนล้า จนเพลียแล้ว แล้วก็เป็นอารมณ์ที่ไม่แน่ใจในชั้นบนของตัวเอง เช่น ไม่ค่อยไว้ใจว่าที่ผ่านมาเขาช่วยเราจริงไหม เราติดคุก เราไม่สบาย เราเดือดร้อน เขามาช่วยเราจริงหรือเปล่า หรือว่าเขาไม่จริงใจกับเราหรือเปล่า เขาหลอกให้เรามาทำอะไรอยู่หรือเปล่า มันเป็นอารมณ์แบบนี้ ก็เรียกว่าอยู่ในช่วงที่ไม่ได้มีเรี่ยวแรงหรือกำลังใจที่จะมาทำอะไรให้มันขัดแย้งแตกแยกอีก จากการที่พูดคุยกัน เขาก็ไม่บอกหรอกว่าเขาอยากจะคืนดี แต่ว่ามันคุยกันได้ แล้วจากการที่เราเอาเขามาคุยกัน เขาก็คุยกันได้ ทำงานกันได้ แล้วเขามีความรู้สึกว่าทั้งสองฝ่ายเป็นผู้เคราะห์ร้ายนะ พอยิ่งไปดูในคุกจะเห็นว่าเขายิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้น พวกที่อยู่ในคุกนี่รักกันมากนะครับ เพราะจะมาใช้เรื่องสีเสื้อแบ่งกันก็ไม่ได้แล้ว มันมีชะตากรรมร่วมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะคนในคุก เขาช่วยเหลือกันข้ามสี ข้ามฝ่าย ซึ่งเป็นภาพที่ดีมาก

     ส่วนประเภทพรรคการเมือง ผมว่าเขาก็อยากจะเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะมีพวกที่ถูกข้อบังคับหรือกฎหมายทำให้ลงเลือกตั้งไม่ได้ก็ตาม เขาก็ยินดีสนับสนุนคนที่ไม่มีปัญหาให้รันพรรคการเมืองต่อ รันการเลือกตั้งต่อ ก็ดีกว่าที่เขาถูกกันออกมาจากอำนาจทั้งหมด หลังเลือกตั้งเขาอาจจะได้เป็นรัฐบาล เขาอาจจะร่วมรัฐบาล หรือถึงไม่ได้ร่วมรัฐบาล ไม่ได้เป็นรัฐบาล เขาก็อยู่ในฐานะฝ่ายค้านที่สามารถที่จะโวย สามารถที่จะวิพากษ์อะไรต่ออะไรได้ เพราะฉะนั้นด้วยความจำเป็นของสถานการณ์ ผมคิดว่าสถานการณ์ทั้งหมดมันจะพาไปสู่ความขัดแย้งที่น้อยลง พาไปสู่ความสามัคคีและปรองดองได้มากขึ้น

     เวลาที่มันยาวนาน ความลำบากที่จะขัดแย้ง ทรัพยากรที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมันลดลง ประชาชนก็ลืมหรือเริ่มเบื่อหน่ายกับความขัดแย้ง เศรษฐกิจก็กำลังจะฟื้น เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้มันอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยว ถ้าคุณกลับมาขัดแย้งกันอีกมันก็กระทบกับคนเป็นล้านๆ คนที่กำลังทำธุรกิจท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ก็จะไม่สนับสนุนให้เกิดการขัดแย้ง

 

ในทางเศรษฐกิจ มีความจำเป็นแค่ไหนที่วันนี้เราจะต้องปรองดองกันให้ได้

     ผมว่าประเทศไทยโชคดีที่มีด้านท่องเที่ยวขึ้นมาเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของเศรษฐกิจในเวลานี้ ภายใน 10 ปีข้างหน้าอาจจะสำคัญกว่าภาคอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ซึ่งภาคท่องเที่ยวมันอยู่กับสังคมขัดแย้งไม่ได้ อยู่กับสังคมเดินขบวนไม่ได้ อยู่กับสังคมปิดสนามบินไม่ได้ อยู่กับสังคมที่มีการลอบยิงกันไม่ได้

     ถ้าพูดถึงความจำเป็นของเศรษฐกิจเวลานี้ เราจะมีการเมืองแบบเดิมไม่ได้แล้ว ผมว่าเราเห็นมาตลอดว่าเศรษฐกิจมันกำหนดทุกอย่าง ตอนนี้เศรษฐกิจเราเป็นเศรษฐกิจท่องเที่ยว เศรษฐกิจท่องเที่ยวมันอยู่ได้ด้วยความสงบ สันติ ด้วยความเอื้อเฟื้อ ด้วยไมตรีจิต แล้วเราเอาอะไรมาโชว์กันล่ะ เราเอาความขัดแย้งมาโชว์กันเหรอ ซึ่งผมก็เรียนไปหลายครั้งแล้วว่ามันไม่ใช่ธาตุแท้ของเรา ธาตุแท้ของเราก็คือขัดแย้งกันแค่พอหอมปากหอมคอแล้วก็รีบๆ คุยกันให้มันรู้เรื่องไปซะ เพราะฉะนั้นด้วยความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนไทย สำหรับสังคมไทย ผมก็มีเหตุผลที่จะทำให้พวกเราสบายใจขึ้นอีกนิดหนึ่งว่า ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ มันไม่สามารถที่จะมีการเมืองแบบนี้ได้แล้ว

 

ปัจจัยอีกอย่างที่สำคัญในการปรองดองคือความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ตอนนี้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมที่เพียงพอหรือยัง

     จะบอกว่าเท่ากันผมก็คงไม่กล้าพูด เพราะผมไม่มีหลักฐานว่ามันเท่ากัน แต่ถ้าสรุปว่าทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักแล้วว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็ลำบากเหมือนกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็ถูกดำเนินคดีเหมือนกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็ถูกเมินเฉยเหมือนกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้รับการดูแลจากราชทัณฑ์เท่าที่ควรเหมือนกัน แบบนี้ใช่ แต่มันเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้จากฝั่งตรงข้ามแล้วก็ได้รู้สึกว่า เออ เขาก็แย่เหมือนเรานะ เขาก็ลำบากเหมือนเรานะ

 

แต่เหมือนจะไม่มีการพูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมในการปรองดองครั้งนี้เลย คุณมองอย่างไร

     ก็ไม่ค่อยมีนะ เพราะเขาถือหลักที่ว่าให้ศาลว่าไป จนมาถึงตอนนี้ ถ้าคดีประเภทนี้สีหนึ่งโดน อีกสีหนึ่งก็โดน แล้วในความรู้สึกผม ศาลก็ตัดสินคดีไม่ช้านะ ตอนนี้ถ้าไปคุยกับพวก กปปส. ถามว่าเขาอยากได้รับนิรโทษกรรมไหม ก็อยาก ถามว่าเขาลำบากไหมกับคดีความที่กำลังดำเนิน ก็ลำบาก การไปขึ้นศาลมันไม่สนุกหรอก อยากออกนอกประเทศก็ถือว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ ก็เป็นชีวิตที่อึดอัดขัดข้อง อาจจะถึงขนาดต้องถูกชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่คงมีกำลังไม่พอ ถ้าไปถาม นปช. ล่ะ พวกที่ไปเผาศาลากลาง เผาเซ็นทรัลเวิลด์ ผมว่าเขาก็ไม่สบายใจหรอก บางคดีก็เข้าคุกไปแล้ว คดีของตนก็คล้ายๆ กับพวกที่เข้าคุกไปแล้ว ก็คงรอดยาก

ผมเชื่อว่ามันปรองดองได้ เราจะต้องทำ เราจะไม่มานั่งวิเคราะห์ แล้วเมื่อเราทำ เราจะต้องทำให้ได้ ก็เลยอยากจะชวนพวกเราคนไทยว่าเราเป็นนักปรองดอง แทบทุกคนเป็นนักปรองดอง บ้านเมืองเป็นของพวกเรา

 

ฝ่ายที่โดนคดีมักจะมองว่าความยุติธรรมสำหรับพวกเขามีสองมาตรฐาน แล้วทำไมเรื่องนี้ถึงไม่ถูกพูดถึงในการปรองดองครั้งนี้

     ก็พวกที่เป็นประชาชน เป็นพลทหารราบ ไม่ได้เป็นตัวการ ไม่ได้เป็นหัวหน้าอะไร ตอนนี้ที่อยู่ในคุกเขาก็เข้าสู่กระบวนการอภัยโทษ พักโทษ อภัยโทษไม่ได้แปลว่าอภัยให้หมดนะ คือลดหย่อน 1 ปีก็เหลือครึ่งปี เนื่องจากเป็นนักโทษชั้นดี แล้วพอเหลือโทษสัก 3 เดือนหรือครึ่งปีก็ให้กลับไปอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องอยู่ในคุก แต่ต้องคอยไปรายงานตัว ตอนนี้คนเหล่านี้ก็เข้าสู่กระบวนการนี้กัน ไปคุยกับหลายคนเขาก็บอกว่าหมดความหวังกับเรื่องนิรโทษแล้ว เขาขอเข้าสู่กระบวนการปกติ ไม่ต้องสู้คดีอะไรอีกแล้ว ยอมๆ ไป ตอนนี้เหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะพ้นแล้ว หรือว่าบางคนก็พักโทษแล้ว เพราะฉะนั้นเสียงบ่นแบบนี้มันจึงลดลง

 

อย่างที่คุณเล่าให้ฟังว่ากลุ่มก้อนทางการเมืองต่างๆ ก็พูดจากันด้วยดี พร้อมปรองดอง พร้อมเลือกตั้ง ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของแกนนำไป แต่ถ้ามองกลับมาที่ฝั่งของประชาชน คุณมองว่าประชาชนพร้อมจะปรองดองกันหรือยัง

     ประชาชนที่เข้าไปร่วมในความขัดแย้งนี้ก็คงไม่น้อยนะ แต่ว่า 2 ปีมานี้ การที่บรรยากาศไม่ได้มีเสรีภาพที่จะโจมตีว่ากล่าวกันโดยเปิดเผยมันก็ช่วยทำให้เย็นขึ้นนะผมว่าตอนนี้คนที่ยังพูด แอบพูด ต้องเป็นคนที่มีความฝังใจในความคิดของตนเองเยอะทีเดียว เรียกว่าเป็นนักอุดมการณ์ แต่สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไปก็คงไม่เอาแล้ว ทำมาหากินดีกว่า

     แล้วบรรยากาศแบบนี้ก็จะยังอยู่ไปอีกไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีถึงจะมีการเลือกตั้ง นี่คิดแบบไม่สุดขั้วนะ แล้วหลังเลือกตั้ง มีรัฐบาล ก็อาจจะยังไม่กลับไปสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนวันยึดอำนาจเสียทีเดียว น่าจะยังอยู่ในสภาพเคร่งขรึม ตรึงเอาไว้อยู่เพื่อที่จะทำให้มันเย็นลง ผมก็ยังเชื่อว่ามันน่าจะเย็นลงได้

     แล้วถ้าเป็นรัฐบาลผสมขนาดใหญ่หลายพรรคได้ก็น่าจะดี เนื่องจากไม่มีคนแพ้ คือในรัฐบาลนั้นควรจะมีทั้งฝ่ายที่ 3 ฝ่ายที่ 1 ฝ่ายที่ 2 จะมีฝ่ายที่ยึดโยงกับ 250 เสียงในวุฒิสภาด้วยผมก็ไม่ว่านะ คือทำยังไงให้มันเป็นรัฐบาลที่ประกอบด้วยกลุ่มก้อนที่มากเป็นพิเศษ มันก็จะไม่มีคนแพ้ ไม่มีคนไปค้านได้มากนัก ทีนี้พวกเราก็จะตอบมาทันทีเลยว่า ไม่ได้ครับ ประชาธิปไตยต้องมีฝ่ายค้าน ผมก็ต้องบอกว่า คุณอยากจะปรองดองกัน คุณก็ต้องคิดด้วยกรอบอะไรที่มันใหม่กว่าเดิม คุณจะคิดที่กรอบเดิมทำไม กรอบเดิมมันเป็นประชาธิปไตยแบบที่มีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน คุณใช้กันมากี่สิบปีแล้ว คุณก็ไม่ค่อยรู้กันหรอกว่าในโลกมันยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศดีๆ ทั้งนั้นแหละ เช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี รวมทั้งมาเลเซียด้วย พวกนี้เขาเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐบาลผสม ผสมพรรคฝ่ายที่ขัดแย้งกัน แตกหักกัน หรือนองเลือดกันในอดีต บีบให้มาร่วมรัฐบาลกัน มันก็อยู่ได้ คนก็ถามว่า แล้วถ้าไม่มีฝ่ายค้านจะเอาคนไม่ดีออกจากการเป็นรัฐมนตรีได้ยังไง ก็กระบวนการองค์กรอิสระคุณมีเยอะแยะ ศาลปกครองคุณก็มี ศาลรัฐธรรมนูญคุณก็มี แล้วมันก็ทำงานได้ผลกว่าฝ่ายค้านอีก ก็ว่ากันไปสิ

     ฉะนั้นเรื่องปรองดองมันไม่ใช่แค่เพียงว่า มาดูซิว่ารัฐบาลจริงใจหรือเปล่า มาดูซิว่าฝ่ายที่ขัดแย้งเข้าใจกันหรือยัง มีความพร้อมใจหรือยังที่จะสามัคคีปรองดองกัน มันไม่ใช่แค่นั้นนะ มันอยู่ที่คนชม คนเชียร์ด้วย ถ้าคุณยังพยายามที่จะยัดเยียดให้มันกลับไปเป็นแบบเดิมก็ยังปรองดองไม่ได้ แต่ถ้าคุณช่วยกัน สามัคคีกันให้เกิดอะไรที่เปลี่ยนแปลงขึ้นมา เป็นไปได้ไหมให้เป็นการเมืองแบบรวมกลุ่มกันให้มากเป็นพิเศษ เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดอีกสัก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ให้เรื่องเก่ามันมีโอกาสได้เยียวยารักษาตัวเอง ไอ้เรื่องเก่าที่ได้ทะเลาะกันมาอย่างหนัก บีบให้มันมีความจำเป็นที่จะทะเลาะกันน้อยลงเพราะร่วมรัฐบาล ถ้าทำได้ ผมก็ว่าไปได้ แต่อันนี้ก็อยู่ที่พวกเราที่จะช่วยกันสนับสนุนด้วย

 

ถ้าโฟกัสเฉพาะที่โครงสร้างอำนาจ รัฐบาลผสมแบบที่คุณเสนอจะทำงานร่วมกันอย่างไร

     ก็จะต้องเปลี่ยนคอนเซปต์ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การมานับคะแนนกันว่าใครได้มากก็เป็นรัฐบาล ใครแพ้ก็เป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นสังคมที่จะมาร่วมแรงร่วมใจกันเป็นรัฐบาล ใครได้มากก็มีเก้าอี้มาก ใครได้น้อยก็มีเก้าอี้น้อย วิน-วิน แต่ถ้าทำผิดก็ว่ากันไปตามกระบวนการอิสระ องค์กรอิสระ กระบวนการศาล ก็เปลี่ยนรูปแบบวิธีคิดเท่านั้นล่ะ ถึงเวลาจำเป็นมันก็ต้องคิด

     คุณรู้ไหม ตอนที่ญี่ปุ่นบุกไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นญี่ปุ่นก็ยื่นคำขาดว่าจะรบหรือว่าจะยอมแพ้ ไทยเราก็ทั้งไม่ยอมแพ้ด้วย ทั้งไม่ยอมรบด้วยจนเกิดรูปแบบที่เรียกว่า ‘การให้ญี่ปุ่นผ่านทางอย่างสันติ’ เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้ความสร้างสรรค์ ความกล้าหาญที่จะใช้กรอบความคิดใหม่ๆ ด้วย ทำไมต้องใช้กรอบความคิดใหม่ๆ เพราะนั่นเป็นความเป็นความตายของชาติ ถ้าคุณรบกับญี่ปุ่น คนต้องตายเป็นแสน และเมื่อสังคมไทยเลือกแล้วว่าจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด ก็ต้องคิดสิ่งใหม่ๆ จนเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลและประชาชนไทย ผมจะบอกให้ สงครามโลกครั้งที่ 2 เราแทบไม่ตายเลย เป็นไปได้ยังไง รัสเซียตายไปหลายสิบล้าน จีนตายไปหลายสิบล้าน ยุโรปตายไปไม่รู้กี่ล้าน เยอรมันตายไปไม่รู้กี่ล้าน แต่เราไม่เป็นไรเลย

     เรื่องแบบนี้ควรยกมาเป็นอุทาหรณ์ ไม่ใช่ไปรอความอภินิหารพิสดาร อยู่ที่ว่าผู้นำกล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าสร้างสรรค์ ส่วนประชาชนก็พร้อมที่จะเข้าร่วม พร้อมที่จะรับการนำ

 

สรุปว่าคุณมั่นใจแค่ไหนกับการปรองดองครั้งนี้

     คือคุณถามผมอย่างนี้ ส่วนหนึ่งมันเกี่ยวกับอุปนิสัยผมด้วย คือถ้าผมทำอะไรแล้วผมจะไม่ประเมิน ผมจะทำให้ดีที่สุด ทำเต็มที่ แล้วก็มีความหวังกับมันเสมอ พูดได้ว่าผมเชื่อว่ามันปรองดองได้ เราจะต้องทำ เราจะไม่มานั่งวิเคราะห์ แล้วเมื่อเราทำ เราจะต้องทำให้ได้ ก็เลยอยากจะชวนพวกเราคนไทยว่าเราเป็นนักปรองดอง แทบทุกคนเป็นนักปรองดอง บ้านเมืองเป็นของพวกเรา

     บางครั้งเรื่องผิดถูกเราก็ลดลงสักหน่อย ลองคิดตามแบบคนอื่นเขาดูบ้างเถอะ แล้วก็ลองไม่เชื่อตัวเองดูบ้างเถอะ อย่าไปมั่นใจกับตัวเองมากนัก ลองคิดก็พอนะ คุณไม่ต้องลบล้างความเชื่อเดิมของคุณ แต่ลองคิดเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขาบ้าง มันก็จะลดความคุกรุ่นลงไปเยอะ แล้วผมเชื่อว่าคนไทยอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นคนไทยจริงก็ไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำอะไร แล้วคนกลางก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าพอจะเป็นคนกลางได้ คนกลางไม่ได้เป็นคนที่ถูกใครลากไปทางใดทางหนึ่งง่ายๆ คนกลางแบบไทยก็ต้องรับฟังความเห็นของทั้งสองฝ่าย รับฟังความเดือดร้อนทั้งสองฝ่าย แล้วก็มีความเมตตา ความปรานี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นเลิศของคนไทย ผมเชื่อว่ามันไม่มีทางทำลายไปได้ มันจะกลับมาช่วยเราในท้ายที่สุดได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising