×

‘เมื่อทหารเป็นคนกลาง ทุกคนก็รู้ว่าไม่กลาง’ ปอกเปลือกปรองดองในหัวใจสีแดงของจตุพร พรหมพันธุ์

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ปรองดอง ซึ่งประกอบไปด้วยพะเยาว์ อัคฮาด จตุพร พรหมพันธุ์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ 
  • จตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวด้วยแววตาหนักแน่นและมั่นคงว่า นี่คือการปรองดองที่แตกต่างไปจากทุกครั้ง เพราะนายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเชื่อว่าจะทำให้การปรองดองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
  • หากการปรองดองครั้งนี้ล้มเหลว การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย เพราะเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่มีปัญหา สุดท้ายประเทศไทยก็จะกลับมาสู่จุดเดิม
  • จตุพรบอกว่า สำหรับ ‘กองทัพ’ ทุกคนต่างรู้กันว่าไม่เป็นกลาง แต่ต้องมองเนื้อหาที่จะเห็นพ้องต้องกันได้ แม้จะมีความแตกต่าง แต่ก็สามารถนำเสนอทางออกได้

     วันที่กระบวนการปรองดองเดินมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เรามีนัดกับ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อสนทนาภายใต้โมงยามแห่งความขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นได้อีกยาม

     บนถนนแห่งความขัดแย้งทางการเมือง เขานำมวลชนออกมาชุมนุมหลายครั้ง และต้องตกอยู่ในชะตากรรมที่ถูกคุมขังในเรือนจำ วนเข้าวนออกภายใต้กำแพงคุก และมีคดีความอีกจำนวนมากที่ต้องต่อสู้หลังจากนั้น

     รัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเพื่อเข้ามาจัดการกับความขัดแย้งของกลุ่มมวลชนที่แตกแยกออกเป็นหลายฝ่ายในเวลานั้น

     กระทั่งนำมาสู่การเปิดเวทีปรองดองโดยนำกลุ่มต่างๆ มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกจากวังวนความขัดแย้ง

     ‘ทหาร’ กลายมาเป็นคนกลางและมีบทบาทนำในกระบวนการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ โดยถูกตั้งคำถามถึงความเป็น ‘คู่ขัดแย้ง’ ทางการเมืองด้วยในเวลาเดียวกัน
สปอตไลต์จึงส่องไปยังจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะแกนนำนปช. ว่าเหตุใดเขาจึงตอบรับเข้าร่วมการปรองดองในครั้งนี้

     ‘จตุพร’ ตอบทุกคำถามของ THE STANDARD ถึงที่มาที่ไปและก้าวย่างที่สำคัญต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้

หากการปรองดองครั้งนี้ล้มเหลว การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย เลือกตั้งภายใต้กติกาที่มันมีปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งไม่มีการปรองดองอย่างชัดเจน สุดท้ายประเทศไทยก็กลับมาสู่จุดเดิม


รูปธรรมการปรองดองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทำไม นปช. จึงตัดสินใจเข้าร่วมการพูดคุย

     ทุกครั้งที่มีการเชิญชวนเรื่องปรองดอง เราก็ให้ความร่วมมือ การปรองดองที่ไม่สำเร็จตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าสู่กันฟัง ที่ผ่านมากรรมการทั้งสองชุด ไม่ว่าจะเป็นของดอกเตอร์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือทหารที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ก็ตาม แต่ว่าปลายทางอยู่ที่ผู้มีอำนาจ หากสุดท้ายผู้มีอำนาจไม่นำไปปฏิบัติ ทั้งที่สองฝ่ายทำหน้าที่ดีแล้ว แต่กลับนำเข้าไปเก็บในลิ้นชักเหมือนเดิม

     ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เริ่มต้นด้วยการอัญเชิญพระกระแสรับสั่งว่า ให้คนในแผ่นดินได้มีความรัก สมัครสมานสามัคคี มีความสุข มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งถึงสองครั้งคือ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

     ผมได้แสดงความคิดเห็นตั้งแต่ต้นว่า นี่คือการปรองดองที่แตกต่างไปจากทุกครั้ง เพราะนายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่ง และนี่คือสิ่งที่ทุกคนเชื่อว่าจะทำให้การปรองดองประสบความสำเร็จ ถ้าลำพังนายกฯ มาชวนอาจจะไม่มีใครเชื่อ ครั้งนี้จึงเป็นความหวังของคนไทยว่าจะได้มีการปรองดองกันสักที


สิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อเสนอ’ ที่จะนำไปสู่ ‘สัญญาประชาคม’ คืออะไร

     มีการไปดูข้อเสนอของแต่ละกลุ่มว่ามีอะไรตกหล่นหรือไม่ ทั้งในฝั่งการเมือง กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐ เพื่อส่งไปยังคณะกรรมการอีกชุดที่มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน

     เมื่อฟังพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบบอกว่า เนื้อหาจะชัดเจนภายในเดือนมิถุนายน และเมื่อได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จะมีการเดินหน้าไปสู่กระบวนการที่เรียกว่า ‘สัญญาประชาคม’

     สาระไม่ได้อยู่ที่การลงนามหรือไม่ลงนาม แต่ต้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันตกผลึก เพราะหากการปรองดองครั้งนี้ล้มเหลว การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย เลือกตั้งภายใต้กติกาที่มันมีปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งไม่มีการปรองดองอย่างชัดเจน สุดท้ายประเทศไทยก็กลับมาสู่จุดเดิม

     เราไม่ต้องการกลับมาปรองดองกันอีกหลังเลือกตั้งไปหนึ่งปี แล้วก็เกิดวิกฤติขึ้นมาอีก มีการยึดอำนาจอีก เกิดความขัดแย้งอีก แล้วก็มานั่งคุยเรื่องการปรองดองกันใหม่ เพราะฉะนั้นเราควรทำให้สิ้นกระแสความ อย่าเอาเรื่องการเลือกตั้งมาผูกมัดจนกระทั่งทุกอย่างต้องเร่งรีบกันไปหมด แล้วก็ไปเจอวิกฤติกันใหม่ ประเทศไทยไม่ควรจะสุ่มเสี่ยงอีกแล้ว

 

เล่าบรรยากาศในการพูดคุยของวงปรองดองให้ฟังหน่อย

     ก็มีพรรคการเมือง 40 กว่าพรรคจาก 70 พรรคที่เข้าร่วม กลุ่มการเมือง กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ก็มาในรอบแรก และส่งลายลักษณ์อักษรตามมา รวมทั้งภาคเอกชน เป็นการพูดคุยแบบวงใหญ่ ท่วงทำนองก็เป็นไปได้ด้วยดี ปลัดกระทรวงกลาโหมและคณะฯ ก็รับฟังเราด้วยดี การนำเสนออะไรต่างๆ ก็ไม่มีลักษณะว่าเราไปนั่งคุยกันในค่ายทหาร แต่เป็นการคุยโดยมีเสรีภาพในการนำเสนออย่างเต็มที่ภายในกรอบหัวข้อที่ได้ระบุกันเอาไว้

ผมกลัวสภาพที่ว่าเราเร่งเรื่องการเลือกตั้งจนกระทั่งอะไรก็ได้ พออะไรก็ได้ก็กลายเป็นปัญหา ท้ายที่สุดก็กลับมาที่จุดเดิมอีก เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่คลางแคลงใจ ก็ควรได้ตกผลึกร่วมกัน นั่นคือ ‘สัญญาประชาคม’

 

‘สัญญาประชาคม’ ที่อยากจะเห็นในมุมของ นปช. เป็นแบบไหน

     เป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายโดยมีประชาชนเป็นสักขีพยาน ถ้าใครละเมิดก็แสดงว่าได้กระทำความผิดต่อประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ

     ผมคิดว่าในแต่ละประเด็นที่มันเป็นปัญหา ถ้ามีการเห็นพ้องต้องกันว่าต่อไปนี้เราจะยึดแนวทางปฏิบัติตามกติกาอันนี้ ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะเดินไปได้ แต่ถ้าไม่มีข้อตกลงร่วมกัน พอเลือกตั้งเสร็จก็เป็นปัญหาอีก เช่น เอานายกฯ คนนอกเข้ามา มี ส.ว. 250 คน แต่นายกฯ คนนอกก็จะมาตายกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร แล้วการยกมือไม่ไว้วางใจ ส.ว. ก็ไม่มีสิทธิเข้ามาโหวต แต่มีสิทธิเลือกนายกฯ ได้อย่างเดียว นายกฯ คนในก็จะไปตายที่องค์กรอิสระ และไปติดขัดการตรากฎหมายที่ ส.ว. จะเห็นว่าทั้งนายกฯ คนใน คนนอก มันไปกันไม่ได้

     ต่อมาระบบการเลือกตั้งก็เป็นปัญหา เพราะว่าบัตรใบเดียว ถ้าใครได้เป็นผู้แทนฯ พื้นที่แล้ว ผู้แทนบัญชีรายชื่อจะไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งหนหน้ามันจะต้องมีการออกแบบกันใหม่ ผมไม่ได้เป็นห่วงว่าพรรคการเมืองจะตามไม่ทัน เพราะสุดท้ายแล้วทั้งพรรคการเมืองและประชาชนจะตามทัน เช่น มีหัวข้อหนึ่งที่ผมทักท้วงว่าช่วยทำให้ชัดเจน อย่างการบัญญัติคำว่า ‘ปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง’ จากเดิมคือ ‘ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง’ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่นำมาสู่วันนี้ คำว่า ‘ปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง’ เป็นนามธรรมมาก ไม่รู้ว่าคืออะไร แก้ปัญหาการซื้อเสียงแล้วมาให้ประชาชนจ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองแทน แบบนี้เรียกว่าการปฏิรูปใช่ไหม เป็นต้น ต้องทำสิ่งนี้ให้ชัดเจนว่ารูปธรรมของมันคืออะไร

     ประเทศเราพูดเรื่องการปฏิรูปต่างกรรมต่างวาระอยู่หลายครั้ง เอาเฉพาะช่วงควบคุมอำนาจก็มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปทำเรื่องนี้แล้วครั้งหนึ่ง ต่อมาก็ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ เลยยังไม่รู้ว่าการปฏิรูปที่ว่าคืออะไร ก็ต้องให้ชัดว่ามันคืออะไร หรือว่านี่คือการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้งแล้ว เพราะมิเช่นนั้นเมื่อเลือกตั้งทันทีมันจะเกิดวิกฤติขึ้นมาใหม่ แล้วในที่สุดวาทกรรมเหล่านี้ก็จะถูกนำมาใช้อีก ภาวะของประเทศที่เดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจที่หนักกว่า พ.ศ. 2540 ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก

     ผมก็พูดชัดว่าผมไม่ติดขัดเรื่อง ‘โรดแมป’ ถ้าติดขัดก็คงทะเลาะกันเรื่องนี้ไม่จบไม่สิ้น เพราะมันถูกเลื่อนมาตลอด ถ้าไปถือตามนั้นก็คงอยู่กันยาก เราก็ข้ามไปซะ เอาแค่สิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ประชาชนต้องมาก่อน

     ผมกลัวสภาพที่ว่าเราเร่งเรื่องการเลือกตั้งจนกระทั่งอะไรก็ได้ พออะไรก็ได้ก็กลายเป็นปัญหา ท้ายที่สุดก็กลับมาที่จุดเดิมอีก เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่คลางแคลงใจ ก็ควรได้ตกผลึกร่วมกัน นั่นคือ ‘สัญญาประชาคม’

 

แต่ถ้าไม่ได้ตามเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นอย่างไรต่อ

     การปรองดองนั้นไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายต้องได้ตามข้อเสนอนะ มันต้องมีได้และต้องมีเสีย แต่อะไรคือหลักสากลที่พึงปฏิบัติและเป็นหลักแห่งความเสมอภาคทั้งปวง ทุกฝ่ายก็น่าจะรับได้ แม้ว่าข้อเสนอของแต่ละส่วนจะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ทั้งหมด แต่หลักใหญ่เรื่องความเสมอภาค ความยุติธรรม ความเป็นธรรม และความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมันสามารถที่จะพูด อธิบาย และเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ก็น่าจะสามารถผ่านกันไปได้ เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ว่าข้อเสนอของแต่ละฝ่ายจะได้รับการบรรจุอย่างครบถ้วน แต่หลักและสาระที่เป็นหัวใจของแต่ละเรื่องเราก็สามารถที่จะยอมรับกันได้

 

เงื่อนไขสำคัญในการปรองดองครั้งนี้ที่เป็นหัวใจของ นปช. คืออะไร

     ‘ความเสมอภาค เป็นธรรม และความเป็นประชาธิปไตย’ หากจะให้จำกัดความ เพราะในรายละเอียดที่เสนอไปเป็นลายลักษณ์อักษรก็มีลงลึกไปมากกว่านี้

 

ที่บอกว่าไม่สนใจการเลือกตั้งหรือโรดแมป คือถ้ามันยังไม่สำเร็จก็พร้อมที่จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้?

     ต้องยอมรับจุดนี้ก่อนว่าโรดแมปไม่เคยมีอยู่จริง เพราะหลายครั้งก็ได้วางไทม์ไลน์ไว้ แต่ก็ขยับกันมาตลอดเวลา ไปได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ผมจึงบอกว่าเราอย่าไปยึดติดกับโรดแมป เพราะมันไม่เคยอยู่กับที่ ถ้าเราไปจริงจังกับมัน ก็ทะเลาะกันตั้งแต่ ปี 2558 มาแล้ว

     ผมผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมา ก็พอจะเห็นสภาพความเป็นจริง แม้อยากจะอยู่นาน แต่มันก็อยู่ไม่ได้ เมื่อมองดูสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน พูดได้แค่ว่าน่าจะทุกระดับประทับใจ อย่างที่เห็น แม้จะอยากอยู่นานก็ต้องอยู่ยาก เพราะโลกของความต้องการกับโลกของความเป็นจริงมันไม่ได้ไปด้วยกัน

     เราต้องการให้ทุกฝ่ายตกผลึกเพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลับมาสู่จุดเดิมแบบนี้อีก วันข้างหน้าเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐธรรมนูญก็ควรถูกร่างโดยประชาชนอย่างแท้จริง เพราะถ้าตกลงกันไม่ได้ บ้านเมืองก็คงไม่พร้อมที่จะเผชิญวิกฤติใหม่กันอีกต่อไปแล้ว

วันข้างหน้าเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐธรรมนูญก็ควรถูกร่างโดยประชาชนอย่างแท้จริง เพราะถ้าตกลงกันไม่ได้ บ้านเมืองก็คงไม่พร้อมที่จะเผชิญวิกฤติใหม่กันอีกต่อไปแล้ว

 

คนกลางคือ ‘กองทัพ’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทำไมเราถึงยอมให้เป็นคนกลางในการปรองดองครั้งนี้

     คนกลางไม่มีอยู่จริงตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แม้ว่าเราพยายามจะคัดเลือกคนกลางที่ดี ซึ่งอาจจะพอมีอยู่บ้าง แม้ในท้ายที่สุด ข้อเสนอของคนกลางไปยังผู้มีอำนาจซึ่งไม่กลางก็อยู่ในลิ้นชักอยู่ดี ทหารมาทำครั้งนี้ก็เหมือนเปิดให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างไม่เป็นกลาง สังคมก็เห็นกันหมด ซึ่งผมเชื่อว่าที่ทุกฝ่ายต่างเดินหน้าไปสู่การปรองดองเป็นเพราะพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่นายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญมา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรซับซ้อน ผมจึงไม่เรียกร้องหาคนกลาง จึงต้องมาพูดและนำเสนออย่างตรงไปตรงมา และทุกคนก็รู้กันว่าไม่เป็นกลางนะ แต่เนื้อหาใดที่เราจะเห็นพ้องต้องกันได้ มีความแตกต่าง แต่ก็สามารถนำเสนอทางออกได้ เราจึงไม่ทะเลาะเรื่องคนกลางมาตั้งแต่ต้น ไม่เอาเรื่องนี้มาเป็นสาระที่จะต้องมานั่งถกเถียงกัน เหมือนเป็นการเปิดเลยว่าไม่เป็นกลาง แต่มาร่วมกันหาทางออก

 

แล้วถ้าไม่เป็นกลาง มันจะไปต่ออย่างไร

     ที่เป็นกลางมาล้วนแต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ที่เราเคยเห็นบางคณะฯ เป็นกลางมา 364 วัน แต่มาเสียเอาวันสุดท้ายคือวันที่ 365 ที่ผ่านมาเราผ่านพิธีกรรมเรื่องเป็นกลาง  ไม่เป็นกลางมาเยอะมากแล้ว แต่ครั้งนี้เหมือนเปิดไฮโลแทง ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างทำหน้าที่ หน้าที่ของเราคือให้ความร่วมมือ ไม่เป็นอุปสรรค ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบในเรื่องนี้

     ดังที่ได้ลำดับความมา ทุกเรื่องราวถูกเปิดเผยในการนำเสนอ ผู้มีอำนาจคงไปบิดข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้อยู่แล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องรู้ว่าตัวเองคงไม่ได้ทั้งหมดตามที่เสนอ แต่ต้องรู้ว่าอะไรคือหลักการที่ควรจะได้ นั่นแหละที่จะทำให้ประเทศสามารถนับหนึ่งเดินต่อไปได้

 

ข้อเสนอเรื่อง ‘นิรโทษกรรม’ เหมือนจะถูกเก็บใส่ลิ้นชักไปแล้ว ฝั่ง นปช. ก็เคยออกมาเรียกร้องเรื่องนี้?

     การเจรจาปรองดองครั้งนี้มีสองคำที่ห้ามพูดคือ ‘การอภัยโทษ’ และ ‘การนิรโทษกรรม’ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเข้ามาอยู่ในวง เพราะเป็นเรื่องพระราชอำนาจ เพียงแต่ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ความยุติธรรม ก็ดำเนินการทุกอย่างอย่างเสมอภาคกัน

     ปัญหาหนึ่งที่เกิดในวันนี้ เพราะกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้นไม่เท่ากันทั้งระบบเลย คดีของ นปช. จะไปอย่างรวดเร็ว แต่คดี กปปส. ตกเป็นผู้ต้องหา 58 คน เพิ่งจะมีการฟ้องไป 4 คน แต่ของ นปช. ถูกขังตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เมื่อกระบวนการเริ่มต้นไม่เท่ากันแล้วก็จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต เราก็ทำให้ตรงไปตรงมา ทำให้เท่าเทียมเสมอภาคกัน จะได้ไม่มีปัญหา หลายคดีของ นปช. เสร็จแล้วมีการพิพากษา จำคุก หลายคดีก็ถูกขังไปแล้ว ทั้งที่บางคดีเกิดขึ้นทีหลังอีกกลุ่มหนึ่งอีก ทำให้มันเป็นปัญหาในแง่ของกระบวนการมาตลอด

     การนิรโทษกรรมที่เราเสนอไปนั้น เดิมให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย และให้แกนนำทุกฝ่ายเป็นผู้รับผิดชอบ คือแกนนำทุกฝ่ายไม่ควรมีการนิรโทษกรรม นี่คือข้อเสนอเดิม

 

ยังมีกลุ่มไหนที่ตกหล่นจากวงพูดคุยปรองดองในครั้งนี้หรือไม่

     ทหารก็ทำหน้าที่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ถือว่าค่อนข้างจะครบถ้วน ตกหล่นน้อยมาก แล้วคนที่ตกหล่นก็ไม่แสดงออกว่าตัวเองตกหล่นจากกระบวนการครั้งนี้ แสดงว่าทิศทางก็เป็นไปอย่างครบถ้วน

 

‘ความเสมอภาค เป็นธรรม และความเป็นประชาธิปไตย’ ที่ต้องการ มีตัวอย่างรูปธรรมไหม

     ผมบอกว่ารัฐต้องแก้ปัญหาในสิ่งเหล่านี้ ทางออกที่ดีก็คือการได้มาพูดคุยกัน ถ้าปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ประเทศก็ไม่มีปัญหา เพราะเราไปเชื่อกันอย่างสุดทางว่า หากเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ต้องปฏิบัติแบบนี้ มันก็ทำให้ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ที่สำคัญต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเราต่างก็เป็นคนไทย รกรากก็อยู่บนแผ่นดินนี้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่สร้างความเสมอภาค ความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ปัญหามันก็ไม่จบ มีทั่วทุกหัวระแหง แล้วก็ยังดำรงอยู่ จะได้ไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ได้ต่อไป เพราะว่าเราต่างยอมรับว่ามันมีอยู่จริง

ผมเชื่อว่าที่ทุกฝ่ายต่างเดินหน้าไปสู่การปรองดองเป็นเพราะพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่นายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญมา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรซับซ้อน ผมจึงไม่เรียกร้องหาคนกลาง

 

น้ำเสียงคุณจตุพรดูมีความหวังในการปรองดองครั้งนี้?

     ผมเชื่อในพระกระแสรับสั่งที่นายกฯ อัญเชิญมา เพราะความจริงคู่ขัดแย้งก็เปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ มันไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งอย่างถาวร มันเป็นความขัดแย้งที่ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ เพราะแรกเริ่มเดิมทีก็เป็นหมู่มิตรกันทั้งนั้น แล้วก็ไปกันคนละทิศคนละทาง ในบางส่วนมีชะตากรรมปลายทางคล้ายกันๆ ต่างคนก็ต่างเข้าใจปัญหากันและกัน เพียงแต่ประเทศไทยนั้น เราแยกกันไม่ได้ระหว่างความเห็นต่างกับความขัดแย้ง

     ผมนำเสนอตั้งแต่ต้นว่า การปรองดองมิใช่ว่าให้แต่ละฝ่ายมาคิดเหมือนกัน จุดยืนของแต่ละฝ่ายต้องดำรงอยู่ แต่เราต้องอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่าง และมีกติกาที่ทุกคนจะต้องยอมรับกัน และอยู่ได้แม้เราคิดหรือเชื่อไม่เหมือนกัน ถ้าเราคิดว่าการปรองดองต้องคิดเหมือนกัน นั่นคือไม่ใช่ มันต้องปรองดองเพื่อจะได้มีหลักยืนร่วมกันตรงกลาง แต่ความเป็นตัวตนของเราก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้

 

ทำไมที่ผ่านมาคำว่า ‘ปรองดอง’ ถูกยกขึ้นมาพูดกันตลอด แต่ลงมือทำทีไรก็เหมือนจะไปต่อไม่ได้

     หลอกกันทุกครั้ง เวลาบ้านเมืองมีอะไรหรือผ่านเรื่องราวอะไรมา ถ้าต้องการจะกลบเรื่องราวเหล่านั้นก็หยิบเรื่องปรองดองขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าใครพูดเรื่องปรองดองก็จะถูกทักว่าวางแผนจะหลอกเรื่องอะไร สำหรับคำว่า ‘ปรองดอง’ ที่ผ่านมามันเหมือนเป็นคำโกหก ก่อนหน้านี้มีคำว่า ‘สมานฉันท์’ มันก็ถูกทำให้เสียคำไปแล้ว เพราะมันไม่อยู่จริง มาครั้งนี้ที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นจริงเป็นเพราะนายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่ง เป็นเหตุผลเดียวจริงๆ ที่เราทุกคนเห็นว่าสิ่งนี้คือกระบวนการที่จะเกิดขึ้นได้จริง

 

ขัดแย้งมานานจนไม่อยากทะเลาะกันแล้ว จึงยอมที่จะคุยกันในครั้งนี้?

     เราเป็นองค์กรที่อยู่มายาวนานร่วมสิบปี เราเชื่อว่าแต่ละฝ่ายต่างก็รักชาติบ้านเมือง ที่ผ่านมาเราแยกความคิดเห็นที่แตกต่างกับความขัดแย้งกันไม่ออก ขณะเดียวกันก็มีการสร้างวิกฤติที่เรียกว่า ‘วิกฤติเทียม’ ในประเทศไทยมีมาอยู่ตลอดเวลา แต่ละองค์กรก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เราต้องกลับมาตั้งหลักสิ่งเหล่านี้ ทุกอย่างก็ปฏิบัติตามข้อตกลง หนทางข้างหน้า อะไรที่เป็นอุปสรรค เราก็มาร่วมกันแก้ไข ผมคิดว่าแต่ละคนเดือดร้อนทั้งนั้น การออกมาต่อสู้ รางวัลที่ได้รับก็คือคุก ตาราง และชีวิต เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง มันยากลำบากกันทุกฝ่าย ถ้าอะไรที่ทำให้บ้านเมืองเดินไปได้อย่างเป็นปกติสุข ซึ่งทุกฝ่ายก็ต้องทบทวน ปฏิรูปองค์กรตัวเอง หรือกระทั่งประชาชนด้วย

 

มวลชนของกลุ่มคุณจตุพรก็เสียงแตก แล้วจะสื่อสารกับเขาอย่างไรถึงท่าทีของเราต่อกระบวนการครั้งนี้

     ต้องยอมรับความจริงว่าไม่มีใครเชื่อทั้งหมด มวลชนก็มีความรู้สึก เราก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าแต่ละเรื่องราวเป็นการตัดสินใจเหล่านี้ ก็จะมีมวลชนส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจ แต่วันเวลาก็จะทำให้เขาเข้าใจเราภายหลังได้

     ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทุกคนเห็นบรรยากาศและประเมินเรื่องราวต่างๆ เราต้องอธิบายให้เขาแยกแยะว่าอย่าเอาการปรองดองกับเรื่องอื่นมาปนกัน ถ้าเราไม่เข้าไป ผมก็เชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการให้การปรองดองเกิดความสำเร็จ และเขาต้องการให้เราเป็นอุปสรรค พูดง่ายๆ มันมีความพยายามจะบอกว่าใครเป็นอุปสรรค ซึ่งก็เป็นคนร้ายในสถานการณ์นี้ เพราะฉะนั้นเราจึงให้ความร่วมมืออย่างครบถ้วน ไม่เป็นอุปสรรค

     ส่วนความสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่ผู้มีอำนาจที่ต้องทำความเข้าใจ และเราเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่ต้องสูญเสียจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราก็ต้องใช้ความอดทน ไม่อยู่บนพื้นฐานของอารมณ์ ไม่ใช่ว่าเราต้องการให้ลืมเรื่องเหล่านี้ แต่เราต้องทำให้เห็นว่าเราก็มีวุฒิภาวะในการที่จะร่วมหาทางออกให้กับประเทศ

     แต่ถ้าพูดเรื่องความเจ็บปวด เราเป็นองค์กรที่มีความสูญเสียมากที่สุด เราก็ยังคิดที่จะร่วมหาทางออกให้กับประเทศ เราก็พยายามอธิบาย ประชาชนก็มีความสูญเสียเกินกว่าที่เขาจะรับได้ และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งความเป็นจริง

 

ปรองดองเพื่อจะได้รีบเลือกตั้งหรือเปล่า

     ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก็จะกลับมาที่จุดเดิม เหมือนเดินไปข้างหน้าแล้วก็ถอยกลับมา อย่าไปกลัวกับความนานที่เขาจะอยู่ต่อ เพราะเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจและหลายเรื่องผูกมัดไว้ให้เห็นอยู่แล้ว แต่ต้องกลัวกับการพยายามเดินหน้าปรองดองไปอย่างรีบเร่งจนละเลยสาระสำคัญ เพราะเมื่อนั้นประเทศอาจพบกับความหายนะมากกว่าที่เป็นอยู่

 

ตัวละครสำคัญอย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ต้องยอมรับว่าแยกออกจากกลุ่มคุณจตุพรยาก จะอยู่ตรงไหนของการปรองดองครั้งนี้

     คุณทักษิณ และคุณยิ่งลักษณ์ ได้แสดงความประสงค์ว่า อย่าเอาเรื่องของทั้งสองคนนี้เข้ามาอยู่ในวงปรองดอง ซึ่งทั้งสองแสดงเจตนามาตั้งแต่ต้น หากเอาเรื่องคุณทักษิณเข้ามาก็จะเป็นเรื่องราวไม่จบไม่สิ้น เราก็ได้แสดงเจตนาเรื่องนี้อย่างชัดเจน

     เพราะฉะนั้นในวงปรองดองจึงไม่มีเรื่องของคุณทักษิณ

FYI

จตุพรเล่าเบื้องหลัง ‘บิ๊กตู่’ ยึดอำนาจ

     “อย่างเหตุการณ์ก่อนที่จะมีการเข้าควบคุมอำนาจก็มีคนถามผมว่า ไปเจรจาทำไม ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าถูกหลอกไป ผมก็ต้องอธิบายว่า แม้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องไป เพราะถ้าไม่ไปก็จะกลายเป็นปัญหาอยู่กลุ่มเดียว เราก็เข้าไปนำเสนอทางออก เช่น ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ผมก็บอกว่าเห็นใจคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ นะ ถ้าจะให้เลือกตั้งแล้วไปปฏิรูป มวลชนก็คงเอาตาย เช่นนั้นก็ต้องหาทางออก จึงเสนอว่าให้ทำประชามติ พูดง่ายๆ เราก็พยายามจะยื้อเรื่องการควบคุมอำนาจของทหาร

     “ท้ายที่สุด ถึงขนาดแยกวงคุยระหว่าง นปช. กับ กปปส. ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นผู้นัด สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ถามว่ารู้ไหมว่าจะมีการควบคุมอำนาจ ตอบว่ารู้ตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ก็พูดชัด เพียงแต่เราไม่สามารถที่จะพาประชาชนไปบาดเจ็บล้มตายเพิ่ม แกนนำทุกคนจึงไปหมดในวันที่เขานัดคุย เพราะถ้าสถานการณ์มันเอาไม่อยู่ก็อาจเกิดความเสียหายมากกว่าปี 2553”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising