×

ไพรมารีโหวตใน ‘การเมืองแบบไทยๆ’ ความหวังเฮือกสุดท้ายปฏิรูปพรรคการเมือง?

26.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ไพรมารีโหวต คือการเลือกตั้งขั้นต้นของแต่ละพรรค เพื่อสรรหาผู้สมัครที่จะเป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง โดยให้อำนาจกับประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองเป็นคนโหวตเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม
  • ดร. สุริยะใส กตะศิลา มองว่าหากมีการใช้ระบบไพรมารีโหวต บทบาทของสาขาพรรค และสมาชิกพรรคจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และอาจนำไปสู่การปฏิรูปวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศไทยในอนาคตได้
  • ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการคัดสรรผู้จะลงสมัครไพรมารีโหวต รวมถึงความย้อนแย้งในการนำผลโหวตที่ได้กลับไปให้คณะกรรมการพรรคเป็นคนเคาะอีกครั้ง พร้อมตั้งคำถามว่าประชาชนมีความเข้าใจเรื่องไพรมารีโหวตมากแค่ไหน

     ถึงตอนนี้คำว่า ‘ไพรมารีโหวต’ กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้างจากทั้งบรรดานักการเมือง รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยมีต้นตอมาจากความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยกำหนดให้มีการนำระบบไพรมารีโหวตมาใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรคในการเลือกตั้งทั่วไป

     ไพรมารีโหวตอาจไม่ใช่คำใหม่สำหรับคนที่ติดตามการเมืองต่างประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเมืองของสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับ ‘วัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ’ เรื่องนี้คือเรื่องใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจ และถกเถียงร่วมกันอย่างรอบด้าน

     ถ้าที่ผ่านมาพรรคการเมืองคือหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ และการปฏิรูปพรรคการเมืองคือทางออกหนึ่งของประเทศ ไม่แน่ว่าไพรมารีโหวตอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกกับดักความขัดแย้ง และนำไปสู่ทางออกที่ดีกว่าในอนาคต

     หัวใจของไพรมารีโหวตคืออะไร แรงกระเพื่อมจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นอย่างไร และไพรมารีโหวตจะเหมาะกับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ หรือไม่ นี่คือคำถามที่เราจะมาหาคำตอบร่วมกัน

สมมติว่า ส.ส. ดื้อกับพรรค แต่ดื้อเพื่อประชาชน

พรรคก็จะทำอะไรไม่ได้ ตราบใดที่ประชาชนยังจะเลือกเขาให้เป็นตัวแทนพรรคอยู่ นี่คือข้อดีสำคัญของระบบนี้

 

ไพรมารีโหวตคืออะไร

     โดยหลักใหญ่ใจความ ไพรมารีโหวต คือการเลือกตั้งขั้นต้นของแต่ละพรรค เพื่อสรรหาผู้สมัครที่จะเป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง โดยให้อำนาจกับประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองเป็นคนโหวตเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม แทนที่จะปล่อยให้เป็นผู้บริหารพรรคเพียงไม่กี่คนเป็นคนตัดสินใจ

     โดย ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายความเพิ่มเติมว่า “เมื่อก่อนการเมืองเป็นเรื่องของพรรคและผู้บริหารพรรค การตัดสินใจส่วนใหญ่เป็นของผู้มีอิทธิพล หรือนายทุนพรรคแทบทั้งหมด กลายเป็นว่าคนทั่วไปไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ไพรมารีโหวตคือการยกอำนาจเหล่านี้ไปสู่มือประชาชน

     “ก่อนหน้านี้เรามองกันว่าพรรคการเมืองเป็นเรื่องของการที่คนกลุ่มหนึ่งที่มีผลประโยชน์ร่วมกันมารวมตัวกัน เพื่อลงเลือกตั้งให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในสภา ซึ่งในนิยามนี้จะไม่มีคำว่า ‘ประชาชน’ รวมอยู่ในกระบวนการด้วย ขณะที่นิยามพรรคการเมืองสมัยใหม่จะมองพรรคการเมืองออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือนักการเมือง ส่วนที่สองคือประชาชน หรือสมาชิกพรรค และส่วนที่สามคือองค์กรของพรรคการเมือง

     “ถ้าเรามองความหมายให้ครบทั้ง 3 ส่วน จะเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้พยายามจะสร้างองค์ประกอบให้ครบทุกด้าน อยากสร้างให้เกิดการที่สาขาพรรค และสมาชิกพรรคมีกิจกรรมร่วมกัน ส่วนนักการเมืองจะตามมาทีหลัง ในอุดมคติเราก็จะมีผู้นำตามธรรมชาติที่ถูกสร้างมาจากการเมืองท้องถิ่นจนมาถึงระดับประเทศ”

      นอกจากนี้ ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ยังระบุว่า ระบบไพรมารียังจะช่วยปลดล็อกให้ ส.ส. ของแต่ละพรรคมีอิสระมากยิ่งขึ้น เพราะแต่ละคนต้องทำงานโดยยึดโยงกับประชาชน แทนที่จะยึดตามมติพรรคอย่างที่เคยเป็นมา

     “ในสภาพความเป็นจริงของรัฐสภา ส.ส. แทบจะไม่มีบทบาทอะไรมากนัก ส.ส. หลายคนแทบไม่เคยเสนอร่างกฎหมาย รวมถึงไม่เคยร่วมลงชื่อในการสนับสนุนร่างกฎหมาย ส่วนเวลาโหวตเรื่องต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะโหวตตามมติพรรค เพราะพรรคมีอำนาจในการตัดสินใจว่าครั้งหน้าจะส่งใครลงเลือกตั้ง ฉะนั้นไพรมารีโหวตจะเป็นการสร้าง safetyness ให้กับ ส.ส. สมมติว่า ส.ส. ดื้อกับพรรค แต่ดื้อเพื่อประชาชน พรรคก็จะทำอะไรไม่ได้ ตราบใดที่ประชาชนยังจะเลือกเขาให้เป็นตัวแทนพรรคอยู่ นี่คือข้อดีสำคัญของระบบนี้

 

Photo: Wikimedia commons

 

     ด้าน ดร. สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ระบุว่า ระบบไพรมารีโหวตจะเป็นการกระจายอำนาจ และเพิ่มโอกาสให้คนใหม่ๆ ให้กับคนที่ไม่มีทรัพยากรมากนักได้ลงสู่สนามเลือกตั้งในระดับประเทศมากขึ้น

     “อย่างน้อยประชาชนหรือชาวบ้านทั่วไปเขาก็จะได้กำหนดตัวผู้สมัครเองจริงๆ เพราะบางทีเขาอยากให้คนในพื้นที่เขา อยากให้คนที่ทำงานร่วมกับชุมชน หรือคนที่เขามั่นใจว่าดีกว่าคนที่พรรคส่วนกลางส่งมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มันคือการกระจายอำนาจการตัดสินใจในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง เขาอาจจะมีคนที่ชอบในใจ แต่คนคนนั้นไม่มีเงิน หรือคอนเน็กชันไปไม่ถึงหัวหน้าพรรค หรือกลุ่มนายทุน ก็เลยสู้คนอื่นไม่ได้ ชาวบ้านก็เลยต้องจำใจเลือก นาย ก. เพราะส่วนกลางส่งมา แต่คนในพื้นที่ที่อาจจะเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นครู ช่วยเหลือสังคมมาทั้งชีวิต ถ้าเขาอยากได้ผู้แทนแบบนี้ ระบบไพรมารีก็จะตอบสนองความต้องการนี้ได้”

     จะเห็นได้ว่าหลักการไพรมารีตอบสนองความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองได้เป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าระบบนี้จะสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ทันที เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่จำเป็นต้องถกเถียงกันอย่างรอบด้านมากขึ้น

 

Photo: CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP

 

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ ก่อนมีไพรมารี

     ก่อนจะไปดูร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกัน ดร. สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ฉายภาพธรรมชาติของระบบพรรคการเมืองในอดีตว่า ก่อนหน้านี้สาขาของพรรคการเมืองแทบไม่มีบทบาทใดๆ ต่อพรรคการเมืองเลย โดยหลายพรรคตั้งสาขาพรรคในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้ครบองค์ประกอบตามกฎหมายที่ระบุว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขากระจายไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศ

     “บางพรรคขนาดใหญ่อย่างพรรคไทยรักไทยสมัยที่เฟื่องฟู เขามีสาขาพรรคแค่ 8 สาขาเอง ส่วนประชาธิปัตย์อาจจะเป็นพรรคหนึ่งที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับบทบาทสาขาพรรค เพราะมีทั้งหมด 200 สาขา ซึ่งเท่าที่ทราบเขามีข้อบังคับให้สาขาพรรคมีสิทธิเลือกหัวหน้าพรรคได้ ถือว่าเป็นความก้าวหน้า แต่นอกจากนี้ก็มีปัญหาตามมาว่ามีสาขาพรรคแล้วยังไง เพราะแทบไม่เห็นบทบาทที่จะมีความสำคัญกับพรรคการเมืองเลย บางพรรคสามีอาจจะเป็น ส.ส. ในเขต แล้วให้ภรรยาเป็นประธานสาขาพรรค หรือไม่ก็เอาไว้ใช้เป็นฐานการเมืองของตัวเอง จะมีบทบาทก็เฉพาะช่วงการเลือกตั้ง หาเสียง แต่ช่วงที่ไม่มีเลือกตั้งก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร พรรคเองก็ไม่มีเงินไปสนับสนุน”

 

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

 

     เช่นเดียวกับบทบาทของสมาชิกพรรคการเมืองที่แทบไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร ยังไม่นับรวมถึงแรงจูงใจที่ประชาชนหนึ่งคนจะสมัครเป็นสมาชิกของพรรคใดพรรคหนึ่ง

     “ที่ผ่านมาแต่ละพรรคก็จะหาสมาชิกพรรคให้ได้เยอะๆ เพื่อที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาการเมือง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคไหนมีสมาชิกเยอะ มีสาขาเยอะ ก็ได้เงินอุดหนุนเยอะ และส่วนใหญ่เท่าที่ดูบรรดา ส.ส. จะเป็นคนล่ารายชื่อหาสมาชิกพรรคเอง บางทีก็ไปเคาะประตูชาวบ้านโดยที่เขาไม่ได้พร้อม แต่เกรงใจ ก็ถ่ายบัตรประชาชนให้ เรียกว่าไม่ได้มาเพราะชอบอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค แต่บางส่วนมาจากการจัดตั้ง ทำให้สมาชิกพรรคมีฐานที่แคบและไม่ได้ยึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด”

     ซึ่งหากมีการใช้ระบบไพรมารีโหวตจริง บทบาทของสาขาพรรค และสมาชิกพรรคจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และอาจนำไปสู่การปฏิรูปวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศไทยในอนาคตได้

     “การคิดเรื่องไพรมารีโหวตโดยใช้กลไกสาขาพรรคเป็นผู้จัดการ ต้องพยายามทำให้สาขาพรรคมีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นสถาบันมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าหลักการดี แต่ปฏิบัติไม่ได้ หรือเสียของ”

คนในพื้นที่ที่อาจจะเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นครู ช่วยเหลือสังคมมาทั้งชีวิต

ถ้าเขาอยากได้ผู้แทนแบบนี้ ระบบไพรมารีก็จะตอบสนองความต้องการนี้ได้

Photo: AFP

 

ชำแหละไพรมารีในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง

     แม้หลักการของ พ.ร.บ. พรรคการเมืองในเรื่องไพรมารีโหวตจะสะท้อนถึงเจตนาที่ดีในการปฏิรูปพรรคการเมือง แต่ถ้าดูในรายละเอียดแล้ว กฎหมายฉบับนี้อาจมีช่องโหว่ในรายละเอียดหลายๆ เรื่อง

     ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตหลายอย่างเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทั้งเรื่องกระบวนการคัดสรรผู้ที่จะลงสมัครในขั้นไพรมารีที่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติอย่างไร รวมถึงการนำผลโหวตที่ได้กลับไปให้คณะกรรมการพรรคเป็นคนเคาะอีกครั้งว่าจะส่งใครไปลงศึกเลือกตั้งใหญ่

     นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้ระบบไพรมารีโหวตว่า กระบวนการคัดสรรผู้สมัครกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะลงสมัครในขั้นไพรมารีจำเป็นต้องมีรายชื่อผู้สนับสนุนที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าใครอยากจะลงก็ได้ รวมทั้งยังต้องมีการจ่ายเงินค่าสมัคร และมีกระบวนการคัดกรองผู้ลงสมัครก่อนให้สมาชิกพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ

     ส่วนระบบในการลงคะแนนที่มีการใช้ในหลายๆ ประเทศมีทั้ง ระบบปิด ที่ให้โอกาสเฉพาะสมาชิกพรรคในการลงคะแนนเท่านั้น ระบบเปิด ที่เปิดให้ใครก็ได้มาลงคะแนนเลือกผู้แทนพรรค หรือระบบกึ่งเปิดกึ่งปิด ที่กำหนดไว้ว่าคนที่จะมาลงคะแนนต้องลงทะเบียนก่อน ซึ่งแต่ละระบบมีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มีการใช้ระบบปิดในการโหวต ซึ่ง ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ ระบุว่า

     “ข้อกังวลแรกคือ แล้วใครจะมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองล่ะ ในเมื่อจะต้องเสียเงิน 100 บาท แล้วคนไทยก็ไม่ค่อยจะเปิดเผยตัวตนทางการเมืองมากนัก มองในแง่ดีระบบไพรมารีก็เป็นการบังคับกลายๆ ว่าถ้าคุณอยากโหวตเลือกตัวแทนของตัวเอง ก็ต้องไปสมัครเป็นสมาชิก แต่ถ้ามองในแง่ลบ ถ้ามีคนลงสมัครหลายๆ คน แต่ละคนก็จะต้องหาสมาชิกพรรคมาสนับสนุนตัวเอง ดังนั้นอาจเกิดกรณีที่สมาชิกพรรคไม่ได้สมัครด้วยตัวเอง แต่เป็นเพราะนักการเมืองไประดมให้เขามาสมัครเป็นสมาชิกเพื่อที่จะมีสิทธิโหวตในไพรมารี”

     นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังมีช่องโหว่ช่องใหญ่ที่เป็นความย้อนแย้งในตัวเอง อย่างการกำหนดให้มีการส่งรายชื่อผู้ได้รับการโหวตไพรมารี 2 อันดับแรกกลับไปให้คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นคนตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย โดยให้เหตุผลในการร่างว่าเผื่อไว้ในกรณีที่ผู้ชนะอันดับ 1 มีคุณสมบัติไม่ครบ จะได้เลือกอันดับ 2 ให้เป็นตัวแทนโดยไม่ต้องจัดไพรมารีโหวตใหม่ ซึ่ง ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์มองว่า

     “คำถามก็คือถ้ามีระบบการจัดการที่ดีก็ควรจะมีการคัดกรองผู้มาสมัครลงไพรมารีตั้งแต่แรกหรือไม่ การให้เหตุผลว่าเผื่อคุณสมบัติไม่ครบ ก็แสดงว่าคุณมองว่าไพรมารีเป็นแค่พิธีการเลือกตั้ง ไม่ได้มองว่ามันเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ฉะนั้นเหตุผลนี้จึงรับไม่ไ้ด้ เท่ากับว่าจะทำไพรมารีไปทำไม ในเมื่อท้ายที่สุดคนที่ได้ที่ 1 อาจจะไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคก็ได้ ดังนั้นควรจะต้องมีการมองอย่างรอบด้านให้ครบองค์ประกอบ”

     ด้าน ดร. สุริยะใส ระบุว่า ในช่วงต้นคงต้องให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีสิทธิตัดสินใจก่อน เพื่อป้องกันความขัดแย้งภายในพรรคระหว่างสาขาพรรคกับส่วนกลาง แต่ในระยะยาวควรจะมีความเด็ดขาดจากขั้นตอนไพรมารี ไม่อย่างนั้นไพรมารีจะไร้ความหมาย เพราะยังคงให้อำนาจกับเจ้าของพรรค และเสียงประชาชนจะไม่มีประโยชน์

     นอกจากนี้ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทยยังเสนอว่า หากจะมีใช้ระบบไพรมารีโหวตจริงควรจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจจะนำร่องในเขตเทศบาลของแต่ละจังหวัด ก่อนจะขยายให้ครบทุกเขตทั่วประเทศในอนาคต

     “ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้าจะทำอย่างเต็มระบบ ผมก็ไม่เห็นด้วยหรอก เพราะยังไม่พร้อมแน่นอน แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีการนำร่องในเขตเมือง 76 จังหวัด โดยบังคับให้ทุกพรรคการเมืองต้องมีสาขาในทุกจังหวัด เพราะถ้าบังคับทุกเขต พรรคเล็กก็จะเกิดยาก เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปเช่าออฟฟิศ และจ้างคนมาทำงาน พรรคใหญ่ก็จะยุ่งยากไม่ต่างกัน แล้วค่อยเขียนข้อบังคับในบทเฉพาะกาลว่าเลือกตั้งครั้งที่ 2 หรือภายใน 5 ปี พรรคต้องขยายสาขาให้ครบทุกเขต ผมว่าถ้าทำแบบนี้ไม่เกิน 5-6 ปี ทุกอย่างจะลงตัว”

 

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

 

ไพรมารีโหวตในการเมืองไทยเป็นไปได้แค่ไหน

     แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการนำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ เพราะล่าสุดวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว อาจต้องใช้เวลาอีก 3-4 วันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

     แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเสียงคัดค้านดังมาจากทุกฟากฝ่าย ทั้งจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ร่างจดหมายเปิดผนึกถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 8 หน้า บรรจุข้อท้วงติง และข้อเสนอ โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นในการเตรียมความพร้อมก่อนทำไพรมารีโหวตแต่ละครั้ง แม้ประชาธิปัตย์จะมีความพร้อมมากกว่าพรรคอื่น แต่มองว่าพรรคใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคอย่างรุนแรง และมองว่าไม่น่าจะเป็นระบบการกลั่นกรองผู้สมัครที่ดีกว่าใช้คณะกรรมการบริหารพรรคที่มาจากการเลือกตั้งจากฐานที่กว้างขวางกว่าในที่ประชุมใหญ่

     เช่นเดียวกับ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าไพรมารีโหวตจะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันเองภายในพรรค แบ่งเป็นกลุ่มก๊วน และการกำหนดผู้ลงสมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจะไม่สะท้อนความนิยมของประชาชน แต่จะเป็นเรื่องของสมาชิกจำนวนน้อยเท่านั้น

     หรือแม้แต่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังส่งเสียงค้านเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยระบุว่านอกจากปัญหาในทางปฏิบัติของพรรคการเมืองขนาดเล็กแล้ว พรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็จะมีปัญหา เพราะจะหาเงินและเวลาที่ไหนไปทำไพรมารีโหวต ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งผู้สมัครไม่ได้ ทำให้การเลือกตั้งไม่ราบรื่น และขัดต่อรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด

     ซึ่ง ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ ให้ความเห็นปิดท้ายว่า แม้ส่วนตัวจะอยากเห็นระบบไพรมารีโหวตเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่คำถามสำคัญคือ ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องไพรมารีโหวตมากน้อยแค่ไหน

 

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

 

     โดยสวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดที่ทำการสำรวจประชาชนจำนวน 1,149 คน พบว่ามีเพียงร้อยละ 25.41 ที่พอเข้าใจเกี่ยวกับไพรมารีโหวต ขณะที่ร้อยละ 40.30 ยังไม่ค่อยเข้าใจ และร้อยละ 34.29 ไม่เข้าใจเลย

     “ประชาชนเข้าใจไพรมารีโหวตหรือเปล่า นี่คือเรื่องใหญ่ ถ้าคนมีความรู้ มีความเข้าใจที่ดีก็จะรู้ว่าทำไมจะต้องไปเลือกตัวแทนพรรค หรือเลือกเพื่ออะไร ยังไม่ต้องไปมองถึงตัวบทกฎหมาย ถ้าคนเข้าใจ เดี๋ยวก็จะปรับตัวไปตามกติกาได้เองในที่สุด แต่ถ้าคนไม่เข้าใจ อยู่กับกติกาไม่เป็น สุดท้ายเกมมันก็จะเจ๊ง

      “มันเหมือนกับเรากำลังเอานวัตกรรมมาใช้กับประเทศ แต่การนำนวัตกรรมมาใช้ก็ต้องสร้างความเข้าใจกับคนด้วย และต้องมองให้รอบ ยิ่งเรื่องไพรมารียิ่งต้องคุยกันให้ยาวกว่านี้ และต้องตั้งคำถามกับมันให้เยอะ”

      ด้าน ดร. สุริยะใส ทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่า ส่วนตัวคิดว่าระบบไพรมารีโหวตเป็นความหวังในการปฏิรูปพรรคการเมืองในระยะยาว

     “ถ้าหลักการมันดีและควรจะเป็น เราก็ควรทำ ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อุดมคติ เพราะหลายประเทศก็ทำแล้วประสบความสำเร็จ แค่เราต้องใช้เวลาหน่อย อดทนหน่อย แล้วบรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ต้องออกจากความเคยชินเดิมๆ เรามีราคาที่ต้องจ่ายกันทุกคนนั่นแหละ โดยเฉพาะนักการเมืองและพรรคการเมืองที่จำเป็นต้องจ่ายมากกว่าชาวบ้าน เพราะนี่คือยุคปฏิรูปการเมือง

     “ไม่มีอะไรที่เอามาใช้แล้วจะดีหมด แต่เราก็ต้องยอมรับว่าจะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ ไพรมารีโหวตจะเป็นเหมือนน้ำยาหยดหนึ่งที่จะกำจัดน้ำเสียในบ่อไม่ได้ หมายความว่าพอมีไพรมารีแล้วทุกอย่างจะดีเลิศ แต่ผมคิดว่ามาตรการเปลี่ยนพรรคการเมืองจากการเป็นกลุ่มผลประโยชน์ หรือเครื่องมือหากินของคนบางกลุ่มมาเป็นเครื่องมือของประชาชนจริงๆ เป็นเรื่องที่ควรทำ”

     ถึงวันนี้จะยังไม่มีคำตอบว่าระบบไพรมารีโหวตจะเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทยได้หรือไม่ เพราะยังต้องรอความชัดเจนหลังจากนี้ แต่อย่างน้อยปรากฏการณ์ไพรมารีครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้คนไทยได้มองเห็นทางเลือกในการปฏิรูปประเทศอีกหนึ่งทาง แม้บรรยากาศทางการเมืองยังไม่เอื้อให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้างก็ตาม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising