×

ความตายของโลมาสีชมพูตัวที่ 3 ในขนอม สะท้อนความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกคืน

12.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ความตายของโลมาสีชมพูถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคือสัญลักษณ์สำคัญของทะเลขนอมมาช้านาน และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ต้องการเห็นโลมาตามธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทย

     นับเป็นข่าวที่น่าเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา เวลา 06.22 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ไต๋กานต์ ลอย บุญปลอด ได้โพสต์ภาพศพโลมาสีชมพูลอยคว้างอยู่กลางทะเล หน้าอ่าวท้องกรวด อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

     ถ้าเกิดในพื้นที่อื่นๆ นี่อาจเป็นข่าวการเสียชีวิตธรรมดาๆ ของสัตว์ทะเลตัวหนึ่ง แต่สำหรับชาวขนอมแล้ว ข่าวนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะโลมาสีชมพูคือสัญลักษณ์สำคัญของทะเลขนอมมาช้านาน และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ต้องการเห็นโลมาตามธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทย

     วชิรพงศ์ สกุลรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขนอม ระบุว่าเพียงปีนี้ปีเดียวพบโลมาสีชมพูเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ตัว คือในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตัวที่เพิ่งเจอเมื่อวานคือตัวล่าสุดที่มีการพบ ขณะที่จำนวนโลมาทั้งหมดที่ได้ทำทะเบียนไว้มีประมาณ 95 ตัวเท่านั้น

     “ถ้าเป็นโลมาชนิดเดียวกันตาย ขนาดเท่ากัน ที่ฝั่งอันดามันตรงไหนก็ได้ กับตายที่ขนอม วันนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต่างกัน เพราะถ้าตายในพื้นที่ที่ไม่มีการนำโลมามาเกี่ยวข้องในฐานะทรัพยากรสำคัญทางการท่องเที่ยว ก็จะเหมือนเป็นสัตว์ทะเลตัวหนึ่งที่เสียชีวิตไป แต่ถ้าเป็นที่ขนอมมันไม่ใช่ เพราะที่ขนอมโลมาเป็นสัตว์ทะเลหายาก และมีคุณค่าต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งถ้าถามผม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะความเสียหาย และความสูญเสียไม่เหมือนกัน”

 

 

     สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตของโลมาตัวนี้ต้องรอการนำซากไปผ่าพิสูจน์ ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าโลมาตัวดังกล่าวตายผิดธรรมชาติ หรือป่วยตายกันแน่ ซึ่งจากข้อมูล Photo ID ที่ทำการขึ้นทะเบียนโลมาในพื้นที่เอาไว้คาดว่าโลมาตัวดังกล่าวมีความยาวประมาณ 2 เมตรเศษ และเป็นโลมาโตเต็มวัยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 5 ปี

     นอกจากนี้จากสถิติที่ทำการบันทึกไว้พบว่า ในปี 2558 มีโลมาสีชมพูเสียชีวิตในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว ส่วนในปี 2559 มีการเสียชีวิตเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 7 ตัว ขณะที่ปีนี้ยังไม่ทราบว่าตัวเลขจะหยุดที่เท่าไร หากยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนจากภาครัฐ

     “สิ่งที่สะท้อนจากกรณีนี้คือการประมงที่ขาดการควบคุมอย่างจริงจังจากภาครัฐ และกลไกในการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่จะร่วมมือกับภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งโดยทั่วไปการดูแลทรัพยากรเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ขณะนี้เรากำลังพยายามผลักดันให้มีการใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยประกาศให้ชายฝั่งทะเลขนอมเป็นพื้นที่คุ้มครองตาม พ.ร.บ. ซึ่งจะมีผลทำให้ชุมชนในพื้นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเฝ้าระวังและดูแลฐานทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเองได้

     “คือประชาชนอยากร่วมดูแล แต่ยังไม่มีกฎหมายที่เปิดช่องให้ทำ วันนี้พี่น้องประชาชนชาวขนอมทุกคนห่วงโลมากันหมดแหละ ตอนนี้เรากำลังพยายามผลักดันให้เรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เราพยายามผลักดันให้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่ใหญ่ก็เอาไม่อยู่”

      ด้าน ไต๋กานต์-สุเมธ บุญปลอด เจ้าของเรือท่องเที่ยวตกปลาในอำเภอขนอม ผู้พบศพโลมาตัวดังกล่าวเปิดเผยว่า ส่วนตัวรู้สึกเศร้าสลดใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะโลมาสีชมพูสำหรับชาวขนอมถือเป็นสัตว์เชิดหน้าชูตา เป็นสโลแกนและสัญลักษณ์สำคัญของอำเภอขนอม ซึ่งอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแลอย่างจริงจัง เพื่อตรวจตราการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย และสำรวจว่าการทำประมงในปัจจุบันส่งผลต่อโลมาในท้องถิ่นอย่างไร

     สำหรับอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ โดยนักท่องเที่ยวกว่า 70% ที่เดินทางมาในพื้นที่คือนักท่องเที่ยวที่ต้องการเห็นโลมาตามธรรมชาติ จากปี 2542 ที่มีท่าเรือเพียง 2 ท่า แต่ละท่ามีเรือไม่ถึง 10 ลำ แต่ในวันนี้มีท่าเรือเพิ่มขึ้นเป็น 5 ท่า ซึ่งบางท่ามีเรือไม่ต่ำกว่า 50 ลำ สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอำเภอได้เป็นอย่างดี

     ดังนั้นโลมาสีชมพูหนึ่งตัวที่ตายไปอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับชาวขนอมมากกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising