×

“สื่อขนาดเล็กมีโอกาสอยู่รอดง่ายกว่า” ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผู้ก่อตั้ง The MATTER

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins read
  • สื่อกระแสหลักมีพาวเวอร์ลดลง การควบคุมความคิดคนให้ไปทางใดทางหนึ่งทำได้ยากขึ้นมาก หรือการกำหนดวาระข่าวสารหลักของสังคมก็ทำได้ยากขึ้น
  • สำนักข่าวทุกวันนี้อาจไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องหรือทำทุกเรื่องเหมือนเช่นสื่อใหญ่สมัยก่อน อย่างเช่น iLaw (องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม) เมื่อก่อนเราจะไม่เรียกว่าเป็นสำนักข่าวหรือเป็นสื่อ แต่เดี๋ยวนี้ iLaw ควบบทบาทเป็นสื่อเลย และทำหน้าที่ของสื่อในประเด็นเรื่องกฎหมาย ความไม่ยุติธรรมในสังคมได้ดีมาก
  • รายได้จากโฆษณาเป็นโมเดลที่ทำให้สื่อเกิดใหม่ขนาดเล็กรอด เพราะไม่มีต้นทุนเรื่องคนมาก แต่สำหรับสื่อองค์กรใหญ่ที่มีพนักงาน 3,000 คน ยังมีโจทย์ให้ต้องคิดว่า จะอยู่ได้อย่างไรกับงบโฆษณาที่ลดลงเรื่อยๆ และถูกแบ่งสรรปันส่วนจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ และสื่อใหม่ที่มีขนาดเล็ก
  • สิ่งที่น่ากลัวของสำนักข่าวออนไลน์ไม่ใช่พวกเพจที่เป็นสำนักข่าวออนไลน์ด้วยกัน แต่เป็นกลุ่มคนทำสื่อที่เป็นลักษณะ individual เพราะเงินจะไปสู่คนที่ทำเพจแบบอิสระมากขึ้น เช่น เพจอีเจี๊ยบฯ โพสต์ละแสน ลงโพสต์เดียวก็ได้กำไรแล้ว ขณะที่องค์กรสื่อต้องแบกต้นทุนสูงกว่ามาก
  • โจทย์ใหญ่ของ แชมป์-ทีปกร ในวันนี้คือการบาลานซ์ระหว่างการอยู่ได้กับการอยู่กับตัวเองได้ คือคำว่า ‘อยู่ได้’ เป็นเรื่องเงิน ต้องขายโฆษณาได้ แต่ขณะเดียวกันต้องขายโฆษณาแล้วยังมองหน้าตัวเองในกระจกได้เช่นเดียวกัน

 

     The MATTER เป็นเพจและเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่ทำโดยคนรุ่นใหม่ สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างน่าสนใจและร่วมสมัย

     หลังเปิดตัวเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ปี 2016 ปัจจุบันมียอดไลก์เพจ 343,222 ไลก์ มีกลุ่มคนอ่านและแฟนประจำติดตามอย่างเหนียวแน่น

     ท่ามกลางความผันผวน ปรับตัว ล้มหายของสื่อเก่า และการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร The MATTER มองเห็นว่า หลายสิ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

     สื่อกระแสหลักจะไม่ทรงอิทธิพลเหมือนเช่นวันวาน

     สื่อมวลชนที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่จะอยู่ยากขึ้น เพราะต้องแบกรับต้นทุนมหาศาล การลดคนอาจเป็นทางแก้แต่ไม่ใช่ทางออก

     ขณะเดียวกันรายได้หลักอย่างเงินโฆษณา ก็อาจไม่ได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนในอดีต เพราะถูกสื่อเล็กๆ อย่างเพจต่างๆ และอินฟลูเอนเซอร์ร่วมแบ่งสรรปันส่วน

     “สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่สำนักข่าวออนไลน์ด้วยกันนะ แต่เงินจะไปสู่ individual มากขึ้น ไปสู่คนที่ทำเพจคนเดียวมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้เขาแบกต้นทุนคนที่น้อยกว่า”

     เมื่อเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนและแรงงาน จนสามารถทำทุกอย่างจนจบได้ในคนคนเดียวหรือคนไม่กี่คน แชมป์-ทีปกรเชื่อว่า องค์กรขนาดเล็กคือไซส์ขององค์กรที่เหมาะในยุคนี้

     นักข่าว 3 เอดิเตอร์ 2 กราฟิกดีไซเนอร์ 2 ไม่รวมตัวเขา คือจำนวนทีมงาน The MATTER

     แต่มากกว่าไซส์ขององค์กร ความอยู่รอดของธุรกิจและภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป คำถามสำคัญคือ

     องค์กรสื่อควรปรับตัวอย่างไร?

     ทีปกรในฐานะคนที่คุ้นเคยกับการสื่อสารในโลกออนไลน์มายาวนาน (เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บบล็อก exteen.com ใน พ.ศ. 2548) มีคำตอบและความเห็นที่น่าสนใจไม่ต่างกับ thematter.co

คำว่า ‘อยู่ได้’ แน่นอนเป็นเรื่องเงิน ต้องขายโฆษณาได้

แต่การอยู่กับตัวเองได้คือขายโฆษณาแล้วยังมองหน้าตัวเองในกระจกได้อยู่

 

คิดว่าโลกออนไลน์ในวันนี้กับยุคที่คุณเริ่มก่อตั้ง exteen.com ต่างกันมากน้อยแค่ไหน

     รู้สึกว่ามันให้พลังกับคนตัวเล็กๆ มากขึ้น เมื่อก่อนมีบล็อก (blog) เราก็คิดว่ามันคือแพลตฟอร์มที่ส่งเสียงของประชาชนได้ดีที่สุดแล้ว เพราะเหมือนเป็นช่องทางให้คนออกมาพูดอะไร แต่ว่าตอนนี้มีเฟซบุ๊กมีอะไร คนก็มีสิทธิ์มีเสียงออกมาพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ตัวเองคิดมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งผลดีผลเสีย ผลดีก็อย่างที่เรารู้กัน ผลเสียก็คือมันทำให้เกิดความสับสนในเรื่องต่างๆ เรื่องสื่อ เรื่องข่าว หรือเรื่องอะไรง่ายมากๆ

     ทุกคนมีพื้นที่เท่ากันหมด หมายถึงว่าในคอมเมนต์ เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน เราไม่รู้ว่าในคอมเมนต์เรื่องหนึ่ง เขาพูดเรื่องนี้ เขารู้มา หรือว่าเขาแค่อ่านตรงนี้แล้วคอมเมนต์เลย หรือไม่อ่านแต่คอมเมนต์เลย เราไม่รู้แบ็กกราวด์ตรงนี้ ทำให้การสื่อสารบนโลกออนไลน์มันค่อนข้างจะวุ่นวายสับสน แต่หลายๆ คนก็มองว่าเป็นความงามของการสื่อสารแบบนี้ ถ้าเราสามารถกรองคอนเทนต์ออกมาจากมันจริงๆ มันอาจจะดีงามก็ได้ แต่ปัญหาคือภาระมัน shift ไปสู่คนอ่านมากกว่าปกติมาก เพราะเมื่อก่อนอย่างน้อยมันมีคนกรองมาให้เรา

 

มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนอย่างไร

     สื่อกระแสหลักมีพาวเวอร์ลดลง แต่พวกแมสมีเดียยังมีพาวเวอร์อยู่นะครับ อย่าง The Mask Singer ก็เห็นว่ามีพลังอยู่เยอะ แต่การควบคุมความคิดคนให้ไปทางใดทางหนึ่งทำได้ยากขึ้นมาก หรือการกำหนดวาระข่าวสารหลักของสังคมก็ทำได้ยากขึ้น อย่างเมื่อก่อนมีสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว หัวข้อการพูดคุยทางสังคมมันแตกกระจายหมด วันนี้จะคุยเรื่องข่าวใหญ่อะไร ก็ไม่ได้มีแบบ ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ขณะที่เมื่อก่อนมันมี และทุกคนก็จะอยู่ในฐานความเข้าใจอันเดียวกัน แม้จะอยู่คนละขั้ว แต่ตอนนี้เหมือนคุยกับคนที่ไม่ได้สนใจเหมือนกันเลย ซึ่งอาจจะสะท้อนธรรมชาติจริงๆ ของคนมากขึ้นก็ได้ แต่พอคนไม่สนใจเรื่องเดียวกัน ไม่มีพื้นฐานเรื่องเดียวกัน เวลาจะคุยอะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ มันก็ยาก

 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สื่อหลักหรือสำนักข่าวใหญ่ๆ ต่างก็พยายามปรับตัว คุณมองเห็นอะไร

     สิ่งที่สื่อหลักเดิมใช้มาโดยตลอดเลยคือความเป็นสถาบัน จริงๆ มันก็ดีตรงที่ว่ามีพาวเวอร์ในการเข้าถึง มีแรงคน มีทุนที่หนา มีการดำเนินงานที่เป็นระบบ แต่ในยุคที่ไม่ต้องการสถาบันมากขนาดนั้น มันทำให้ความเป็นสถาบันเคลื่อนตัวช้า อย่างที่เรารู้กันว่า สื่อบางเจ้าปลดหรือลดพนักงานออกเยอะ มันก็เป็นการปรับตัวเพื่อให้องค์กรมัน lean มากขึ้น ซึ่งสื่อใหญ่ๆ ก็อาจเห็นแล้วว่าจำนวนคนที่ไม่ต้องมากบางครั้งก็ทำงานได้เหมือนกัน แต่อาจไม่ได้ทำงานในประเด็นที่ครอบคลุมเท่ากับที่สื่อใหญ่มี อย่างไทยรัฐ เราเปิดมาทุกหน้าเจอข่าวตามหมวดต่างๆ เต็มไปหมดเลย แต่ตอนนี้คือสำนักข่าวอาจไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องขนาดนั้น สำหรับผมนะ อย่างเช่นตัวอย่างที่น่าสนใจมากคือ เร็วๆ นี้มันมีสำนักข่าวที่สนใจเฉพาะด้านจริงๆ อย่าง iLaw (องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม) เมื่อก่อนเราจะไม่เรียกว่าเป็นสำนักข่าวหรือเป็นสื่อ แต่เดี๋ยวนี้ iLaw ควบบทบาทเป็นสื่อเลย และทำหน้าที่ของสื่อในประเด็นเรื่องกฎหมาย ความไม่ยุติธรรมในสังคมได้ดีมาก เพราะว่าจุดที่คุณทำคือสิ่งที่คุณรู้ที่สุดแล้ว อย่างในญี่ปุ่นมีสื่อสำหรับ ‘ฮิกิโกะโมะริ’ หรือคนที่เก็บตัวอยู่บ้าน ก็มีเว็บไซต์หรือหนังสือพิมพ์สำหรับคนประเภทนี้เหมือนกัน

     ซึ่งการแตกกระจายแบบนี้ มันทำให้เรามีอิสระเสรีในการเลือกรับสารมากขึ้น สะท้อนความเป็นจริงของคนมากขึ้น สมมติผมเป็นคนพิการ ผมก็อาจจะอ่านที่สื่อสารกับคนพิการโดยเฉพาะ แต่ถามว่าผมสนใจเรื่องความอยุติธรรมด้วยไหม ก็ได้ ดังนั้นเวลาที่อ่านเราไม่จำเป็นต้องพุ่งไปที่ไทยรัฐ มติชน หรือสื่อเพียงไม่กี่เจ้าอีกต่อไป เราก็อ่านทีละนิดทีละหน่อยจากเว็บนั้นเว็บนี้ อย่าง The MATTER ไม่เคยบอกเลยว่า เราอยากให้คนอ่านเราอย่างเดียว เราอยากให้คนอ่านทุกอย่าง แล้วก็อ่านเราด้วย

โมเดลโฆษณาทำให้สื่ออย่างเรารอด เพราะเราไม่ได้มี overhead เยอะมาก

แต่ถ้าลองคิดดูว่าสักวันหนึ่งเรามีองค์กรที่มีคน 3,000 คน เราจะอยู่ได้อย่างไรกับงบโฆษณาที่ลดลงเรื่อยๆ

เมื่อสื่อใหญ่ๆ ไม่ได้เหมาความสนใจของคนอีกต่อไป แสดงว่าพื้นที่สื่อหลักจะลดลง

     สื่อใหญ่ๆ ยังมีพื้นที่อยู่ ยังมีอยู่แน่นอน เพราะบางทีสื่อที่ใหม่หน่อยอย่าง The MATTER เราก็ใช้ข้อมูลจากสื่อใหญ่เยอะ แล้วข้อดีของสื่อใหญ่คือมีกำลังเข้าถึงแหล่งข่าวต่างๆ หรือถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็สามารถส่งนักข่าววิ่งเข้าพื้นที่ไปได้เลย แต่อย่างสื่อเล็กๆ ที่มีทีมงาน 5 -10 คนไม่สามารถทำแบบนั้นแน่นอน ต้องยอมรับว่าสื่อใหญ่มีพลังในแง่ของทุนและพลังคน

 

อีกด้านหนึ่งสื่อใหญ่ก็มีภาระทั้งต้นทุนและคนที่ต้องแบกรับ ในขณะที่เทคโนโลยีทำให้การทำงานไม่ต้องใช้คนเยอะเท่าเมื่อก่อน แถมยังมีสื่อเล็กๆ ที่เกิดขึ้นใหม่แชร์พื้นที่ความสนใจ คุณคิดว่าองค์กรสื่อใหญ่ๆ จะอยู่รอดได้ไหม และถ้าจะอยู่รอดได้ต้องทำอย่างไร

     จริงๆ มีหลายอย่างมากที่ทำได้ อย่างแรกคือถ้าจะไม่ลดคน ผมคิดว่าต้องทำให้แตก ต้องแตกเป็นองค์กรเล็กๆ แล้วให้ทุกองค์กรข้างในแข่งขันกันเพื่อจะได้เห็นชัดว่าตรงไหนนำรายได้เข้ามา วิธีคิดแบบนี้คือวิธีคิดเพื่ออยู่รอด แต่ในทางคุณภาพก็คงต้องไปดูกันอีกที เพราะต้องยอมรับว่าสิ่งที่นำรายได้เข้ามาคือคอนเทนต์เชิงไลฟ์สไตล์ และธุรกิจ เช่น อาจต้องเขียนข่าวธุรกิจ ข่าวแกดเจ็ต ในขณะที่ข่าวการเมืองอาจไม่มีคนมาลงโฆษณามาก แล้วที่สำคัญคือใช้ต้นทุนเยอะกว่าการทำข่าวอื่นด้วย

     สุดท้ายแล้วสื่อต่างๆ ก็ต้องหาจุดแข็งของตัวเองว่าจะรักษาสมดุลใหม่ยังไงในโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป อาจจะต้องลองหาวิธีการประหยัดบางอย่าง เช่น เมื่อก่อนเวลาที่นายกฯ พูดอะไรที่ทำเนียบฯ นักข่าวก็กรูไปกันเยอะมาก แต่ปัญหาคือทุกคนได้ข่าวเหมือนกันเป๊ะ แถมบางทีก็ก๊อบส่งกันอีก ถ้ามองในแง่นี้มันเปลืองนะ ดังนั้นถ้าคุณคิดจะไปแล้ว ก็ต้องต่างกับคนอื่น และถามตัวเองว่าไปทำไม

 

สื่อพึ่งพารายได้เดียวจากโฆษณา คิดว่าเป็นโมเดลที่ช่วยให้สื่อในวันนี้รอดไหม

     ผมคิดว่าโมเดลโฆษณาทำให้สื่ออย่างเรารอด เพราะเราไม่ได้มี overhead เยอะมาก แต่ถ้าลองคิดดูว่าสักวันหนึ่งเรามีองค์กรที่มีคน 3,000 คน เราจะอยู่ได้อย่างไรกับงบโฆษณาที่ลดลงเรื่อยๆ และถูกหารออกไปมากขึ้นจากอินฟลูเอนเซอร์บ้าง สื่อใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าบ้าง มันจะอยู่ได้อย่างไร

     สิ่งที่สื่อใหญ่คิด อย่างหนึ่งคืออาจจะต้อง lean องค์กร หรืออาจต้องกระจายวิธีหารายได้ของตนเองไปทางอื่นบ้าง อย่าง The New York Times บอกว่าโอเค ฉันจะไม่พึ่งโฆษณาอย่างเดียวแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นการหารายได้จาก subscription หรือค่าสมาชิก โดยมีจุดประสงค์ว่าฉันจะทำข่าวที่ดีจนคุณต้องมาสมัคร ก็เป็นโมเดลหนึ่ง ซึ่งมันเวิร์กนะ รายได้ก็ดี แล้วก็ยังทำโมเดลอย่างอื่นล้อมรอบอีก อย่างคอนเทนต์ในส่วนทำอาหาร ก็ไปโคกับบริษัทวัตถุดิบอาหารที่สามารถสั่งได้เลย แล้วก็ได้ส่วนแบ่ง หรือหนังสือ ก็ได้ส่วนแบ่งจากการรีวิวค่าหนังสือนิดหน่อย รวมๆไปมันก็ไปกันได้

     แต่ถ้าจะนำโมเดลเก็บค่าสมาชิกแบบ The New York Times มาใช้ในไทยนี่ยากมากเลยนะครับ ยากมากจริงๆ ถ้าถามว่าตอนนี้ในยุคที่คนไทยเอาทุกคอนเทนต์มากองฟรีๆ บนออนไลน์ เราจะยอมจ่ายเงินเพื่อที่จะอ่านอะไรบ้าง น้อยมาก พูดถึงเรื่องข่าว อย่างเช่นเราอยากรู้เรื่องว่าวันนี้นายกฯ ทำอะไร ผมก็ไม่ยอมจ่ายเงินนะ ผมว่าผมรู้อยู่แล้ว ยังไงก็มีคนทำอยู่แล้ว

 

ถ้าข่าวเป็นคอนเทนต์ที่ไม่มีคนยอมจ่าย แล้วคอนเทนต์แบบไหนที่คนไทยจะยอมซื้อ

     ผมคิดว่าคอนเทนต์ที่คนไทยยอมจ่ายเงินมีอยู่ไม่กี่อย่าง อย่างแรกคือ พวกหุ้น ยอมลงทุนจ่ายแน่นอน อย่างที่สองคือ พวกทักษะต่างๆ ที่นำไปประกอบอาชีพได้ รวมไปถึงพวกสอนภาษา สอนทำนู่นนี่ อย่างนี้อยู่ได้ มันเหมือนว่าเราไม่ต้องการคอนเทนต์ที่ high-brow (คนรสนิยมสูง) มาก เราต้องการคอนเทนต์ที่ทำให้เราประกอบสัมมาชีพในสังคมได้ก่อน หรือคอนเทนต์ที่มีประโยชน์กับชีวิตเราในตอนนี้ คอนเทนต์แบบนี้ขายได้

 

พอรายได้ต้องพึ่งจากค่าโฆษณาเป็นหลัก แสดงว่าสื่อเก่าและสื่อใหม่ต้องแข่งกันแย่งแชร์พื้นที่ตรงนี้

     เวลาที่เราพูดถึงตัวแชร์ สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่พวกเพจที่เป็นสำนักข่าวออนไลน์ด้วยกันนะ แต่เงินจะไปสู่ individual มากขึ้น ไปสู่คนที่ทำเพจคนเดียวมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้เขาแบกต้นทุนคนที่น้อยกว่า เพราะทำคนเดียว อย่างเพจอีเจี๊ยบฯ โพสต์ละแสน เขาไม่ต้องลงเยอะ ก็ได้แสนนึง ซึ่งตอนนี้มีแบบนี้เยอะมาก อย่างในยูทูบก็มีแชนแนลรีวิวของกิน รีวิวนู่นนี่ ฉะนั้นเวลาที่เราพูดเรื่องเงิน เงินมันโอนไปที่ออนไลน์จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดในงบโฆษณาออนไลน์ที่เราเห็น เพราะมีเงินนอกระบบเยอะมาก มีเงินขายครีม ซึ่งก็ไม่ต้องลงหรือบอกสมาคมโฆษณาออนไลน์ว่าจะลงตรงๆ มีเยอะมาก

สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่สำนักข่าวออนไลน์ด้วยกันนะ แต่เงินจะไปสู่ individual มากขึ้น

ไปสู่คนที่ทำเพจคนเดียวมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้เขาแบกต้นทุนคนที่น้อยกว่า

 

ถ้าสื่อองค์กรใหญ่เจอปัญหา แล้วปัญหาขององค์กรสื่อเล็กๆ อย่าง The MATTER คืออะไร

     ผมคิดว่าถ้าเราปรับโฟกัสให้ดีจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราอยากทำเรื่องนู่นนี่ อยากทำไปหมด แบบนี้จะสะท้อนออกมาในผลงานว่าทุกอย่างก็แค่แตะๆ หรือแค่ผิวเผิน หรืออย่างหลายๆ ข่าวที่เราทำก็ไม่ได้ทำตามสำนักข่าวใหญ่ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาคลาสสิก เช่น ไม่สามารถเข้าถึงบางคนได้ เพราะว่าไม่ใช่ไทยรัฐ อะไรแบบนี้

     แต่โดยส่วนตัว เราโคตรไม่อยากให้ใหญ่ ถ้าใหญ่ปุ๊บ เราจะรู้สึก deform กลับไปสู่สื่อกระแสหลัก จะงงว่าแล้วสุดท้ายกูทำอะไรอยู่วะ เรื่องนี้ก็เล่น เรื่องนู้นก็เล่น ก็งงๆ เรารู้อะไรบ้าง งงๆ กับตัวเอง สุดท้ายเรื่องที่เราอยากทำจริงๆ คืออะไร พยายามจะทำให้ไม่ใหญ่มาก แต่โดยส่วนตัวซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับทีมขายโฆษณา อยากทำประเด็นที่เราเจาะแล้วเราไม่ปล่อยจริงๆ หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะตอนนี้รัฐบาลผ่านกฎหมายออกมาเยอะมาก แล้วคนตามไม่พอ แบบมือไม่พอที่จะตาม สนช. พ.ร.บ. คลื่นความถี่ก็จะปล่อยแล้ว พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของเรา เกี่ยวกับดิจิทัลทั้งหลาย แรงคนทำไม่พอ เรารู้สึกว่าอย่างน้อยคือสื่อหลักไม่เล่นแต่เราอยากทำ แต่ในเชิงการขาย เขาก็อยากให้เราทำอะไรที่มันหลากหลาย อย่าฮาร์ดคอร์มาก

     เราว่าการทำคอนเทนต์ ทำเพจสมัยนี้ มันอาจต้องคิดกลับจากสมัยก่อน เราอาจต้องสนใจสิ่งที่เราตัดออกมากกว่าสิ่งที่เราจะทำ คือในทุกๆ วัน มีเรื่องเกิดมากมาย เราต้องรู้ว่าจะไม่ทำอะไรมากกว่าจะทำอะไร แล้วถ้าเรารู้จริงๆ มันจะเอาอยู่ ไม่งั้นเหมือนเราเต้นตามอะไรไม่รู้

 

The MATTER โฟกัสข่าวอะไร

     เอาจริงๆ The MATTER โฟกัสจากเรื่องที่ผมสนใจ มันจะมีเรื่องที่เราไม่รู้เลยจริงๆ อย่างเช่น เรื่องข่าวภูมิภาคนี่เราไม่รู้เลย ข่าวพืชผลผลิตราคาตกต่ำ รู้น้อยมาก ถ้าจำเป็นต้องทำจริงๆ ก็ต้องไปสัมภาษณ์ ข่าวอุบัติเหตุก็น้อยมาก หรือเรื่องที่ไม่รู้จริงๆ อย่างกีฬาก็ไม่มีเลย

     สุดท้ายสำนักข่าวขนาดเล็กมันขึ้นอยู่กับคนที่ทำหรือบรรณาธิการเป็นหลักเลยนะ มันจะหนีไปจากนี้ไม่ได้ เพราะไม่ได้ใหญ่พอที่จะหนีไปจากคาแรกเตอร์ของคนทำ

 

สโลแกน ‘Make News Relevant’ ของ The MATTER หมายถึงอะไร

     จุดประสงค์ของเรามีอย่างเดียวเลยคือ ทำเรื่องที่ดูยากให้พอเข้าใจได้ เมื่อก่อนเวลาอ่านข่าวหนังสือพิมพ์จะหงุดหงิดมาก เวลาเจอข่าวที่อ่านแล้วไม่เห็นเข้าใจเลยว่าเกี่ยวกับเรายังไง นี่คือสิ่งที่ The MATTER ทำ แน่นอนบางประเด็นอาจต้องพูดว่ามันมีข้อดีข้อเสีย หรือเกี่ยวข้องกับคุณอย่างไร เรารู้สึกว่าการที่เรามาพูดว่ามันดีหรือแย่อย่างไร อย่างน้อยก็ทำให้คนอ่านรู้สึกว่ามันเกี่ยวกับคนอ่านจริงๆ

 

หลายครั้ง The MATTER มีจุดยืนหรือความเห็นต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งชัดเจนมาก คิดว่าสื่อเลือกข้างได้ไหม

     เราว่าเลือกได้ ก็ค่อนข้างชัดเจน อย่างเช่น พ.ร.บ. คอมฯ เราก็ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย หรือเรื่องน้องชัยภูมิ (ชัยภูมิ ป่าแส เด็กชาวลาหู่ที่มีข้อสงสัยว่าถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม) ก็พยายามจะรายงานว่าแต่ละฝ่ายพูดยังไง แต่ในใจก็รู้ว่าเราเลือกยืนข้างไหน เราไม่รู้ว่าเวลาที่คนบอกว่าไม่เลือกข้างคือยังไง แล้วจะถามได้ไหมว่าคนที่ไม่เลือกข้างเวลาคิดเรื่องนี้เขาเชื่อในแบบไหน ไม่เลือกข้างคือการพยายามบาลานซ์ข้อมูลทุกฝ่ายให้เท่าๆ กัน แต่การเท่าๆ กันอาจเป็นการเลือกข้างก็ได้นะ อย่างเช่นในกรณีที่เรารู้สึกว่ารัฐมีอำนาจในการควบคุมข่าวสารอยู่แล้ว แต่เราไปให้พื้นที่รัฐครึ่งหนึ่งกับพื้นที่ของอัลเทอร์เนทีฟครึ่งหนึ่ง จริงๆ แล้วเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้รัฐที่ควบคุมข่าวสารอยู่แล้วยิ่งได้พื้นที่มากไปอีก รู้สึกว่าถ้าเราชัดเจนว่าเราคิดอย่างไร ผมว่ามันจะโอเคกว่า

     หน้าที่ของคนรับสื่อ คือทุกอย่างมันก็ไหลรวมกันหมดอยู่แล้ว ก็อ่านเยอะๆ มันจะยิ่งดีซะอีกว่าสำนักข่าวนี้ประมาณไหน เราก็รู้อยู่แล้ว ก็หาอะไรมาบาลานซ์ ขณะเดียวกันหน้าที่ของการบาลานซ์อาจจะขึ้นอยู่กับหน้าที่ของคนอ่านด้วย

 

สิ่งที่พูดมามันเหมือนเราไปปักธงไว้ในใจหรือเปล่า หรือคุณมองว่าอย่างไร

     เราคิดว่าก่อนที่จะพูด เราหาข้อมูลจนรู้สึกว่าอย่างน้อยก็ปักไว้นิดหน่อยได้ แต่ตอนแรกๆ ที่ยังไม่มีฐานความรู้มากหรือรู้สึกศูนย์เลยอาจจะยังไม่ปัก แต่ก่อนสื่อสารออกไป น่าจะต้องมีธงแล้วนะ น่าจะมีบ้าง คือโอเคเราก็รู้ว่าการที่เราทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาจผิด แต่การมีธงเราไม่ปฏิเสธ แต่ก็ต้องเหลือพื้นที่ไว้บ้าง จะมากน้อยก็แล้วแต่เรื่อง

 

ในฐานะเจ้าของสื่ออย่าง The MATTER โจทย์ที่ยากที่สุดของคุณในวันนี้คืออะไร

     การบาลานซ์ระหว่างการอยู่ได้กับการอยู่กับตัวเองได้ คือคำว่า ‘อยู่ได้’ แน่นอนเป็นเรื่องเงิน ต้องขายโฆษณาได้ แต่การอยู่กับตัวเองได้คือขายโฆษณาแล้วยังมองหน้าตัวเองในกระจกได้อยู่ไหม

 

รายได้หลักๆ มาจากทางไหน

     ก็จะมาจากโฆษณานะ

 

เท่าที่สังเกต Advertorial ของ The MATTER จะไม่ใช่การโฆษณาหรือเอาคอนเทนต์ของแบรนด์มาลงห้วนๆ แต่จะเอามาบิดทำใหม่เล่าใหม่?

     ใช่ แต่ไม่ว่าโฆษณาจะบิดขนาดไหนก็มีคนด่าอยู่ดี (ยิ้ม)

 

นอกจากโฆษณาที่ขายพื้นที่ The MATTER มีโมเดลหารายได้ทางอื่นไหม

     ถามว่าเป็นโมเดลได้ไหม ยังไม่ได้หรอกครับ อย่างอีเวนต์ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำอยู่แล้วคือทำคอนเทนต์ให้องค์กร เขารู้ว่าโอเคก็จ้าง เพราะสื่อสารได้ คล้ายเป็นคอนเทนต์เอเจนซี

 

ทุกวันนี้คุณได้รับเชิญไปพูดที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เจอคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสื่อ เด็กรุ่นใหม่ตอนนี้มองสื่ออย่างไร มีความฝันแบบคนรุ่นหนึ่งที่อยากทำงานในองค์กรสื่อไหม

     เวลาถามว่าอยากจบมาทำอะไร ก็ไม่ได้อยากไปสื่อที่เป็นสถาบันแล้วนะ ส่วนใหญ่บอกว่าอยากทำเพจ อยากเปิดขายของในเฟซบุ๊ก ซึ่งเขารู้ว่ามันรวยกว่าเงินเดือนเริ่มต้นแน่นอน เท่าที่ถามมายังไม่มีคนที่สนใจทำงานกับสถาบัน อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ต่างจากเมื่อก่อนเวลาเราถาม แน่นอนคนอยากไปช่อง 3 อยากอยู่ itv แต่ตอนนี้ไม่มีเลย ทุกคนรู้ว่าไปช่องทางอินเทอร์เน็ตดีกว่า ไปทำช่อง live ของตัวเอง ทำช่องยูทูบของตัวเอง ทำเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง ทำเว็บตัวเอง หรือไม่ก็ทำอย่างอื่นไปเลย

 

ในฐานะคนทำสื่อที่ต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ คุณมองคนรุ่นใหม่อย่างไร

     เขาเข้าใจสื่อใหม่มากกว่าเรา คือเวลาเราโตแล้ว แก่แล้ว 30 กว่าแล้ว เราจะมาพร้อมกับรูปแบบการนำเสนอบางอย่าง แบบนี้ทำไม่ได้นะ แต่บางทีมันก็อาจทำได้ ผมยกตัวอย่างเช่น ผมโพสต์สเตตัสในโพรไฟล์ของผม ถ้าผมเห็นสเตตัสในโพรไฟล์ของคนอื่น ผมจะไม่แท็กเพื่อนคนอื่นที่ไม่รู้จักให้มาดู ถึงแม้ว่าจะเป็นสาธารณะก็ตาม ผมรู้สึกว่าโพรไฟล์นั้นเหมือนเป็นบ้านของเขา (หัวเราะ) แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ จะคิดว่าทั้งหมดมันเป็นสาธารณะ ดังนั้นเขาก็แท็กเพื่อนได้ ไม่ได้บอกว่าอันไหนถูกอันไหนผิดนะ แต่เขารู้สึกว่าจริงๆ มันทำได้ มันก็จะสะท้อนในเรื่องของการ live เรื่องของการใช้ภาษา ความแคชวลในการนำเสนอข่าว เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่าเราไม่อยากทำอย่างเพจ drama-addict แต่พอมายุคนี้ก็กลายเป็นไอดอล แล้วคนก็ทำตาม

     แล้วอีกเรื่องหนึ่งอาจไม่เกี่ยวกับสื่อมากคือเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานประจำ ซึ่งจะเป็นปัญหากับทุกองค์กร อย่าง The MATTER ก็เจอ คนสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะถามว่างานที่นี่ไม่ต้องประจำใช่ไหม ฟรีแลนซ์ได้ใช่ไหม ส่วนใหญ่จะถามแบบนี้ตลอด โดยเฉพาะสื่อใหญ่ๆ ที่เป็นสถาบันมากๆ แล้วต้องเข้างานเลิกงานตรงเวลา เขาต้องเจอปัญหานี้แน่นอน

 

สถานการณ์สื่ออยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงและผันผวน ถ้าให้คุณพยากรณ์ภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คุณพอมองเห็นอะไร

     คนทำสื่อที่มีทักษะอยู่แล้ว เชียร์ให้ทำอะไรเองกันเยอะๆ อย่าไปพึ่งพากับสถาบันใหญ่มาก ทำเรื่องที่ตัวเองสนใจ ให้เรียนรู้จริงๆ ถ้าเราทำเรื่องเดียว ยังไงก็ไม่มีคนรู้เท่าเราอยู่แล้ว อย่าไปมองว่าฉันต้องทำอันนั้นอันนี้มาก อย่างที่บอกว่าถ้าคนทำแบบนี้กันหมด มันก็อิ่มตัวเหมือนกัน แต่ถ้าคิดว่าเก่งพอก็ทำเองเลย ดีที่สุด ส่วนสื่อที่เป็นสถาบัน อย่างที่บอกไปว่าลองหาวิธีเปลี่ยนค่าใช้จ่าย เพราะที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายถูกใช้ไปกับ overhead ที่มันไม่จำเป็นเยอะ อย่างการส่งงานเป็นขั้นๆ หรือหมดเวลาไปกับชั่วโมงการทำงานที่จริงๆ อาจจะไม่ได้เอามาเป็นงานเยอะมาก ต้องหาวิธีลดต้นทุน

 

ซึ่งเป็นโจทย์ที่แต่ละท่านต้องไปคิดเอาเอง

     ใช่ (ตอบทันที)

FYI
  • The MATTER เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 แม้จะเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน ทีปกรบอกว่าเคยมีรายงานบางชิ้นเรียก The MATTER ว่าเป็นสื่อเจ้าเก่า นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าโลกและความสนใจของคนทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วมาก
  • 7 คน คือจำนวนทีมงานของ The MATTER แบ่งเป็นทีมคอนเทนต์ 3 คน เอดิเตอร์ 2 คน กราฟิกดีไซน์ 2 คน ซึ่งเป็นความตั้งใจของทีปกรที่ต้องการให้ทีมมีขนาดเล็ก เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้เอื้อกับขนาดองค์กรที่มีขนาดเล็กลง และแบกรับต้นทุนน้อยกว่า การบริหารงานคล่องตัวกว่า และมีโอกาสอยู่รอดทางธุรกิจสูงกว่า
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising