×

‘ต้องวางแผนไปถึงระดับโลก’ Edgar Hardless ซีอีโอ Singtel Innov8 มองคลื่นลูกใหม่ของสตาร์ทอัพไทยจาก AIS The StartUp

11.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ปัญหาสำคัญของสตาร์ทอัพไทยคือมองแค่ตลาดในประเทศ โดยไม่ได้วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เข้าถึงตลาดอื่นตั้งแต่แรก ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่จะเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพที่มีแผนธุรกิจชัดเจน และมีโอกาสขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอื่นหรือระดับโลก
  • Mentor ที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจและเข้าใจตลาดต่างประเทศ จะช่วยเปิดมุมมองของคนทำสตาร์ทอัพให้ตั้งเป้าหมายไกลยิ่งขึ้น
  • สตาร์ทอัพต้องเข้าใจตลาดที่รองรับผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเอง ศึกษาคู่แข่ง และหาจุดยืนที่แตกต่างไปจากธุรกิจรายอื่นให้เจอ

     เรียกได้ว่าเป็นปีที่ AIS ขยับตัวครั้งใหญ่อย่างเห็นได้ชัด ล่าสุดโครงการ AIS The StartUp ได้พา 4 สตาร์ทอัพไทย ได้แก่ FoodStory, FlowAccount.com, AIYA และ Keycieve ไปนำเสนอผลงานไกลถึงต่างแดน ในงาน Product Innovation Fair 2017 เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 3-4 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

     ไม่เพียงเท่านั้น ทาง AIS ยังชวน เอ็ดการ์ ฮาร์ดเลส (Edgar Hardless) ซีอีโอแห่ง Singtel Innov8 หน่วยลงทุน หรือ Corporate Venture Capital (CVC) ในเครือบริษัท Singtel เทเลคอมยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนทั่วโลกทั้งในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล ออสเตรเลีย และเอเชีย ที่มีประสบการณ์นำ 4 บริษัทเข้าตลาดหุ้นในสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งสร้างสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น 3 ราย ได้แก่ Arista Networks, Jasper Wireless และ Ruckus มาร่วมแชร์ประสบการณ์และให้คำแนะนำกับสตาร์ทอัพไทยทั้ง 4 ทีม ในฐานะ Mentor พิเศษอีกด้วย




     ด้าน ดร. ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS The StartUp เผยว่า ถือเป็นโอกาสพิเศษสำหรับสตาร์ทอัพไทยเลยทีเดียว เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็น Mentor ระดับซีอีโอ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการส่งเสริมสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาร่วมให้คำแนะนำและติวเข้มเกี่ยวกับแผนธุรกิจด้วยตัวเอง

     “เอ็ดการ์เดินทางไปหลายประเทศ เขามีประสบการณ์ตรงในการพูดคุยและลงทุนกับสตาร์ทอัพมากมายทั่วโลก ดังนั้น เขาสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นให้กับสตาร์ทอัพไทยได้โดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น AIS The StartUp กับ Singtel Innov8 จะร่วมกันติดตามผลการดำเนินงานของสตาร์ทอัพที่ได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำจาก Mentor อย่างต่อเนื่อง
“นักกีฬาโอลิมปิกต้องมีโค้ชคอยแนะนำทักษะและเทคนิค การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็เช่นกัน จะต้องมี Mentor ที่คอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และเป็นเหมือนคนคอยดูเข็มทิศให้สตาร์ทอัพขับเคลื่อนธุรกิจของเขาไปในเส้นทางที่ดีที่สุด เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่เขาตั้งไว้”

 

     THE STANDARD ได้พูดคุยกับ เอ็ดการ์ ฮาร์ดเลส ถึงโอกาสและความท้าทายสำคัญที่สตาร์ทอัพไทยต้องก้าวข้ามไปให้ได้ในวันนี้

 

 

คุณคิดอย่างไรกับวงการสตาร์ทอัพไทยในปัจจุบัน หลังจากได้พูดคุยและให้คำปรึกษากับทั้ง 4 ทีม

     ผมติดตามสถานการณ์ของสตาร์ทอัพไทยมานาน ตั้งแต่ AIS เปิดตัวโครงการ AIS The StartUp ปี 2011 ผมเห็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของสตาร์ทอัพในไทย ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ ผลงานของทั้ง 4 ทีมถือว่าน่าสนใจมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผมได้เห็นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พวกเขามองไปถึงเรื่องของ Internet of Things (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงกันแพร่หลายในปัจจุบัน มันสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยตื่นตัวกับเทรนด์ใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีกันมากขึ้น และมองหาโอกาสว่าจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาออกแบบวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตลาดในไทยอย่างยิ่ง

 

ทำไม Mentor จึงสำคัญกับการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ

     การให้คำปรึกษาเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ผมคิดว่าโครงการ AIS The StartUp ไม่เพียงเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้พบกับ Mentor ชั้นนำในไทย แต่รวมไปถึง Mentor จากประเทศอื่นที่สามารถถ่ายทอดมุมมองของตลาดในภูมิภาคหรือระดับโลกได้ ผู้ประกอบการควรเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ถ้าอยากจะขยายตลาดออกไปนอกประเทศ ในฐานะตัวแทนจากบริษัท Singtel เรายินดีที่ได้พบและพูดคุยกับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาค้นพบความต้องการของตัวเอง และรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป

 

คุณคิดว่าโครงการ AIS The StartUp จะช่วยพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยให้แข่งขันกับบริษัทชั้นนำในอาเซียนหรือก้าวสู่เวทีโลกได้ไหม

     AIS เชี่ยวชาญในตลาดไทย ช่วยให้เขาทำตลาดในไทยได้เป็นอย่างดี ผมคิดว่า การพา 4 สตาร์ทอัพไทยไปนำเสนอผลงานในประเทศออสเตรเลีย จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจวิธีการต่อยอดไอเดียและขยายธุรกิจออกไปสู่ตลาดในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่เจ้าของสตาร์ทอัพจะต้องวางแผนขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาค หรือระดับโลกตั้งแต่แรก

 

 


ทำไมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในออสเตรเลียจึงน่าสนใจ

     ออสเตรเลียมีประวัติศาสตร์ด้านนวัตกรรมมายาวนาน และบริษัท Optus โอเปอเรเตอร์ในเครือ Singtel ก็เป็นธุรกิจเทเลคอมที่มีบทบาทสำคัญในออสเตรเลีย จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอบริษัทชั้นนำและลงทุนกับสตาร์ทอัพที่นี่ ผมบอกได้เลยว่า ผู้ประกอบการในออสเตรเลียเป็นคนกระตือรือร้นและมีไอเดียสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยม เราพยายามทำทุกวิถีทางที่จะสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพที่นี่ เช่นเดียวกับในประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นระบบนิเวศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เบ่งบานเต็มที่ เต็มไปด้วยสตาร์ทอัพที่คิดค้นทางแก้ปัญหาที่ดีจริงๆ ที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยและชาวออสเตรเลียได้เปรียบตรงที่เข้าใจปัญหาของคนท้องถิ่นได้ลึกซึ้งกว่า จึงสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เคล็ดลับที่ช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยก้าวไปสู่ระดับภูมิภาคหรือเวทีโลกได้สำเร็จคืออะไร

     ข้อแรก คุณต้องเข้าใจในตลาดที่ต้องการจะไปก่อน รู้ว่าธุรกิจมีตลาดรองรับจริงไหม ลูกค้าที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการอยู่ที่ไหน มันสำคัญมากที่จะต้องศึกษาวิจัยว่าคู่แข่งคือใคร และมีเจ้าไหนอยู่ในตลาดเดียวกันกับคุณ เจ้าของสตาร์ทอัพมักจะเชื่อมั่นในไอเดียของตัวเองว่า ไม่มีใครเคยคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เจ๋งแบบนี้ แต่ในความเป็นจริง อาจจะมีคนที่คิดและทำก่อนแล้วก็เป็นได้ ฉะนั้น คุณต้องศึกษาว่าคู่แข่งคือใคร เปรียบเทียบจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ของตัวเองกับคู่แข่งรายอื่น ท้ายที่สุดแล้วสตาร์ทอัพที่ก้าวไปสู่ระดับโลกได้สำเร็จ ก็จะต้องแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลก ดังนั้น คุณต้องแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองแตกต่างไปจากคู่แข่งจริง

 

 

ในฐานะนักลงทุนที่เจนสนาม คุณตัดสินใจเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพจากปัจจัยอะไรบ้าง

     สตาร์ทอัพต้องมีทีมที่ดี มีประสบการณ์ และเข้าใจเทคโนโลยีในตลาดเป้าหมาย นี่คือสิ่งสำคัญต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น (Early Stage) ผมมักจะตั้งคำถามว่า พวกเขาเห็นโอกาสแบบไหนในตลาด หรือมองแค่ตลาดในประเทศอย่างเดียว เขาเชื่อว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของตัวเองจะขยายไปสู่ตลาดโลกได้หรือไม่ ในฐานะนักลงทุน ผมสนใจวิธีแก้ปัญหา (Solution) ว่ามีศักยภาพมากพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดระดับภูมิภาคหรือระดับโลกหรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่ใหญ่กว่า ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าสตาร์ทอัพโลคัลจะไม่ได้รับโอกาสที่ดีนะครับ แต่นักลงทุนจากต่างประเทศจะมองหาธุรกิจที่มีโอกาสมากกว่าและขยายตลาดออกนอกประเทศได้ ที่สำคัญนักลงทุนจะเชื่อมั่นในสตาร์ทอัพก็ต่อเมื่อพวกเขามี execution plan หรือแผนงานที่ปูทางไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างชัดเจน

 

ความท้าทายของการลงทุนสตาร์ทอัพในไทยและภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบันคืออะไร

     ผมคิดว่าสิ่งที่ท้าทายในตอนนี้ก็คือ การหา Mentor มาเข้าร่วมในโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Innov8 Sparks ของ Singtel หรือ AIS The StartUp เพื่อให้สตาร์ทอัพมีโอกาสพูดคุยปรึกษาแผนธุรกิจกับ Mentor ได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ดี ในฐานะ CVC เรามองว่าสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินลงทุน ควรจะมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนว่า ต้องการแก้ปัญหาอะไร ทำไมวิธีการของพวกเขาจึงตอบโจทย์มากที่สุด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแพสชันที่น่าชื่นชม แต่ยังไม่ได้คิดอย่างรอบด้าน พวกเขาจำเป็นต้องสร้างธุรกิจที่มอบผลตอบแทนที่ดีกลับคืนไปยังนักลงทุนเช่นกัน

 

คุณคาดหวังอะไรจากการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยในโครงการนี้

     เราทำงานร่วมกับ AIS และโครงการ AIS The StartUp อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะพาสตาร์ทอัพไทยไปเยือนประเทศออสเตรเลีย และสัมผัสกับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในออสเตรเลีย รู้จักนักลงทุน Mentor และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เราหวังว่าทริปนี้จะช่วยเปิดมุมมองของสตาร์ทอัพไทยให้กว้างขึ้น จากการพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการในตลาดอื่นๆ ตลอดจนแลกเปลี่ยนปัญหาที่พบเจอเหมือนๆ กัน แม้ว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นจะเจอโจทย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละตลาด แต่ผู้ประกอบการไทยสามารถเรียนรู้จากปัญหา และแนวทางแก้ไขจากคนทำธุรกิจในออสเตรเลียเช่นกัน ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสดีที่นักลงทุนต่างชาติจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย


     ติดตามซีรีส์บทความ AIS The StartUp Visits Australia ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า

 

Photo: AIS The StartUp

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising