นิวซีแลนด์เตรียมปล่อยไวรัสสายพันธุ์พิเศษเพื่อลดจำนวนประชากรกระต่ายป่าในเดือนนี้ หลังพวกมันแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวนี้ถูกต่อต้านจากองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีที่โหดร้ายป่าเถื่อน นอกจากนี้ยังสร้างความกังวลให้กับผู้ที่เลี้ยงกระต่าย เพราะสัตว์เลี้ยงของพวกเขาอาจเสี่ยงติดเชื้อด้วย
กระทรวงอุตสาหกรรมขั้นต้น (MPI) ของนิวซีแลนด์ระบุว่า กระต่ายป่าเป็นตัวปัญหาของเกษตรกรนิวซีแลนด์มาอย่างยาวนาน โดยนอกจากจะบุกรุกพื้นที่ปศุสัตว์แล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับผืนดินที่พวกมันขุดโพรงเป็นที่อยู่ด้วย โดยในอดีตที่ผ่านมา กระต่ายป่าทำให้นิวซีแลนด์สูญเสียผลผลิตทางการเกษตรคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 36 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
สำหรับไวรัสที่ทางการนิวซีแลนด์จะเริ่มแพร่กระจายเพื่อกำจัดกระต่าย คือไวรัส RHDV1-K5 สายพันธุ์ใหม่จากเกาหลี เมื่อกระต่ายติดเชื้อจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายในของกระต่าย โดยทำให้เกิดอาการชักกระตุก เป็นไข้ เลือดแข็งตัว และเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจนกระทั่งตายในที่สุด ซึ่งใช้เวลาเพียง 2-4 วัน
นิวซีแลนด์ชี้แจงว่าการใช้วิธีดังกล่าวจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการวางยาพิษ การรมควันพิษในโพรง หรือติดตั้งรั้วป้องกันกระต่าย เนื่องจากจำนวนประชากรของพวกมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนยากจะควบคุม
ในปี 1997 นิวซีแลนด์เคยใช้ไวรัส Rabbit Haemorrhagic Disease Virus (RHDV) เพื่อควบคุมจำนวนประชากรกระต่ายมาแล้ว ซึ่งได้ผลอย่างมาก แต่หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี พวกกระต่ายก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดี ทางการนิวซีแลนด์ยืนยันว่า การใช้ไวรัส RHDV1-K5 จะทำลายเฉพาะกระต่าย และไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ชนิดอื่นอย่างแน่นอน
ด้านสหพันธ์เกษตรกรของนิวซีแลนด์ (FF) ได้ออกมาขานรับวิธีการของรัฐบาลครั้งนี้ โดยระบุว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาลงอย่างมาก เพราะมีชาวไร่ชาวนาบางส่วนที่เริ่มสิ้นหวังกับปัญหากระต่ายแล้ว หากไม่ใช้ไวรัส พวกมันจะสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม องค์กรป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (SPCA) ได้ออกมาต่อต้านการตัดสินใจของรัฐบาลนิวซีแลนด์ โดยระบุว่าไวรัสอาจทำให้กระต่ายเลี้ยงเสี่ยงติดเชื้อด้วย พร้อมกับเรียกร้องให้ใช้วิธีที่มีมนุษยธรรมมากกว่านี้
SPCA ยังแสดงความกังวลด้วยว่า ปัจจุบันยังไม่มีการทดสอบวัคซีนป้องกันไวรัสสำหรับกระต่ายบ้านอย่างเพียงพอจนแน่ใจได้ว่าสามารถป้องกันไวรัสได้จริง แต่กระทรวง MPI ยืนยันว่ากระต่ายเลี้ยงที่ฉีดวัคซีนจะปลอดภัยอย่างแน่นอน เพราะออสเตรเลียเคยใช้ไวรัสสายพันธุ์ K5 เมื่อปีที่แล้ว และยังไม่เกิดกรณีที่กระต่ายเลี้ยงตายจากไวรัสดังกล่าว
อ้างอิง: