‘ไม่ล้มกระดาน แต่จะอยู่ได้นานแค่ไหน?’ คำถามนี้ปรากฏขึ้นในความคิด หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตัวจริงทั้ง 200 คน และรายชื่อสำรอง 99 คน อย่างเป็นทางการ รอดพ้นจากข้อหา ‘ยื้อ’ ให้ สว. ชุดเดิมรักษาการยาวนาน
ด้าน 250 สว. ชุดเก่าเองก็ได้เวลา ‘คืนกุญแจ’ ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาโดยดี หมดซึ่งเหตุผลและความจำเป็นจะต้องฝืนอยู่ต่อไป แม้แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือก สว. ที่อุตส่าห์ฝ่ากระแสตั้งขึ้นมา ก็มีอายุงานได้เพียง 1 วัน ก่อนจะ ‘สิ้นสภาพ’ ไป
ทว่าฉากต่อไปข้างหน้ามีอะไรรออยู่? ทั้งความลักลั่นของกระบวนการเลือกที่ กกต. น่าจะต้องแก้อีกหลายปม ไปจนถึงการทำงานจริงของวุฒิสภา ชุดที่ 13 ที่สังคมก็ยังตั้งแง่ ท้ายที่สุดแล้วแม้จะหมดช่วงมรสุมของสนามแข่งขัน แต่ช่วงเวลานับจากนี้ไป ‘ของจริง’ เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
ภารกิจ กกต. จบ แต่คำถามยังไม่จบ?
เป็นระยะเวลาราว 13 วัน กว่าที่ กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือก สว. อย่างเป็นทางการ (นับจากวันที่ 27 มิถุนายน เนื่องจากนับคะแนนกันจนข้ามวัน) ช่วงเวลาดังกล่าวถือได้ว่าไม่ช้าไม่เร็ว เมื่อเทียบกับสารพัดเรื่องร้องเรียนที่ประเดประดังเข้ามาเกี่ยวกับความไม่สุจริตเที่ยงธรรมในกระบวนการเลือก ทั้งร้องมายัง กกต. เอง กระทั่งขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
หลังจาก กกต. ประชุมกันหลายต่อหลายรอบ ด้วยข้ออ้างว่ามติยังก้ำกึ่ง และยังต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนให้ครบถ้วน ท้ายที่สุด วันที่ 10 กรกฎาคม แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. จึงได้เผชิญหน้ากับสื่อมวลชน พร้อมแจ้งว่า “การเลือก สว. ครั้งนี้มีความสุจริตเที่ยงธรรม จึงมีมติให้ประกาศผลการเลือก”
แสวงแจกแจงเหตุผลของ กกต. ว่าประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่
- คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม
ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงประเทศ แสวงเผยว่า ผู้อำนวยการเลือกของทุกระดับได้ลบชื่อบุคคลที่เห็นว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไปแล้วกว่า 2,000 คน และได้แจก ‘ใบส้ม’ หรือสั่งระงับสิทธิชั่วคราวให้ผู้สมัครที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติไปแล้วถึง 89 คน
- การดำเนินการในวันเลือก สว.
มีเรื่องในทำนองนี้ร้องมายัง กกต. แล้ว 3 เรื่อง ซึ่งพิจารณาแล้วเสร็จทั้งหมด ส่วนสำนวนที่ร้องไปยังศาลฎีกา 18 คดี ก็ยกคำร้องทั้งหมดแล้ว จึงถือว่ากระบวนการเลือกเป็นไปโดยชอบ
- ความไม่สุจริตเที่ยงธรรม
จัดได้ว่าเป็นข้อที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุด เพราะหมายรวมถึงการจัดตั้งหรือฮั้ว แสวงระบุว่า เรื่องนี้สำนักงาน กกต. ได้รวบรวมพยานหลักฐานที่มีลักษณะเป็นขบวนการซึ่งต้องพิสูจน์ อาศัยความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน
ดังนั้น ในเมื่อยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่ากระบวนการเลือก สว. เป็นไปโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม เพราะ กกต. เองก็ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้รวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมาแก้ข้อกล่าวหา ด้วยเหตุดังกล่าว กกต. จึงสามารถประกาศผลการเลือก สว. ตัวจริง 200 คน เพื่อให้เปิดสภาได้ และบัญชีสำรอง 99 คน จากที่ควรมี 100 คน
อย่างไรก็ตาม ยังมี สว. จากกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ที่ กกต. ได้แจก ‘ใบส้ม’ ให้ 1 คน ที่ กกต. ไม่ได้แจ้งทันทีว่าคือใคร แต่ภายหลังก็พบว่าคือ คอดียะฮ์ ทรงงาม สว. จากอ่างทอง อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า และมีประสบการณ์เป็นเสียงตามสายในหมู่บ้าน ซึ่งปรากฏว่ามีตำแหน่งที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทองด้วย ถือว่าเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้ถูกระงับสิทธิ
เป็นเหตุให้ สว. ที่ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 11 ในกลุ่ม 18 ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นตัวจริง คือ ว่าที่ พ.ต. กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ และผ่านหลักสูตรของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
กระนั้นเอง เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่า การรับรองรายชื่อสำรองเพียง 99 คน จะขัดต่อกฎหมายที่กำหนดให้ กกต. รับรองรายชื่อสำรองทั้ง 100 คนหรือไม่ แสวงตอบง่ายๆ ว่า “ก็ทำไปแล้ว” และอ้างถึงระเบียบการเลือก สว. ที่ให้ กกต. สามารถเลื่อนรายชื่อสำรองขึ้นมาแทนได้
จะเห็นได้ว่าการชี้แจงของ กกต. ตลอดจนเหตุผลในการรับรอง สว. ชุดใหม่ ดูจะเต็มไปด้วยความรวบรัด และยังทิ้งปัญหาทางกฎหมายมากมายให้ขบคิด ตั้งแต่การระงับสิทธิผู้สมัครชั่วคราว แล้วหากผู้สมัครคนนั้นผ่านกระบวนการทางกฎหมายจนพิสูจน์ได้ว่าตนเองมีคุณสมบัติ จะกลับไปชดเชยตำแหน่งให้ผู้สมัครย้อนหลังหรือไม่ อย่างไร
และหาก สว. ที่โดนใบส้ม ไม่รับรองเป็น สว. และคะแนนโหวตเกือบ 20 ครั้งที่บุคคลนั้นเคยลงคะแนนให้ทั้งผู้อื่นและตนเอง จะนับเป็นโมฆะหรือไม่ หรือจะปล่อยไปอย่างไม่มีผลย้อนหลัง ตลอดจน กกต. ชุดนี้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องแล้วจริงหรือไม่ เพราะยังมีช่องโหว่และความย้อนแย้งระหว่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และระเบียบ กกต. อยู่
แม้การเร่งรับรอง สว. จะช่วยให้การทำงานของรัฐสภาสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไร้ภาวะสุญญากาศเนิ่นนาน แต่การเปลี่ยนผ่านในฟากของ กกต. เองก็ไม่ได้ราบเรียบเสียทีเดียว จึงยังเป็นอีกประเด็นที่น่าติดตามต่อว่า กกต. จะมีโอกาส ‘ตกม้าตาย’ ในทางกฎหมายเสียเองหรือไม่
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
หยั่งเชิง สว. หน้าใหม่ พาการเมืองไทยไปทางไหน?
สำหรับกระบวนการต่อไป สว. ชุดใหม่จะต้องเดินทางไปรับหนังสือรับรองจาก กกต. ตั้งแต่วันที่ 11-12 กรกฎาคม และเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคมเป็นต้นไป และจะเปิดรับรายงานตัวจนกว่าจะครบ 200 คน เว้นวันหยุดราชการ
จากนั้นจะมีหนังสือนัดประชุมวุฒิสภาครั้งแรก ภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน หลังประกาศผลอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ สว. ปฏิญาณตนเข้าทำหน้าที่ ตามด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ และรองประธานคนที่ 1 และคนที่ 2 ต่อไป
ในการประชุมนัดแรก ข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกที่มีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราวไปจนกว่าจะเลือกประธานตัวจริงได้ จึงเป็น พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี ในวัย 78 ปี จากกลุ่ม 20 กลุ่มอื่นๆ ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว
THE STANDARD ได้รวบรวมข้อมูลของ สว. ทั้ง 200 คนไว้ให้ติดตามแล้ว ทาง: https://thestandard.co/thai-senate-election-2024/the-last-200/?gid=1
จากการรวมข้อมูลสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าวุฒิสภาชุดนี้ประกอบไปด้วยพลเรือนเป็นส่วนใหญ่ และมีกลุ่มอดีตทหารหรือตำรวจน้อยมาก ต่างจากวุฒิสภาชุดก่อนหน้าที่มีทหารและตำรวจจากการสรรหามากกว่า 100 คน โดยเฉพาะทหารบก
นอกจากนี้ วุฒิการศึกษาก็ยังมีความแตกต่างกัน โดยวุฒิสูงสุดคือปริญญาเอก และมีไปจนถึงระดับประถมศึกษา กระทั่งการศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย ยังมิต้องเอ่ยถึงความรู้ความชำนาญที่หลากหลายตามวิชาชีพ จนอาจเรียกได้ว่าตรงตามเจตนารมณ์ของการแบ่งเป็น 20 กลุ่ม
ถึงกระนั้น ในบรรดา สว. จากเบื้องหลังที่แตกต่างกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธถึงจุดร่วมบางอย่าง นำมาสู่การแบ่ง สว. เป็น ‘สาย’ หรือ ‘สี’ ต่างๆ สุดแท้แต่จะจำแนกตามจุดยืน อุดมการณ์ หรือความเกี่ยวข้องโยงใยกับขั้วอำนาจทางการเมืองต่างๆ หลักฐานเองก็มีทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้
เฉพาะที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มองเห็น THE STANDARD พยายามแยกแยะ สว. ออกเป็น ‘สี’ ต่างๆ ตามความเชื่อมโยงไว้ โดยเฉพาะ ‘สว. สีน้ำเงิน’ ที่ค่อนข้างมีจำนวนมาก ดูได้ทาง:
ปัจจัยตรงนี้เองจะเป็นข้อบ่งชี้สำคัญถึงการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาชุดใหม่ และที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างยิ่งคือ มากกว่า 67 เสียงที่จะยกมือเห็นชอบให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตลอดจนการสรรหาบุคคลเข้ามาทำงานในองค์กรอิสระอีกจำนวนมาก จึงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดว่าในวาระอีก 5 ปีต่อไป สว. ชุดนี้จะผลักพาประเทศไปในทิศทางใด
และเมื่อความเคลื่อนไหวเริ่มปรากฏชัด สังคมไทยได้เห็น ‘ธาตุแท้’ ของ สว. ชุดนี้ คงมีการตั้งคำถามกันต่อถึง ‘กระบวนการเลือก สว.’ ครั้งนี้ว่าทำให้เราได้ สว. มาอย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่ ควรนำมาใช้ต่อไป หรือที่ผ่านมาควรเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย? แม้กระทั่งการมีอยู่ของวุฒิสภาเองก็ไม่วายว่าคงจะถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า ยังมีความจำเป็นต่อการเมืองไทยอีกหรือไม่?
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา