×

ตั้งกระทรวงใหม่ ควบรวม ก.วิทย์-สกอ.-หน่วยงานวิจัยของประเทศทั้งหมด เสร็จภายในรัฐบาลนี้

โดย THE STANDARD TEAM
20.05.2018
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ประจำปี 2561 เรื่องกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา ว่าขณะนี้มีความสับสนกรณีการยุบกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขอชี้แจงว่าจะไม่มีการยุบกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แต่จะมีการควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานให้ทุนวิจัยของประเทศทั้งหมด เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฯลฯ มาเป็นกระทรวงใหม่ เบื้องต้นชื่อกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา หรืออาจจะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุดมศึกษา โดยการควบรวมดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และปฏิรูปประเทศไทยสู่ 4.0

 

สำหรับเหตุผลในการควบรวมมี 4 ข้อคือ

 

1. เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 กระทรวงที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องตอบโจทย์อาชีพคนไทยในอนาคตได้

 

2. เตรียมผู้ประกอบการสู่ศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพและ SMEs

 

3. เตรียมเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์

 

4. ประเทศไทยกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ซึ่งต้องพัฒนาทั้งกำลังคนและเทคโนโลยี

 

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ต้องการแยก สกอ. ออกจากกระทรวง เพราะต้องการปรับสถานะของมหาวิทยาลัยใหม่ให้มีบทบาทชัดเจนขึ้น ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้น บทบาทในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้หน่วยงานวิจัยของประเทศก็อยู่กระจัดกระจายและซ้ำซ้อน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการจัดองคาพยพใหม่เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่าโครงสร้างกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษาจะมี 4 กลุ่มงาน

 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มงานนโยบายและวางแผนงบประมาณ ทุนวิจัย (ทั้งทุนวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์) และประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ

 

กลุ่มที่ 2 กลุ่มสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จะใช้รูปแบบคล้ายกับของสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Sciences) ในกลุ่มนี้จะมีเรื่องงานวิจัยดาวเทียม ดาราศาสตร์ นิวเคลียร์ ซินโครตรอน จะมีหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

 

กลุ่มที่ 3 กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นทั้งการวิจัยพื้นฐาน วิจัยสู่อนาคต และวิจัยประยุกต์ ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์

 

กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่

 

โครงสร้างกระทรวงใหม่จะสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้

 

เมื่อถามว่าขณะนี้มีการทำ พ.ร.บ. การอุดมศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วเพื่อตั้งกระทรวงอุดมศึกษา จะมีผลกระทบหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่าไม่กระทบ โดยสามารถนำสิ่งที่ทำอยู่มาปรับเปลี่ยนและต่อยอดกันได้ ขั้นตอนจากนี้จะมีการหารือกับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งคณะทำงานการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ถามอีกว่าถ้ามีการควบรวมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับ สกอ. ตำแหน่งซี 11, ซี 10 รวมทั้งตำแหน่งบริหารจะมีปัญหาหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่าไม่มีปัญหา เพราะกระทรวงใหม่น่าจะมีรูปแบบใช้ระบบราชการน้อยมาก จะใช้ระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ ตั้งง่าย ยุบง่าย

 

เมื่อถามอีกว่าจะมีหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ใดอยู่หรือไปสังกัดกระทรวงอื่นหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่าไม่น่าจะมี เพราะตามโครงสร้างมีการแบ่งงานกันชัดเจน กระทรวงใหม่ที่ตั้งขึ้นมองประเทศไทยไปสู่อนาคตโดยใช้วิทยาศาสตร์สร้างชาติ เพราะในประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่นก็มีการนำกระทรวงวิทยาศาสตร์กับกระทรวงศึกษาธิการมารวมกัน ในยุโรปอย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ก็มีการตั้งกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษาขึ้นมารูปแบบเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการ ยืนยันว่ากระทรวงใหม่จะตอบโจทย์อนาคตของประเทศได้ เป็นการปฏิรูประบบราชการอย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X