ย้อนหลังกลับไปในเดือนเมษายน 2021 โลกฟุตบอลถูกเขย่าอย่างรุนแรงด้วยการประกาศแผนการก่อตั้งรายการแข่งขันใหม่ ‘ยูโรเปียนซูเปอร์ลีก’ (หรือซูเปอร์ลีก) ที่ถูกมองว่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเกมลูกหนังที่ทุกคนรักให้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมตลอดกาล
เช่นนั้นเองที่ผู้คนในโลกฟุตบอลต่างลุกฮือเพื่อต่อต้านซูเปอร์ลีกอย่างรุนแรง เราได้เห็นการรวมพลังประท้วงอย่างรุนแรงของแฟนฟุตบอลโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษที่แฟนๆ ของสโมสรที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และเชลซี ได้แสดงพลังอันน่าเกรงขามออกมาว่าฟุตบอลที่ไม่มีแฟนบอลอยู่ในนั้นไม่ใช่เกมฟุตบอล
การประท้วงในครั้งนั้นนำไปสู่การทยอยถอนตัวของสโมสรผู้ร่วมก่อตั้ง ก่อนที่สุดท้ายซูเปอร์ลีกจะถูกพับแผนไปคล้ายกับการประกาศยกธงขาวยอมแพ้ โดยสโมสรที่ร่วมก่อการได้ถูกลงโทษโดยสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป แม้ว่าโทษนั้นจะถูกลดทอนความรุนแรงในเวลาต่อมามากจนแทบไม่ส่งผลอะไรเลยก็ตาม
นอกจากนี้สโมสรฟุตบอลหลายแห่งถูกกดดันจากแฟนฟุตบอลให้มีการรวมแฟนบอลเข้าไปในบอร์ดบริหารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก เช่นเดียวกันกับลีกต่างๆ ที่พยายามหาทางป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นคำทำนายของผู้เชี่ยวชาญและคนในวงการลูกหนังคือ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วรายการแบบซูเปอร์ลีกจะกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน ซึ่งล่าสุด The Times จากประเทศอังกฤษได้เปิดเผยถึงรายละเอียดของแผนการนำซูเปอร์ลีกกลับมาอีกครั้งจาก Presentation
นี่คือรายละเอียดของแผนการดังกล่าวที่มีการเปิดเผยออกมา
- The Times ได้รับ ‘Presentation’ จากสโมสรแห่งหนึ่งที่สนใจในโปรเจกต์ซูเปอร์ลีก โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อแต่อย่างใด
- ใน Presentation ระบุชัดว่ามีความตั้งใจที่จะนำยูโรเปียนซูเปอร์ลีกกลับมาอีกครั้งภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้
- สาเหตุนั้นเกิดจากความกังวลใจของสโมสรฟุตบอลในยุโรปต่อการที่สโมสรฟุตบอลจากอังกฤษกำลังเริ่มครองวงการ ไม่เพียงแค่ในเรื่องของรายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันที่สูงกว่าลีกอื่นมหาศาล ยังมีสโมสรที่ได้รับการสนับสนุนจาก Hedge Fund, Public Investment Fund รวมถึงชีคผู้ครองนครในตะวันออกกลาง และเหล่าผู้มีอำนาจ
- ในเอกสารตอนหนึ่งมีการระบุว่า ‘ในฤดูร้อนที่ผ่านมา สโมสรจากพรีเมียร์ลีกใช้เงินในตลาดนักเตะถึง 2.25 พันล้านยูโร มากกว่าทั้งลาลีกา, เซเรีย อา, บุนเดสลีกา และลีกเอิง รวมกัน’ และยกตัวอย่าง ‘ทีมน้องใหม่อย่างน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ใช้จ่ายสุทธิ 160 ล้านยูโร ซึ่งก็ยังมากกว่าทั้งลาลีกา, เซเรีย อา, บุนเดสลีกา และลีกเอิง (รวมกัน 78 สโมสร) รวมกันเสียอีก สโมสรในพรีเมียร์ลีกยังจ่ายเงินค่าเหนื่อยได้สูงกว่าคู่แข่งร่วมทวีปถึง 2 เท่า’
- สำหรับการครองวงการของสโมสรอังกฤษที่แม้จะได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกแค่ 2 ครั้งในรอบ 10 ปีหลังสุด แต่มีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพถึงอิทธิพลที่มากขึ้นของทีมจากพรีเมียร์ลีกว่า ‘2 จาก 4 ครั้งของนัดชิงชนะเลิศเป็นการเจอกันเองของทีมจากอังกฤษ และมีแค่เรอัล มาดริดที่หยุดไม่ให้มีนัดชิงแบบ All-English เป็นครั้งที่ 3” ขณะที่ 75 เปอร์เซ็นต์ของทีมที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศแชมเปียนส์ลีกเป็นสโมสรจากอังกฤษ
- A22 บริษัทเอเจนซีกีฬาที่ดำเนินการอยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้ได้มีการแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ แบรนด์ ไรชาร์ต และได้รับการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่ที่เป็นกำลังสำคัญของซูเปอร์ลีกอย่างเรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา และยูเวนตุส โดยบริษัทแห่งนี้ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำเนินคดีกับยูฟ่าและฟีฟ่าด้วย โดยฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมยุโรป ซึ่งคาดว่าจะมีการตัดสินคดีนี้ในเดือนธันวาคม
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดเบื้องต้นที่ The Times นำมาเปิดเผย ซึ่งเชื่อได้ว่ายังมีรายละเอียดอีกมากที่ไม่ได้รับการเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนต่างๆ ของแผนการ ทีมใดที่จะเข้าร่วมบ้าง รายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขัน และอื่นๆ
แต่สิ่งที่สัมผัสได้ในเวลานี้คือ ยูโรเปียนซูเปอร์ลีกในเวอร์ชันใหม่ 2.0 นี้จะมีเป้าประสงค์ที่แตกต่างจากครั้งแรก และน่าสนใจอย่างยิ่งว่าสโมสรจากพรีเมียร์ลีกจะมีท่าทีอย่างไร หรือในทางลับจะมีการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องของผลประโยชน์ไปถึงระดับไหนแล้ว
และที่รู้สึกได้อย่างชัดเจนคือโปรเจกต์ปฏิวัติวงการนี้ยังไม่ตาย จะช้าหรือเร็วโลกลูกหนังจะได้ต้อนรับมันอย่างแน่นอน
อ้างอิง: