×

ก้าวที่เริ่มแก้ เส้นทางรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับใหม่’ ที่รัฐบาลเพื่อไทยชูเป็นนโยบายเร่งด่วน

โดย THE STANDARD TEAM
19.10.2023
  • LOADING...
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ

 

“โดยเริ่มจากมติ ครม. ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติและจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จรัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” 

 

นี่คือคำแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยหลังการฉีก MOU แยกทางการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล

 

ในเวลาต่อมา รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่า นโยบายเร่งด่วนสุดท้ายคือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์

 

พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

 

มติ ครม. นัดแรกของรัฐบาล มอบ ‘ภูมิธรรม’ ตั้งคณะกรรมการหารือแนวทางประชามติ

 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ 

 

ทั้งนี้ จะยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

 

“ต้องเสร็จภายใน 4 ปี เราจะพยายามทำให้เร็วที่สุด” ภูมิธรรมประกาศเส้นชัยของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

“เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลอยากให้เกิดขึ้นและอยากให้ประชาชนสบายใจ” เขาย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้อีกครั้ง

 

35 กรรมการศึกษาแนวทางประชามติจากหลายภาคส่วน แต่ไร้เงาก้าวไกล

 

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทําประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 35 คน โดยมีภูมิธรรมเป็นประธาน ประกอบด้วยหลายภาคส่วน เช่น กลุ่มพรรคการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคไทยสร้างไทย

 

กลุ่มนักวิชาการ เช่น สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

กลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรม เช่น ยุทธพร อิสรชัย อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.​, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อดีตนักกิจกรรมช่วงหลังรัฐประหาร 2557 และ ชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ภาคประชาสังคม เช่น ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป, วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ และ ธงชัย ไวยบุญญา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค

 

อดีตข้าราชการ เช่น กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม, พล.ต.อ. วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ประวิช รัตนเพียร อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน

 

แม้ในขณะนั้นพรรคก้าวไกลจะยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะส่งหรือไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้ แต่ในคำสั่งฉบับนี้มีรายชื่อลำดับที่ 32 ระบุสำรองไว้ว่า ‘ผู้แทนพรรคก้าวไกล’ 

 

เปิด 2 เงื่อนไขที่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมวง แต่ยินดีให้ข้อเสนอแนะ

 

“เพราะพรรค (ก้าวไกล) ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ โดยเฉพาะจุดยืนในการสนับสนุน การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และการจัดทำ (รัฐธรรมนูญ) โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด”

 

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันในการตั้ง 35 กรรมการฯ นั้น พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์มติที่ประชุม สส. ของพรรค พร้อมเปิด 2 เงื่อนไขที่ไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว แต่ยินดีให้คำเสนอแนะ และหากรัฐบาลยืนยันในหลักการ 2 ข้อตามที่พรรคก้าวไกลแสดงจุดยืน ก็พร้อมส่งตัวแทนเข้าร่วม

 

“พรรคก้าวไกลมีจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอด ในการสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด

 

“หากในอนาคตรัฐบาลยืนยัน หรือคณะกรรมการศึกษาฯ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเดินหน้าภายใต้ 2 จุดยืนดังกล่าว พรรคก้าวไกลจะยินดีให้ตัวแทนพรรคเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ”

 

ไม่แตะหมวด 1-2 และพระราชอำนาจ ตั้ง 2 อนุคณะกรรมการรับฟังความเห็น-กำหนดจำนวนการทำประชามติ

 

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงไม่แตะพระราชอำนาจ แล้วต้องจบภายใน 4 ปี ซึ่งเป็นวาระของรัฐบาล และทำให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามตินำไปใช้จริงให้ได้”

 

คำประกาศของภูมิธรรมในวันเปิดประชุมนัดแรกของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 

 

การประชุมใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ก่อนที่ นิกร จำนง ในฐานะเลขาธิการ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ออกมาแถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง โดยมีความคิดเห็นอยู่ 2 ทาง และจะต้องศึกษารายละเอียดเชิงข้อกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมาก่อนหน้านี้ และต้องอยู่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและกลไกของรัฐสภา

 

ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 คณะ คณะแรกมีอำนาจให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยใช้ระยะเวลาที่จำกัด และคณะที่ 2 เรื่องการกำหนดการทำประชามติว่ากี่ครั้ง เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน จึงต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยให้รัฐบาลตัดสินใจ คณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ศึกษาแนวทางการทำประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 

 

สำหรับการจัดตั้งคณะอนุกรรมการทั้งสองคณะ โดยคณะกรรมการชุดใหญ่จะประชุมเดือนละ 1 ครั้ง และภาคปฏิบัติจะเป็นคณะอนุกรรมการเป็นผู้ขับเคลื่อนการทำงานคู่ขนาน เพื่อนำมารวมกันอีกครั้ง

 

โดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะนัดประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเป็นครั้งแรกในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเข้ารับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง สส. และ สว. ที่ไม่สามารถรับเชิญเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ได้ ให้ผ่านทางคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองของทั้งสองสภา 

 

เข้าคูหาอีกกี่ครั้งกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนจะต้องเข้าคูหาอย่างน้อยอีก 3 ครั้ง และหาก สสร. มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนจะต้องเข้าคูหาอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง

 

กรณี สสร. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

– เข้าคูหาครั้งที่ 1: ลงประชามติว่าอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

– เข้าคูหาครั้งที่ 2: ลงประชามติว่าเห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 

– เข้าคูหาครั้งที่ 3: ลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

กรณี สสร. มาจากการเลือกตั้ง

– เข้าคูหาครั้งที่ 1: ลงประชามติว่าอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

– เข้าคูหาครั้งที่ 2: ลงประชามติว่าเห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 

– เข้าคูหาครั้งที่ 3: เลือกตั้ง สสร.

– เข้าคูหาครั้งที่ 4: ลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าคณะกรรมการฯ จะเคาะออกมาในแนวทางใด โดยภูมิธรรมคาดการณ์ว่าคนไทยจะได้เข้าคูหาประชามติครั้งแรกราวต้นปี 2567

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising