แฟน Netflix ที่เคยติดใจซีรีส์ Headspace: Guide to Meditation ที่สอนวิธีการฝึกสมาธิอย่างเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย และได้ผลดีกับตัวเองมาแล้ว น่าจะตื่นเต้นไม่น้อยกับซีรีส์ Headspace: Guide to Sleep วิธีนอนอย่างเป็นสุข ที่คราวนี้หันมาเอาใจคนนอนไม่หลับกันบ้าง สำหรับซีรีส์นี้ได้ Eve Lewis Prieto (Director of Meditation at Headspace) มาให้คำแนะนำและพาทุกคนเข้านอนอย่างเป็นสุข
Eve ให้สัมภาษณ์กับ Esquire อังกฤษว่า “รู้ไหมว่าผู้ใหญ่ 1 ใน 3 มักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตอนเข้านอน หรือปัญหาที่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ฉันคิดว่าปัญหาเหล่านั้นล้วนเกิดจากความเครียด วิตกกังวล จากสิ่งที่เราประสบมาในแต่ละวัน และผลวิจัยมากมายก็บอกตรงกันว่าหากคนเราเต็มไปด้วยความเครียด พอถึงตอนกลางคืน เราจะรู้สึกได้เลยว่าปัญหาของเรามันขยายใหญ่ขึ้น การตอบสนองของร่างกายต่อความเครียด จะปล่อยสารคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนออกมา ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้ความเครียดและความวิตกกังวลที่มีอยู่แล้วพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมันส่งผลอย่างมากต่อการนอนหลับของเรา”
เมื่อการนอนหลับไม่ใช่เรื่องง่าย Eve จึงจะมาช่วยให้ทุกคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับผ่านข้อเท็จจริงใหม่ๆ เกี่ยวกับการนอน และได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ บางทีก็เป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนว่า “นี่เราจำเป็นต้องรู้ด้วยเหรอ” เช่น
- เราจำเป็นต้องนอนถึง 8 ชั่วโมงจริงไหม
- การเล่นมือถือก่อนนอนมันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ
- การใช้ยานอนหลับได้ผลจริงไหม
ต่อไปนี้คือสาระสำคัญที่เราถอดรหัสคำแนะนำดีๆ จาก Headspace: Guide to Sleep วิธีนอนอย่างเป็นสุข มาฝากผู้อ่านทุกคน ที่กำลังมองหาวิธีเข้านอนอย่างถูกหลักและได้ผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด
How To Sleep Better
สติและการทำสมาธิเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อการนอนหลับเต็มอิ่มและตื่นขึ้นมาอย่างสบาย ฟื้นฟู และสดชื่น โดยใน EP นี้เป็นการไขความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการนอน ผ่านข้อเท็จจริงใหม่ๆ เพื่อให้ทุกคนได้จำไปใช้อย่างถูกวิธีว่าอะไรคือสิ่งที่จริง เชื่อได้ และอะไรคือความเชื่อผิดๆ ที่ควรโยนทิ้งไปซะ ซึ่งสรุปได้ว่า
- ความเชื่อที่ว่าทุกคนต้องนอน 8 ชั่วโมงต่อวันนั้นไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุด เพราะผลวิจัยระบุว่า ตัวเลขการนอนระหว่าง 7-9 ชั่วโมงต่างหากที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใหญ่ แต่ก็แตกต่างได้ในแต่ละคน และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต
- การนอนหลับมากไปไม่ดี เช่น การนอนมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และนำมาสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ อีก
- สิ่งที่สำคัญกว่าการนับชั่วโมงนอน คือการฟังร่างกายและเข้าใจร่างกายตัวเองว่าต้องการอะไร
- การอดนอนอาจส่งผลร้ายแรงในด้านสุขภาพ
- ความเชื่อที่ว่าออกกำลังกายตอนกลางคืนไม่ดีต่อการนอนนั้นไม่จริงเสมอไป มีผลวิจัยหนึ่งที่ให้ผลตรงกันข้าม ในคนที่แข็งแรง การออกกำลังกายตอนกลางคืนไม่ได้ส่งผลเสียต่อการนอนหลับ แต่กลับช่วยให้หลับง่ายและหลับลึกขึ้น แต่การออกกำลังกายอย่างหนักไม่ถึง 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ไม่ดี ถ้าอยากกำลังกาย ควรทำก่อนนอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ด็อกเตอร์เจสัน ออง จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น บอกว่าแอลกอฮอล์อาจช่วยให้คุณนอนหลับได้เร็วขึ้น เพราะมันไปช่วยกดประสาท แต่มันอาจจะทำให้คุณนอนหลับไม่สนิท แถมแอลกอฮอล์ยังเพิ่มแนวโน้มในการกรนด้วย ยิ่งทำให้การนอนแย่ลง
- ร่างกายของคนเราย่อยแอลกอฮอล์ได้ประมาณ 1 แก้วต่อชั่วโมง จึงควรดื่มแก้วสุดท้ายให้เสร็จก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ทัน และไม่ส่งผลต่อการนอน
- กาแฟหรือชาเป็นสิ่งที่ดี หากระวังเรื่องเวลาและปริมาณในการดื่ม ให้ไม่เกินวันละ 2-3 แก้วก่อน 5 โมงเย็น จะไม่ส่งผลเสียต่อการนอนในคนส่วนใหญ่
- งานวิจัยชี้ว่า การฝึกสมาธิและการหายใจลึกๆ มีส่วนช่วยให้ระบบประสาทของเราสงบลง คนที่อยากหลับสบายจึงควรเริ่มฝึกสมาธิ
หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อที่หักล้างด้วยข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่อ้างอิงจากผลวิจัยจนเข้าใจตรงกันแล้ว Eve จะนำทุกคนเข้าสู่ขั้นตอนการเริ่มฝึกเข้านอนผ่านการกำหนดท่าทาง การกำหนดลมหายใจ และการทำสมาธิ ที่จะช่วยให้การเข้านอนของทุกคนเป็นไปอย่างสงบ ผ่อนคลาย และเข้าใกล้การนอนหลับที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่วนใน EP หน้า เราจะมาสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับการเล่นมือถือก่อนนอนนั้นแย่จริงไหม โปรดติดตาม
ภาพ: Netflix
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล