×

โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่บริเวณคอคืออะไร?

23.09.2023
  • LOADING...
โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่บริเวณคอ

หลายคนอาจเพิ่งเคยได้ยินโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่บริเวณคอจากสื่อต่างๆ ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับคนดังที่เป็นโรคนี้จนต้องเข้ารับการผ่าตัด และอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าโรคนี้คืออะไร และมันรุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดเชียวหรือ หมอจะพาผู้อ่านไปไขข้อสงสัยนี้ไปพร้อมๆ กัน

 

หมอนรองกระดูกสันหลังคืออะไร และกดทับเส้นประสาทได้อย่างไร

กระดูกสันหลังของร่างกายมนุษย์มีทั้งหมด 26 ชิ้น ประกอบด้วย ส่วนคอ 7 ชิ้น ส่วนอก 12 ชิ้น ส่วนเอว 5 ชิ้น กระเบนเหน็บและกระดูกหางอีกอย่างละ 1 ชิ้น แต่ละชิ้นเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อหลังในส่วนต่างๆ และมีช่องให้เส้นประสาทจากไขสันหลังลอดออกมาที่ภายนอกได้ ที่ระหว่างกระดูกสันหลังของคนเราจะมีหมอนรองกระดูกที่มีความยืดหยุ่นแทรกอยู่ซึ่งทำหน้าที่ซับแรงกระแทก และทำให้กระดูกสันหลังของเราขยับก้มเงย เอียงและบิดซ้ายขวาได้อย่างราบรื่นไม่สะดุดนั่นเอง

 

แม้ว่าหมอนรองกระดูกจะมีความยืดหยุ่นดีแต่ถ้าเราขยับตัวผิดวิธี เช่น ขยับเร็วจนกล้ามเนื้อไม่สามารถพยุงได้ทัน หมอนรองกระดูกก็อาจเคลื่อนตัวออกจากจุดปกติหรือแตกออกจนไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ในบริเวณนั้นได้ หรืออีกสาเหตุที่พบบ่อยคือการที่มีแรงกดไปที่หมอนรองกระดูกผิดปกติจนทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัย ซึ่งมักเกิดจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งนาน สะบัดแรงๆ บ่อยๆ ฯลฯ หรือการมีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (คือกล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังระดับต่างๆ) และกล้ามเนื้อใกล้เคียงที่ไม่แข็งแรง ทำให้โครงสร้างสันหลังผิดไปจากปกติ หมอนรองกระดูกที่เสื่อมนั้นจะขาดความยืดหยุ่นและเคลื่อนหรือแตกง่ายกว่าปกตินั่นเอง

 

เกิดอะไรขึ้นหากหมอนรองกระดูกเคลื่อนตัวมากดทับเส้นประสาท

เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือแตกออกจากจุดปกติก็จะสามารถไปกดเบียดโครงสร้างใกล้เคียงที่สำคัญคือเส้นประสาทในระดับนั้นๆ ซึ่งเส้นประสาทเหล่านี้ที่ทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีหน้าที่รับรู้ความรู้สึกและควบคุมกำลังและการขยับของกล้ามเนื้อต่างๆ หากอยู่ในระดับคอก็จะควบคุมในบริเวณบ่า ไหล่ แขน จนไปถึงปลายนิ้วมือ ระดับอกจะควบคุมการทำงานของลำตัวและกะบังลม ส่วนระดับเอวถึงกระเบนเหน็บจะควบคุมในระดับสะโพกและขาถึงปลายเท้า รวมถึงระบบขับถ่าย หากเส้นประสาทในระดับใดถูกหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับก็จะทำให้มีอาการผิดปกติในระดับที่เส้นประสาทนั้นดูแลนั่นเอง

 

อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร

อาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (Cervical Disc Herniation) นั้นจะมีอาการได้ตามหน้าที่การทำงานของเส้นประสาท นั่นก็คือทำให้เกิดอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงในระดับที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง (ระดับที่พบมากที่สุดในบริเวณคอ คือระดับที่ 5-6 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทคอคู่ที่ 6) และบางครั้งทำให้เกิดอาการปวดซึ่งเกิดจากความอักเสบเมื่อเส้นประสาทบาดเจ็บจากการถูกกดทับ โดยอาการปวดนั้นมักเป็นการปวดร้าวจากคอบ่าลงมาที่แขน และมักจะดีขึ้นไม่มากเมื่อกินยาแก้ปวดแก้อักเสบ

 

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาทมักเกิดกับใคร

โดยทั่วไปโรคนี้มักเกิดในวัยทำงานที่อายุ 35-40 ปี แต่ในปัจจุบันสามารถพบได้ในกลุ่มคนอายุน้อยลงเนื่องจากกิจวัตรประจำวันต่างจากยุคก่อน กล่าวคือมีพฤติกรรมการทำงานนั่งโต๊ะมากขึ้นตั้งแต่เด็กจนทำงาน โดยที่โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มของโรคออฟฟิศซินโดรมด้วย ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยแยกโรคกับโรค Myofascial Pain Syndrome หรือกลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อที่ไม่ได้มีการกดทับเส้นประสาทใดๆ แต่สามารถมีอาการที่คล้ายกันได้จนแยกออกจากกันได้ยาก

 

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

เมื่อพบว่ามีอาการปวดที่คอบ่าร้าวลงมาที่แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือ 2 ข้างอย่างมาก โดยมักจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงที่แขนและมือร่วมด้วย เช่น จะสังเกตว่าหยิบจับของไม่สะดวก หรือเมื่อหยิบจับของจะรับรู้ความรู้สึกได้ลดลง เป็นต้น ถ้ายังไม่แน่ใจหรืออาการยังไม่แน่ชัด หากพักการใช้งานหรือกินยาแก้ปวดแก้อักเสบแล้วยังไม่ดีขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรพบแพทย์ศัลยกรรมกระดูกหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการเอ็กซเรย์หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

 

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาทหากไม่รุนแรงสามารถหายได้ด้วยการพักการใช้งาน แต่หากไม่ดีขึ้นหรือมีอาการซ้ำบ่อยๆ ก็ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องเพื่อลดการดำเนินโรคที่รุนแรงมากขึ้น 

 

การรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธี นั่นคือ

 

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ประกอบด้วยการกินยาหรือฉีดยาลดปวดลดอักเสบของเส้นประสาท และการทำกายภาพบำบัด
  2. การผ่าตัด ซึ่งมีข้อบ่งชี้คือมีอาการอ่อนแรงหรือฝ่อลีบของกล้ามเนื้อแขนหรือมือ หรือมีอาการปวดมากจนไม่สามารถกินยาหรือทำกายภาพบำบัดแล้วกลับไปใช้ชีวิตได้ หรือเมื่อหมอนรองกระดูกนั้นมีการเคลื่อนมากจนไประคายถึงไขสันหลัง และเมื่อรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดอย่างเต็มที่เป็นเวลา 3-6 เดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น

 

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการดูแลรักษากระดูกและหมอนรองกระดูกสันหลัง รวมถึงกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องให้สุขภาพดีอยู่เสมอ และสำคัญอีกข้อคือต้องมีการใช้งานที่เหมาะสม โดยสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้คือ

 

  1. หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ คือมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เหมาะสม การเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราใช้งานเช่น คอบ่าไหล่ กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว แต่แท้จริงแล้วแนะนำให้ทำในทุกส่วนของร่างกายเพื่อให้เกิดความสมดุล และไม่เกิดภาระต่อกล้ามเนื้อมัดอื่นๆ ตามมา
  2. ขยับร่างกายบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนั่งทำงานที่มักจะกินเวลานาน โดยแนะนำให้มีการขยับร่างกายทุก 20-30 นาที ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน หรือเดินไปพัก แต่หากทำไม่ได้ก็สามารถทำแค่เพียงขยับข้อต่อเพื่อเปลี่ยนจุดกระจายน้ำหนักของแต่ละส่วนของร่างกายได้
  3. จัดท่าทางการใช้งานข้อต่อ เช่น การนั่งทำงานหรือการยกของ ให้เป็นไปตามหลักของการยศาสตร์ (Ergonomics) โดยที่แม้ว่าจะอยู่ในท่าที่ถูกต้องก็ควรมีการขยับร่างกายทุก 20-30 นาทีร่วมด้วยเสมอ ทั้งนี้ การเลือกอุปกรณ์ช่วย เช่น โต๊ะทำงาน Ergonomic จะแนะนำให้ไปเลือกด้วยตนเองเนื่องจากขนาดกับสรีระของแต่ละคนอาจจะไม่สามารถใช้ด้วยกันได้ ทำให้เกิดความไม่สมดุลมากขึ้นและปวดมากขึ้นได้
  4. หมั่นผ่อนคลายความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดการเกิดกล้ามเนื้อคอบ่าตึงตัว และความไม่สมดุลที่เป็นต้นเหตุของหมอนรองกระดูกเสื่อมดังกล่าว

 

สรุป

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาทเป็นโรคที่สามารถพบได้ในหนุ่มสาววัยทำงาน อาการเบื้องต้นประกอบด้วยอาการชา อาการปวด และอ่อนแรงของแขน โดยหากมีอาการมากก็ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยแยกโรคกับภาวะปวดพังผืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้ได้ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาดีและลดโอกาสการรักษาด้วยการผ่าตัดนั่นเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X