×

ภาคประชาชนยื่นหนังสือ กสทช. ขอให้พิจารณากรณีควบรวม TRUE-DTAC อย่างเป็นธรรมตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ

โดย THE STANDARD TEAM
29.08.2022
  • LOADING...

วันนี้ (29 สิงหาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารเข้ายื่นหนังสือกับทางตัวแทน กรณีขอให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามอำนาจของ กสทช. อย่างถูกต้องและเป็นธรรม

 

ในหนังสือระบุว่า ตามที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ได้ประกาศแจ้งต่อสาธารณะว่าจะมีการควบรวมธุรกิจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และเครือข่ายภาคประชาชน มีความกังวลต่อการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

จากการที่ กสทช. ได้ทำหนังสือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่าไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 กสทช. ก็ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ด้วยเนื้อหาเดียวกันซ้ำอีกครั้ง 

 

อาจทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่า กสทช. มีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซงและครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมีความเสี่ยงในการปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมายอีกด้วย

 

กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ จึงต้องป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระต่อผู้บริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 2.03-244.50% (อ้างอิงผลการศึกษา กสทช.) หรือไม่มีโอกาสที่จะปรับราคาลดต่ำลงได้ เหมือนเช่นในอดีตที่มีการแข่งขันสูง

 

การควบรวมครั้งนี้ นอกจากเป็นการลดทางเลือกของผู้บริโภคแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจแบบ Cross Industry การบริการจะถูกย้ายจากร้านค้าลูกตู้ไปยังร้านค้าปลีกในเครือ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่านายหน้าในการขายสินค้าให้ร้านค้าอีกต่อไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดขายส่งและขายปลีกซิมการ์ด ต่อเนื่องไปถึง Vender/Supplier ผู้ให้เช่าสถานที่ และพนักงาน รวมไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาบริการโทรคมนาคมในการขายสินค้าหรือบริการของตนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

 

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และเครือข่ายภาคประชาชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการลดการแข่งขัน อันอาจจะทำให้ผู้บริโภคและประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising