×

กสทช. เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หลังแพ้คดี เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล

โดย THE STANDARD TEAM
14.03.2018
  • LOADING...

หลังการประชุมกันของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. แถลงต่อสื่อมวลชนกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ยื่นฟ้อง กสทช. ว่าขอน้อมรับในคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและยินดีที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ยังมีคำวินิจฉัยบางส่วนที่ กสทช. เห็นแย้ง ซึ่งได้มีการประชุมกันแล้ว และกำหนดว่าจะมีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

 

สำหรับประเด็นที่ กสทช. เห็นแย้งต่อคำวินิจฉัย ประกอบด้วย 3 ประเด็นคือ

 

ประเด็นแรก ศาลวินิจฉัยว่าการออกใบอนุญาตของ กสทช. เป็นการออกใบอนุญาตให้เอกชน ‘เข้าร่วมการงาน’ กับรัฐเพื่อให้บริการโทรทัศน์ ซึ่งคำว่า ‘เข้าร่วมการงาน’ หมายถึงการที่รัฐมีหน้าที่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วให้เอกชนเป็นคนมาปฏิบัติหน้าที่นั้นแทนที่เรียกกันว่าสัมปทาน ขณะที่ กสทช. ตั้งขึ้นเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ดังนั้นถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่ตรงกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง กสทช. ตามรัฐธรรมนูญ

 

ประเด็นที่สอง กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่า กสทช. ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายการให้บริการ ประเด็นนี้ข้อเท็จจริงคือการขยายโครงข่ายดำเนินการตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการทุกรายคงล้มเหลวในการให้บริการหมดแล้ว ส่วนที่ระบุว่ากรมประชาสัมพันธ์มีความล่าช้า ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย ความจริงกรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ให้บริการโครงข่ายกับผู้ประกอบการรายใดเลย และเมื่อติดตั้งล่าช้าก็ได้มีการลงโทษทางปกครองไปแล้ว สำหรับการแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัลก็ได้ดำเนินการจนครบทั้งหมดแล้วเช่นกัน

 

ประเด็นสุดท้ายคือการช่วยเหลือผู้ประกอบการการทีวีดิจิทัล ตามหลักการทีวีดิจิทัลเป็นบริการสาธารณะที่ให้กับประชาชน เมื่ออุตสาหกรรมเกิดปัญหาก็ควรช่วยอุตสาหกรรมโดยรวม โดยช่วยทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกว่าใครได้กำไรหรือขาดทุน และที่ช่วยเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์

 

“กสทช. จำเป็นที่จะต้องมีการอุทธรณ์ เนื่องจากมันมีบางประการที่ขัดต่อหลักการใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแลเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ”

 

พร้อมยืนยันว่าประเด็นที่ไม่เห็นด้วยไม่เกี่ยวกับการคืนเงินที่ผู้ให้บริการได้จ่ายมาแล้ว แต่เป็นเพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวขัดกับหลักการของประเทศ จึงต้องมีการอุทธรณ์ ทั้งนี้การยื่นอุทธรณ์จะมีกำหนดเวลาภายใน 30 วัน หลังมีคำพิพากษา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising