×

Covid Hero: ณวัฒน์ อิสรไกรศีล จัดตั้งโครงการ ‘เป็นโควิดต้องมีที่รักษา’

29.04.2021
  • LOADING...
ณวัฒน์ อิสรไกรศีล จัดตั้งโครงการ ‘เป็นโควิดต้องมีที่รักษา’

 

ณวัฒน์ อิสรไกรศีล

 

ผมไม่ใช่คนเก่ง ผมไม่ได้มีสตางค์เยอะแยะ แต่ผมคิดว่าทำให้คนเห็นดีกว่า ต่อให้ทำได้นิดหนึ่งยังขึ้นชื่อว่าได้ทำ ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแล้วเอาแต่ซ้ำเติม

– ณวัฒน์ อิสรไกรศีล

จัดตั้งโครงการ ‘เป็นโควิดต้องมีที่รักษา’

 

 

“มีการตายเกิดขึ้นทุกชั่วโมงสองชั่วโมงมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้ว” 

 

ณวัฒน์เล่าให้ฟังถึงจุดที่ตัดสินใจจัดตั้งโครงการเป็นโควิดต้องมีที่รักษา ว่าเกิดจากการที่เขาได้รู้ข่าวที่คุณยายเสียชีวิตในบ้านเพราะรอการรักษาที่มาไม่ถึงเสียที

 

“สิทธิมนุษยชนและความเป็นมนุษย์มันเท่ากันทุกคนนะ ผมเป็นคนต่างจังหวัด คุณพ่อคุณแม่ผมก็เป็นคนบ้านนอกคอกนาลักษณะใกล้เคียงกัน ผมนึกในใจว่าถ้าแม่ผมยังอยู่แล้วแม่ผมต้องถูกทิ้งไว้แบบนี้ผมยอมไม่ได้นะ” 

 

จากข่าวคุณยายเสียชีวิตในบ้าน สู่โครงการที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ไปแล้วกว่า 40 คนโดยการร่วมมือกันของ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ทีมงานมิสแกรนด์กว่า 12 ชีวิต ทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลปิยะเวท และโรงแรมต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ

 

เป็นโควิดต้องมีที่รักษา เป็นอีกหนึ่งช่องทางการหาเตียงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เตียงสำหรับการรักษา โดยผู้ป่วยจะต้องแอดไลน์ @missgrand และคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อประเมินอาการ ก่อนที่ทีมงานของโครงการจะช่วยประสานไปยังหน้างาน ณวัฒน์เล่าว่า ทันทีที่ผู้ป่วยแจ้งเข้ามา ทีมงานจำนวน 12 คนจะทำงานเป็นกลุ่ม คอยถามคำถามประเมินอาการตั้งแต่ชื่อ ที่อยู่ มีอาการมาแล้วกี่วัน สภาพแวดล้อมที่อยู่ตอนนี้เป็นอย่างไร ตั้งแต่เปิดโครงการในวันที่ 24 เมษายนจนถึงวันที่ 27 เมษายนก็จัดหาเตียงให้ผู้ป่วยไปได้กว่า 45 คนแล้ว

 

ทีมงานทั้ง 12 คนของโครงการนั้นเริ่มมาจากการที่ณวัฒน์ติดต่อขอให้มาช่วย ไม่ว่าจะเป็นนางงาม ทีมซ้อม ทีมกราฟิก ทีมพี่เลี้ยง เพราะในตอนนี้ดารานักแสดงสังกัดที่มาจากนางงามหยุดงานถ่ายละครกันชั่วคราว ทีมงานเบื้องหลังจึงว่างและสามารถมาทำงานให้โครงการได้ เมื่อรวบรวมคนได้แล้ว ณวัฒน์ก็ติดต่อไปยังโรงพยาบาลปิยะเวทให้เหล่าทีมงานได้อบรมหลักสูตรเร่งด่วนให้ ทำให้ทีมงานสามารถทำงานในฐานะผู้ช่วยพยาบาลได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสอบประวัติคนไข้หรือการประเมินอาการว่ามากน้อยเพียงใด ก่อนจะประสานงานให้เอารถออกไปรับผู้ป่วยมาอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมกับอาการ รถที่รับส่งจะอาศัยวิ่งรับส่งตอนกลางคืนเพราะสะดวกกว่า ส่วนโรงแรมที่ติตต่อไว้ให้เป็น Hospitel ทั้งสามแห่งก็มี โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก, โรงแรมรัตนโกสินทร์ และโรงแรมโลตัส ส่วนของโรงพยาบาลปิยะเวทที่มาร่วมโครงการนี้ด้วยก็จัดหาแพทย์และพยาบาลไปช่วยดูแลผู้ป่วยใน Hospitel โดยจะมีแพทย์ตรวจอย่างน้อยวันละ 3 รอบ เมื่อสภาพแวดล้อมของห้องที่ต้องอยู่ทำการรักษาเป็นห้องแบบโรงแรมที่สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีอาหารครบ 3 มื้อ ผู้ป่วยก็มีความสุขตลอด 10 วันที่ต้องอยู่ใน Hospitel

 

ณวัฒน์บอกว่าผู้ป่วยเคสที่เสียชีวิตคือป่วยจนไม่สามารถให้การด้วยตัวเองได้ เจ้าหน้าที่ที่รับโทรศัพท์ก็ยืนยันว่าจะคุยกับคนไข้ด้วยตัวเอง ระบบการทำงานของราชการทำให้ทุกอย่างไปได้ช้า แล้วมันเกิดการสูญเสีย อย่าให้ใครต้องสูญเสียกับเรื่องแบบนี้อีกเลย 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X