ผ่านมา 40 ปีแล้วสำหรับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ซึ่งวันนี้อยู่ภายใต้การนำทัพของ ‘ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล’ ซึ่งเรียกธุรกิจว่าเป็น ‘เด็กปั๊มเติมน้ำมันเครื่องบิน’ ที่กำลังขยายไปสู่องค์กรที่ทำธุรกิจพลังงานและขนส่งที่ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นระดับเอเชีย
ก่อนอื่น ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ย้ำว่า ปัจจุบันธุรกิจหลักของ BAFS ยังคงเป็นธุรกิจดั้งเดิมตั้งแต่วันแรก นั่นคือดำเนินธุรกิจให้บริการระบบเติมน้ำมันอากาศยานอย่างครบวงจร ทั้งระบบขนส่งน้ำมันอากาศยานผ่านท่อแรงดันสูง ระบบจัดเก็บน้ำมันอากาศยาน และระบบเติมน้ำมันอากาศยาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- BAFS ทุ่ม 1 หมื่นล้านบาทลงทุนในช่วง 5 ปี ขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และบริหารจัดการ หวังปั้นรายได้ 7.5 พันล้านบาท
- BAFS เดินหน้าบุก ‘มองโกเลีย’ เฟสแรกมีแผนร่วมลงทุนธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ คาดเปิดตัวภายในปี 2567
- ‘สตาร์ ปิโตรเลียม’ ทุ่ม 5.56 พันล้านบาท ซื้อกิจการ ‘ปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์’ จากเชฟรอน พร้อมเข้าซื้อหุ้น ‘Thappline’ กับ BAFS ลุยธุรกิจน้ำมันครบวงจร
ปัจจุบันให้บริการ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาคอีก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสมุย สุโขทัย และตราด
ที่ผ่านมา BAFS ไม่เคย ‘ขาดทุน’ เลย จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิดขึ้นมาซึ่งทำให้ทั่วโลกหยุดนิ่งและกระทบต่อธุรกิจอย่างจัง เพราะ “จากที่เราเคยเติมน้ำมัน 800-900 ไฟลต์ เดือนเมษายน 2563 เราเหลือเพียง 10 ไฟลต์เท่านั้น”
วิกฤตที่เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัวกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ม.ล.ณัฐสิทธิ์ มองว่าถึงเวลาแล้วที่ BAFS จะกระจายธุรกิจให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเดิมนั้น “เราได้มองการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ถัดมามีการปิดสนามบิน ซึ่งเป็นจุดที่ปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาพบว่าความสำเร็จที่ผ่านมา 30 ปี อาจจะไม่มั่นคงอีกแล้ว ในอนาคตคงมีวิกฤตอื่นๆ ที่จะเข้ามาอีก”
โควิดทำให้แผนที่ร่างไว้ถูกหยิบมาใช้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายเข้าสู่การลงทุนในธุรกิจพลังงานประเภท Non Carbon โดยปัจจุบัน BAFS ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 9 แห่ง และจะขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ พร้อมทั้งศึกษาโครงการในต่างประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นต้น
อีกหนึ่งทำเลที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการลงทุนใน ‘มองโกเลีย’ ซึ่งถูกมองว่าเหมาะที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมาก เพราะมีพื้นที่ราบเป็นวงกว้างและมีแดนที่สม่ำเสมอ ซึ่งเบื้องต้นได้ลงทุนไป 1 พันล้านบาท และมีแผนลงทุนอีกในอนาคตอีกราว 1 พันล้านบาทด้วยกัน
นอกจากนี้ การที่ในตอนกลางคืนไม่มีแสงแดด และลมไม่ได้พัดตลอดเวลา การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจึงมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา BAFS จึงศึกษาและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง
“ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างศึกษาและมีแผนที่จะพัฒนาโครงการระบบกักเก็บพลังงานและระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ”
อีกธุรกิจที่ขยายไปคือการทำธุรกิจด้านการเก็บรักษาและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ผ่านระบบท่อขนส่งน้ำมันใต้ดินชนิดที่สามารถขนส่งน้ำมันได้หลายชนิด (Multi Product Pipeline) ซึ่งตอนนี้มีระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร
โดยขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันบางจากและคลังน้ำมันช่องนนทรีไปยังสถานีบริการจัดเก็บน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิ สถานีบริการจัดเก็บน้ำมันอากาศยานดอนเมือง และคลังน้ำมันภาคพื้นดินบางปะอิน โดยปัจจุบันได้ขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือจากคลังน้ำมันภาคพื้นดินบางปะอินไปยังคลังน้ำมันจังหวัดพิจิตรและคลังน้ำมันนครลำปาง
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจให้บริการทรัพยากรบุคคลในธุรกิจให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่อากาศยาน ระบบท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและคลังน้ำมันเชื้อเพลิง และธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มบริษัท
แต่ที่เหนือความคาดหมายคือการตั้งบริษัท บาฟส์ อินโนเวชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมและดิจิทัลอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งด้านซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งเรา “กำลังศึกษาเทคโนโลยี Blockchain และ AI อยู่ด้วย” นอกจากนี้ยังมีรถขนส่งน้ำมันไฟฟ้าที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย BAFS ซึ่งนำมาใช้จริงแล้ว 2 คัน และกำลังจะส่งออกไปต่างประเทศด้วย
ทั้งหมดคือดอกผลที่ ม.ล.ณัฐสิทธิ์ บอกว่า “BAFS เริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว และเห็นผลได้เร็วมาก ซึ่งเดิมคิดว่าต้องใช้เวลา 5 ปี แต่โควิดเร่งให้เราปรับตัวเร็วขึ้นเป็นเท่าตัว” ซึ่งนี่กำลังเป็นจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยน ‘เด็กปั๊มเติมน้ำมันเครื่องบิน’ ไปสู่บริษัทพลังงานและขนส่งระดับเอเชีย ซึ่งเป็นฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับ BAFS