นิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ จัดโดยกรมศิลปากร ร่วมกับมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยคุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน รับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการนิทรรศการนี้ เปิดให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยเข้าเยี่ยมชมกันแล้วตั้งแต่วันที่ 10-27 มิถุนายนนี้ ที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
วังน่านิมิตนำเสนอประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช ผู้เปรียบเสมือนมือขวาของพระเจ้าแผ่นดิน โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาตำแหน่งนี้ขึ้นพร้อมกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 และสิ้นสุดลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2428
ปัจจุบันพื้นที่ที่เคยเป็นวังหน้าได้กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, โรงละครแห่งชาติ, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และพื้นที่บางส่วนด้านทิศเหนือของสนามหลวง โดยอาคารที่ยังคงเหลือในปัจจุบัน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์, หมู่พระวิมาน และพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ รวมถึงพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
ความพิเศษของนิทรรศการประวัติศาสตร์ในครั้งนี้คือ ผู้ชมจะไม่ได้เห็นข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของวังหน้าเลย หากเมื่อเดินเข้ามาจะพบเพียงป้ายนิทรรศการที่บอกว่าวังหน้าคืออะไร และไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์วังหน้าที่เน้นตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง จากนั้นพื้นที่บริเวณอื่นของนิทรรศการจะเป็นที่ตั้งของจอแผนที่วังหน้าขนาดใหญ่ โปรเจกเตอร์ทัชสกรีน โมเดล จอฉายภาพยนตร์สั้น ที่เล่าถึงอาคารสิ่งก่อสร้างของวังหน้าที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และจบด้วยห้อง Reading Room หรือห้องข้อมูลที่จัดแสดงหนังสือและภาพถ่าย ให้ผู้ชมเลือกไปค้นหาต่อด้วยตนเอง
สำหรับผู้ที่ไม่เคยชมนิทรรศการที่เล่าถึงสถาปัตยกรรมไทยที่แม้แต่ตัวอาคารก็ไม่มีให้เห็นอยู่แล้วในปัจจุบัน อาจจะจินตนาการไม่ออก หรือสงสัยว่าต้องเริ่มทำความเข้าใจจากอะไรก่อน THE STANDARD รวบรวมเรื่องราวน่ารู้ของนิทรรศการวังน่านิมิตมาฝากในบทความนี้
คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ผู้จัดการโครงการนิทรรศการวังน่านิมิต
เชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบันด้วยสิ่งปลูกสร้างในอดีต
แนวคิดของนิทรรศการวังน่านิมิตคือ ‘Reading the Intangibles’ รื้อฟื้นประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ของสิ่งที่จับต้องไม่ได้หรือหายไปแล้ว ผ่านการอ่านประวัติศาสตร์บนพื้นที่ในปัจจุบัน
เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง คำว่า integration หรือ inbetween จึงเป็นคำสำคัญที่ภัณฑารักษ์และทีมงานยึดเป็นหลักว่า จะทำอย่างไรถึงจะนำสิ่งของที่จับต้องไม่ได้หรือไม่มีอยู่แล้วให้คนรู้สึกหรือเข้าถึงได้อีกครั้ง การนำเสนอของนิทรรศการนี้จึงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากเอกสาร หนังสือ ภาพถ่าย การสำรวจพื้นที่ มาตีความและแปลงค่าใหม่เป็นภาษาภาพ (Visual Language) เพื่ออธิบายเรื่องราวของสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีอยู่แล้ว รวมถึงนำเสนอข้อมูลที่ตีความแล้วผ่านองค์ประกอบต่างๆ ในนิทรรศการ เช่น สีหลัก โลโก้ และแบบตัวอักษร
ส่วนที่ 2 คือการนำสื่อสมัยใหม่และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการนำเสนอ เพื่อทำให้คนปัจจุบันเข้าถึงและเรียนรู้อดีตได้ง่ายขึ้น เช่น การแสดงแผนที่ของวังหน้าซึ่งเป็น Interactive Map ที่ผู้ชมสามารถขยับแผนที่ไปมาได้ด้วยโปรแกรมการสั่งงานด้วยมือ รวมถึงแบบจำลองของสิ่งก่อสร้างที่ทำขึ้นในลักษณะสามมิติ ให้ผู้ชมเห็นรายละเอียดได้อย่างชัดเจน
“โครงการวังหน้าเคยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาโบราณคดีมาก่อน เมื่อนำมาทำเป็นนิทรรศการจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้คนเข้าถึงหรือเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีหรือสื่อร่วมสมัยให้คนเห็นว่า อดีตกับปัจจุบันไปด้วยกัน เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกของคนต่อสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน คนที่ไม่เคยรู้ว่ามีวังหน้ามาก่อนเลย อาจจะเข้าใจว่ามันคือพิพิธภัณฑ์ แต่จริงๆ แล้วเรื่องราวของวังหน้ามีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนกว่านั้น และอยากให้คนหันกลับมาตั้งคำถามกับมัน” คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ผู้จัดการโครงการนิทรรศการวังน่านิมิตกล่าว
Interactive Map แสดงผังวังหน้าสมัยปลายรัชกาลที่ 4 วางทับซ้อนกับแผนที่เกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
Interactive Map
หนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการวังน่านิมิตคือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นสื่อนำเสนอ สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมโดยตรงผ่าน Interactive Map เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยมือ โดยแสดงผังวังหน้าในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องถึงสมัยรัชกาลที่ 5 วางซ้อนทับกับแผนที่เกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน เพื่อให้เห็นอาณาเขตเดิมของวังหน้า ตำแหน่งของพระที่นั่งต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ประวัติศาสตร์นี้
เมื่อผู้ชมเลื่อนมือผ่านตัวรับสัญญาณ จะกลายเป็นเคอร์เซอร์บนหน้าจอแผนที่ให้กดเลือกดูข้อมูลพระที่นั่ง 3 หลัง คือ พลับพลาสูง พระที่นั่งคชกรรมประเวศ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เมื่อเลือกแล้วหน้าจอจะเปลี่ยนจากแผนที่เป็นการฉายโครงสร้างพระที่นั่ง ผู้ชมสามารถหมุนพระที่นั่งเพื่อศึกษาลักษณะและองค์ประกอบของภูมิสถาปัตยกรรมทั้งด้านหน้าและด้านหลังโดยรอบได้เพียงแค่ขยับมือ
Interactive Map เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนสถาปัตยกรรม ผังเมือง เพราะทำให้เรียนรู้รูปแบบสิ่งก่อสร้างสมัยโบราณได้ละเอียดมากขึ้นกว่าจากที่เห็นแต่เพียงในภาพถ่าย
Interactive Map แสดงที่ตั้งของพลับพลาสูง สิ่งก่อสร้างที่ไม่อยู่แล้วในปัจจุบัน
พระที่นั่งคชกรรมประเวศ และพลับพลาสูง อาคารสำคัญในประวัติศาสตร์ที่หายไป
อาคารสิ่งปลูกสร้างในวังหน้ามีหน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งคือ เป็นเครื่องแสดงฐานานุศักดิ์ของผู้ครอบครอง ซึ่งนิทรรศการวังน่านิมิตได้เลือกนำเสนออาคารในช่วงเวลาประวัติศาสตร์สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวังหน้า นั่นคือ พระที่นั่งคชกรรมประเวศ และพลับพลาสูง ซึ่งไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงรูปแบบและหน้าที่ของอาคารทั้งสอง ซึ่งเคยมีความสำคัญต่อยุคสมัยในช่วงเวลาหนึ่ง
โปรเจกเตอร์ทัชสกรีนนำเสนอข้อมูลพระที่นั่งคชกรรมประเวศ ผู้ชมต้องสัมผัสข้อมูลบนหน้าจอ เพื่อให้ภาพปรากฏขึ้น
พระที่นั่งคชกรรมประเวศเป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในวังหน้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เป็นอาคารที่มีเครื่องยอดทรงปราสาทองค์เดียวเท่านั้นในวังหน้า ด้วยเป็นลักษณะเฉพาะของฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน และจะสร้างขึ้นได้เฉพาะในพระบรมมหาราชวัง หรือวังหลวงเท่านั้น
ตราบกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต อาคารประกอบพระเกียรติยศหลังนี้ก็หมดหน้าที่ และเนื่องด้วยเป็นอาคารที่สร้างจากเครื่องไม้ จึงผุพังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาจนมิอาจซ่อมแซมได้ ปัจจุบันคงเหลือแต่เพียงส่วนของเกยขึ้นช้างตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ ที่บ่งบอกร่องรอยถึงการมีอยู่ของอาคารหลังนี้เท่านั้น
สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ผู้ชมจะได้เห็นพระที่นั่งคชกรรมประเวศทั้งในลักษณะโครงสร้างของอาคารบนจอ Interactive Map และจอโปรเจกเตอร์ทัชสกรีน ซึ่งมีการเปรียบเทียบลักษณะพระที่นั่งคชกรรมประเวศ กับพระที่นั่งอาภรณ์พิมุขปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ว่ามีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันมากเพียงใด
โมเดลของพลับพลาสูงทำขึ้นเป็นสีขาวทั้งหลัง เพื่อสื่อถึง ‘ภาพนิมิต’ ในจินตนาการของคน
จอฉายภาพยนตร์สั้นแสดงรูปถ่าย โครงสร้างของพลับพลาสูง และพื้นที่วังหน้าปัจจุบัน
พลับพลาสูงเป็นอีกหนึ่งอาคารที่เหลือเพียงรูปถ่ายหายากให้เห็น และมีอยู่เพียงรูปเดียว ซึ่งเพิ่งมีการค้นพบเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ และได้ขอซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาเผยแพร่ในงานนิทรรศการครั้งนี้
พลับพลาสูงเป็นอีกหนึ่งอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอาคารนี้มีหน้าที่เป็นสถานที่ชมการซ้อมรบ การฝึกทหาร หรือการฝึกกีฬา ของพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งอยู่บริเวณกำแพงวังฝั่งตะวันออก หรือบริเวณท้องสนามหลวงในปัจจุบัน ภายหลังได้มีการรื้อถอนออกไป เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และมีการปรับรื้อภูมิทัศน์บริเวณท้องสนามหลวงและถนนพระนคร
ในนิทรรศการวังน่านิมิต ทีมงานได้รังสรรค์พลับพลาสูงให้เป็นมากกว่าแค่การมองจากภาพถ่าย เพราะผู้ชมจะได้เห็นทั้งสถาปัตยกรรมของพลับพลาสูงบน Interactive Map และโมเดลของพลับพลาสูงแบบ 360 องศา โดยตำแหน่งการวางโมเดลพลับพลาสูงสัมพันธ์กับจอภาพยนตร์สั้นที่ฉายภูมิทัศน์ของวังหน้าในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนถึงตำแหน่งของพลับพลาสูงในอดีตซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวังหน้า เมื่อผู้ชมยืนอยู่หน้าโมเดลเพื่อดูโครงสร้างของตัวอาคารแล้ว พอมองเข้ามายังภาพยนตร์สั้น ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกถึงระยะตำแหน่งของพลับพลาสูงกับวังหน้าที่ปรากฏอยู่บนจอได้
การใช้คำว่า วังน่า ปรากฏในหนังสือ ประชุมพงศาวดารภาคที่ 13
วังน่า หรือวังหน้า
มีหลายคนสงสัยถึงคำว่าวังน่า หรือวังหน้า ว่าสะกดอย่างไรกันแน่ คำตอบคือสะกดถูกต้องทั้ง 2 คำ โดยวังน่า คือการสะกดแบบเก่า ส่วนวังหน้า คือการสะกดตามสมัยนิยม
สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ภัณฑารักษ์ได้เลือกใช้คำว่า ‘วังน่า’ ตามการสะกดแบบเก่า เพื่อให้สอดคล้องกับการนำเสนอเรื่องราวในอดีต รวมถึงข้อมูลส่วนหนึ่งก็มาจากการค้นคว้าหนังสือของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า ตำนานวังน่า
นอกจากนี้ คำว่าวังน่านิมิต ชื่อนิทรรศการเป็นการผสมคำระหว่างคำว่า วัง-น่า-นิมิต ซึ่งใครที่ไม่เคยได้ยินคำว่าวังน่ามาก่อนเลย ก็จะอ่านในลักษณะแยกทีละคำ ก็จะได้ความหมายเพิ่มเติมว่า วังที่น่าคิดฝัน หรือน่าจินตนาการถึง
คำว่านิมิต ที่นำมาต่อท้ายนี้ ภัณฑารักษ์ได้แนวคิดมาจากตอนวางโครงนิทรรศการ ซึ่งมีการนำแผนที่วังหน้ามาจัดแสดง ในหนังสือภาษาอังกฤษสมัยเก่าที่เกี่ยวข้องกับวังหรือปราสาทจะเรียกว่า Architecture Ensemble (ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้คำว่า plan) ในมุมมองของภัณฑารักษ์แล้ว ตัวคำมีความเป็นกวี (poetic) จึงนำคำนี้มาคิดเป็นคำในภาษาไทยต่อ โดยเอาใจความสำคัญที่ต้องการสื่อสารกับผู้ชมเป็นหลัก คือการจินตนาการถึงสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอยู่แล้ว
แบบตัวอักษรมาจากลายมือของหมอบรัดเลย์ในหนังสือ ครรภ์ทรักษา
แบบตัวอักษร
ตัวอักษรชื่อนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ มองดูคล้ายลายมือของคนไทยในยุคก่อน ซึ่งเห็นได้ตามหนังสือเก่า แท้จริงแล้วมีที่มาจากป้ายบอกชื่ออาคารพระที่นั่งในวังหน้า ที่ทำขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประกอบกับทีมงานนิทรรศการได้ไปพบแบบอักษรนี้ในเว็บไซต์ตัวอักษรชื่อว่า ‘ครรภ์ทรักษา’ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากลายมือของหมอบรัดเลย์ในหนังสือ ครรภ์ทรักษา หนังสือแปลเกี่ยวกับการดูแลครรภ์ จึงได้นำแบบตัวอักษรมาใช้ในนิทรรศการครั้งนี้
การเทียบสีแดงชาดจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และ Pantone
สีแดงชาด
คาแรกเตอร์สีหลักที่ใช้ในนิทรรศการนี้คือ สีแดงชาด โดยภัณฑารักษ์ และ Means Design Studio ได้ลงพื้นที่วังหน้า เพื่อทำการเก็บข้อมูลเรื่องสีและเส้นสายสถาปัตยกรรมต่างๆ เพื่อแปลงข้อมูลออกมาให้เป็น Visual Language หรือทำกราฟิก พบว่า สีชาดเป็นสีที่โดดเด่นที่สุดของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ จึงนำสีมาเทียบกับผงชาดที่ซื้อจากร้านขายยา แล้วมาเทียบกับ Pantone จนได้เป็นเบอร์สีของ Pantone ที่นำมาใช้ในงานกราฟิกของนิทรรศการ
โลโก้ที่ออกแบบจากอาคาร 3 หลังของวังหน้า
โลโก้
Means Design Studio ได้ออกแบบโลโก้ของนิทรรศการ โดยมีที่มาจากแบบแปลนของอาคาร 3 หลังในวังหน้า คือ พระที่นั่งคชกรรมประเวศ พลับพลาสูง และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย สื่อถึงการเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน ด้วยการใช้เส้นประแสดงถึงอาคารที่ไม่มีในปัจจุบันแล้ว และใช้เส้นทึบแสดงถึงอาคารที่ยังคงอยู่ โดยส่วนที่มีทั้งเส้นประและเส้นทึบคือ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่บางส่วนยังคงมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ และบางส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เส้นทางศึกษาวังหน้า
หลังนิทรรศการวังน่านิมิตที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครสิ้นสุดลง ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์วังหน้าจะยังคงสามารถเรียนรู้และสัมผัสเรื่องราวของวังหน้าได้อีกครั้งในบรรยากาศพื้นที่จริง เนื่องจากนิทรรศการวังน่านิมิตจะย้ายกลับไปจัดแสดงที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ ในเดือนธันวาคม แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น หากใครสนใจอยากค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการวังน่านิมิต ตลอดจนประวัติศาสตร์แง่มุมต่างๆ ของพระราชวังบวรสถานมงคล ก็สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ wangnaproject.space ส่วนในระหว่างนี้สามารถอ่านชุดบทความเผยแพร่ประวัติศาสตร์วังหน้าอย่างละเอียดได้ที่นี่
- โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม