อดีต…ความทรงจำ…ประวัติศาสตร์ สามคำสำคัญที่ล้วนบ่งบอกถึงสิ่งที่ล่วงผ่านไปแล้ว แต่มีนัยบางอย่างที่ทำให้เราไม่อาจเพิกเฉยหรือลืมเลือนไปได้ง่ายๆ
และเพื่อย้ำเตือนไม่ให้เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจะกลายเป็นอดีตในอนาคต สูญหายไปกับรอยต่อแห่งกาลเวลา เราจึงมักจะมีวิธีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ในซอกมุมแห่งความทรงจำ เพื่อรอคอยให้กลับไปรื้อฟื้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องการ
ในระดับปัจเจกบุคคล บันทึกและภาพถ่ายคือ หนทางเก็บเรื่องราวดีๆ ในชีวิตไว้เล่าขาน จากไดอารีส่วนตัวที่เจ้าของหวงแหน มาสู่ยุคปัจจุบันที่คนหลากรุ่นหันไปพึ่งโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องช่วยจำแบบเปิดโล่งให้คนอื่นได้อ่านเนื้อหาและเห็นภาพ (ถ้ามี) ไปพร้อมๆ กัน
ในระดับประเทศ เรามีสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติทำหน้าที่สำคัญในการบันทึกและเก็บรักษาเอกสารลายลักษณ์และภาพต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่คู่ควรแห่งการเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า
ภาพเก่าเล่าประวัติศาสตร์: มรดกความทรงจำแห่งโลก
พระบรมวงศานุวงศ์รุ่นเล็กถ่ายภาพหมู่ร่วมกันข้างเรือนต้น พระราชวังดุสิต
ประมาณ พ.ศ. 2447
Photo: www.thaiglassnegative.com
ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ฉลองวาระสำคัญที่องค์การ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ประจำปี 2560 ด้วยการจัดนิทรรศการ ‘เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก’ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
ส่วนหนึ่งของเอกสารภาพที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
Photo: สำนักหอจดหมายเหตุ
นอกจากจะเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกตามที่ยูเนสโกยกย่อง ส่วนหนึ่งของฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาตินี้เอง ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ทีมงานจากกรมศิลปากรและผู้เกี่ยวข้องใช้ในการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งใน พ.ศ. นี้ผ่านโครงการนิทรรศการวังน่านิมิต
“โดยปกติแล้วหอจดหมายเหตุแห่งชาติมีหน้าที่ในการจัดเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อมูลชั้นต้น เพราะฉะนั้นความสำคัญของโครงการวังน่านิมิตคือ ทางหอจดหมายเหตุมีภาพและเอกสารที่เก็บรักษาไว้เกี่ยวกับวังหน้า โดยชุดสำคัญคือ ชุดเอกสารกรมราชเลขาธิการในรัชกาลที่ 5 ซึ่งในเอกสารก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับวังหน้า อีกส่วนก็จะเป็นภาพฟิล์มกระจกค่ะ เป็นชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ก็จะมีภาพที่เกี่ยวกับวังหน้า
“นอกจากนี้แล้วก็จะมีเอกสารชุดอื่นๆ เช่น เอกสารชุดของกองโบราณคดี ชุดนี้ก็จะเป็นรายละเอียดในเรื่องของการซ่อมสร้าง ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวกับวังหน้าค่ะ” นันทกา พลชัย ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่าวถึงชุดเอกสารสำคัญๆ ที่ทีมนักจดหมายเหตุสืบค้น เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
นันทกา พลชัย ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
“อีกชุดที่น่าสนใจคือ ภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันต์ โดยถ่ายในช่วง พ.ศ. 2485 ซึ่งเขาถ่ายเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่เขาจะถ่ายโดยละเอียด เพราะฉะนั้นก็จะเห็นเลยว่าอาคารเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเอามาประกอบกับเอกสารหรือภาพถ่าย เราก็จะเห็นรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงว่า วังหน้ามีพัฒนาการอย่างไรจาก พ.ศ. 2485 เป็นต้นมา
“และก็ยังมีชุดเอกสารอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเอง โดยเป็นชุดที่เข้าไปบันทึกเหตุการณ์และรวบรวมภาพ โดยทั้งหมดนี้ก็จะเป็นชุดที่ถูกเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติค่ะ” ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติกล่าวเสริม
ภาพถ่ายทางอากาศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยวิลเลียม ฮันต์
Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ.WH2/41 กล่อง 1
การบันทึกเรื่องราวสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศตามที่นันทกาเอ่ยข้างต้น ถือเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. 2556
“หอจดหมายเหตุมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การบันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติ อย่างเช่นปีที่แล้วก็เป็นงานพระบรมศพ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเข้าไปบันทึกเหตุการณ์ แต่เวลาไปบันทึกเหตุการณ์ก็จะมีการศึกษาข้อมูล ภูมิหลังของเหตุการณ์ที่จะบันทึก กำหนดการ รายละเอียด ใครเป็นบุคคลสำคัญ เพราะการถ่ายภาพเหตุการณ์ ต้องถ่ายทุกสเตป เหมือนเป็นการบันทึกด้วยวิธีการจดค่ะ ในขณะเดียวกันพอเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะมาเรียบเรียง ภาพกับเอกสาร จะเป็นเหตุการณ์ที่บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ” ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติอธิบาย
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ข้อมูลที่บันทึกและเก็บไว้เป็นสมบัติทางประวัติศาสตร์ของชาติในอนาคตมีความถูกต้องและไร้ข้อผิดพลาด ทีมงานหอจดหมายเหตุจะต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหาก่อนจะจัดเก็บเอกสารลายลักษณ์ และภาพไว้ในระบบสืบค้นเพื่อการใช้งานต่อไป
“จะมีคนช่วยตรวจสอบ ตรวจสอบทั้งการใช้ภาษาและเหตุการณ์ว่าถูกต้องเรียบร้อยไหม เหมือนอย่างงานพระบรมศพ ถ้าพูดถึงการก่อสร้างพระเมรุมาศ คนที่จะตรวจให้เราคือ สำนักสถาปัตยกรรม หากเป็นเรื่องของพระราชพิธี สำนักพระราชวังก็จะเป็นคนตรวจสอบ เพื่อความถูกต้องของข้อมูล
“เพราะการบันทึกเหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งเอกสารจดหมายเหตุของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติคือข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า เอกสารหรือข้อมูลตรงนี้ เวลาเอาไปเผยแพร่ก็เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ค่ะ” ผอ. นันทกาเผย
ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติในพื้นที่ให้บริการชั้น 1
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของจำนวนบุคลากรในหน่วยงาน การบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ของชาติทันทีที่เกิดขึ้น อย่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
“เจ้าหน้าที่จริงๆ แล้วมีไม่มากเลย โดยทุกกลุ่มก็จะมีนักจดหมายเหตุ 4 คน และมี ผอ. กลุ่ม รวมเป็น 5 คน มีลูกจ้างด้วย รวมแล้วก็จะมีประมาณ 12 คน ส่วนกลางมีกลุ่มบันทึกเหตุการณ์ แต่ในขณะเดียวกัน งานตรงนี้เป็นความรับผิดชอบของหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่คลอง 5 ปทุมธานี เพราะฉะนั้นสองส่วนก็รวมกัน ช่วยกันทำงาน แต่ก็ไม่เพียงพอ (หัวเราะ) ซึ่งทางเราก็จะมีวิธีคือ ผู้สนับสนุนหอจดหมายเหตุคือ ในส่วนของการจดบันทึกเหตุการณ์ แน่นอนว่าต้องเป็นนักจดหมายเหตุที่จะเป็นคนจดบันทึกเหตุการณ์ แต่ในส่วนของการถ่ายภาพ เรามีทีมช่วยเป็นร้อยคนเลยค่ะ แต่ก็ไม่ง่ายนะคะ เพราะต้องถ่ายภาพที่เป็นจดหมายเหตุ
“แต่เราก็จะดูว่าแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญอย่างไร แล้วเขาก็จะเป็นทีม ซึ่งเขามีงานของเขาอยู่แล้วนะคะ แต่ว่าเราจะสื่อสารทางกลุ่มไลน์ค่ะ เราจะบอกว่า วันนี้มีกิจกรรมตรงนี้ มีใครอาสาจะไปถ่ายภาพให้ไหม ขณะเดียวกันเราก็ต้องอบรมเขาว่า วิธีการถ่ายภาพแบบจดหมายเหตุนั้นถ่ายอย่างไร โดยต้องถ่ายในภาพรวมให้เห็นเหตุการณ์ในภาพรวม แต่ก็ต้องถ่ายเจาะให้เห็นทุกขั้นตอนของงาน และก็ต้องเก็บรายละเอียด บริบท บรรยากาศต่างๆ รอบตัวด้วย”
งานบันทึกเหตุการณ์ในปัจจุบันเพื่อที่อีก 10-20 ปี คนจะได้มาค้นเอกสารจดหมายเหตุ อย่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้จำนวนภาพเป็นหมื่นๆ แสนๆ ภาพ คำถามสำคัญคือ เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุมีขั้นตอนวิธีการคัดเลือกอย่างไร เพื่อจะเก็บเข้ามาอยู่ในคลัง
“นั่นเป็นขั้นตอนของการประเมินในครั้งต่อไปค่ะ แต่ตอนแรกเราเก็บหมด เรามีวิธีการเก็บ โดยเก็บที่ส่วนบุคคลคือ ภายใต้บุคคลเราจะเก็บตามงาน ว่างานอะไร วันที่เท่าไร เพราะฉะนั้นภาพหนึ่งภาพถ้าหากนำมาใช้ จะต้องทราบว่า ใครเป็นผู้ถ่ายภาพ เป็นเหตุการณ์วันอะไร และต้องเก็บเอกสารประกอบตรงนั้นว่า งานตรงนี้มีรายละเอียดของงานอย่างไร เพราะงานที่เป็นภารกิจยากลำบากของหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็คือ การทำคำอธิบายภาพ
“อย่างชุดฟิล์มกระจกของหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งเป็นภาพที่ส่วนใหญ่โครงการวังน่านิมิตนำไปใช้ สิ่งที่ยากมากคือ ภาพฟิล์มกระจกหอพระสมุดวชิรญาณจำนวน 35,427 ภาพ บัญชีมีค่ะ แต่รายละเอียดไม่ครบ และเยอะมากที่ไม่มีคำอธิบายภาพ เพราะฉะนั้นการอ่านภาพก็จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่เก่งทางด้านงานอาคาร ด้านบุคคล ด้านเหตุการณ์ โดยเชิญท่านมาช่วยอ่านภาพ
“ภาพที่เกิดใหม่ เรารู้ปัญหาตรงนี้ เราเลยต้องกำหนดว่า คำอธิบายภาพต้องมี ต้องชัดเจนว่า บุคคลที่สำคัญในภาพคือใคร ต้องเขียนไว้เลยค่ะ เพื่อที่เวลาเก็บภาพแสนกว่าภาพ เราต้องมาจัดระบบ จัดหมวดหมู่เครื่องมือช่วยค้นคว้า เพื่อให้บริการการค้นคว้า” ผอ. นันทกาเสริม
“บทบาทการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและการเก็บรักษาข้อมูลของเดิมให้คงอยู่ มีขั้นตอนการทำงานที่มีความยากง่ายต่างกันไป แต่การเก็บรักษาอันเดิมสำคัญกว่าค่ะ ต้นฉบับเป็นงานหัวใจของหอจดหมายเหตุ บางที่ผู้ค้นคว้าค้นเอกสาร ถ้าหากคนเอาไปเขียน มันเหมือนผ่านทัศนคติของคนที่จะเลือกเขียน แต่นี่คือข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นเอกสารจดหมายเหตุ โดยเฉพาะเอกสารราชการเป็นเอกสารที่รัฐบาลได้ดำเนินงานตรงนั้น คิดและตัดสินใจอย่างไร ทั้งหมดล้วนอยู่ในเอกสาร ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นข้อมูลชั้นต้น” ผอ. นันทกายืนยัน
การเก็บรักษาเอกสารสำคัญของชาติเช่นนี้ที่ทำให้การสืบค้นข้อมูลต่างๆ เพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านโครงการนิทรรศการวังน่านิมิตเกิดขึ้นได้ และหากมองในแง่ส่วนตัว ผู้อำนวยการของหน่วยงานที่บันทึกและเก็บรักษาคลังข้อมูลประวัติศาสตร์จำนวนมากมีความคุ้นเคยพื้นที่วังหน้าไม่น้อย
“ผูกพันค่ะ พื้นที่ตรงนั้นทั้งหมด พี่เรียนประวัติศาสตร์ค่ะ ตอนมาทำโครงการวังหน้า เขาก็บอกว่า ย้อนไปสมัยเป็นวังหน้า เราตั้งคำถามว่า แล้วเป็นวังหน้าตอนไหนล่ะ พ.ศ. ไหน ย้อนกลับไปแค่ไหน เพราะว่าจริงๆ แล้วโรงละครแห่งชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของวังหน้า ทีมงานคุยกันว่า จะคงส่วนหนึ่งของวังหน้าไว้ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เหมือนกัน
“ดังนั้นโครงการวังน่านิมิตเป็นส่วนที่ดีมากคือ สร้างให้เห็นว่า ถ้าสมัยเดิม จริงๆ วังหน้าเป็นแบบนี้นะ เคยมีอาจารย์นักประวัติศาสตร์ชาวต่างประเทศ เขาบอกว่า เวลามาเมืองไทยแล้วเห็นเจดีย์เก่า เขาอยากให้สร้างหรือจำลองสิ่งที่สมบูรณ์ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เขาเป็นชาวต่างชาติ มองไม่เห็น ไม่ทราบ จริงๆ แล้วคนไทยส่วนหนึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันนะคะ นิทรรศการนี้จึงเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในจุดนี้” ผอ. นันทกาอ้างอิงถึงการนำวิทยาการมาสร้างแบบจำลองของอาคารเก่าที่ผุพังไปตามกาลเวลา ให้กลับมาโลดแล่นในนิทรรศการวังน่านิมิต
จดบันทึกและเก็บไว้ให้เป็นมรดกของชาติ
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่เทเวศน์
กรพินธุ์ ทวีตา หัวหน้ากลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อธิบายเพิ่มเติมเรื่องความสำคัญของการเก็บเอกสารที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ โดยภาพและเอกสารที่เก่าที่สุดที่มี สามารถย้อนหลังกลับไปไกลสุดคือ สมัยรัตนโกสินทร์ ตอนปลายรัชกาลที่ 4
“เช่น ภาพที่พระองค์เสด็จฯ ไปหว้ากอกับผู้สำเร็จราชการอังกฤษ อันนี้เป็นภาพประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 4 รวมทั้งภาพถ่ายที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่พระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในอเมริกา และที่หอจดหมายเหตุของอังกฤษ รวมถึงพระราชวังวินด์เซอร์
“สมัยรัชกาลที่ 4 มีการเปลี่ยนแนวความคิด เพราะพระองค์ทรงมีมิตรสหายชาวตะวันตก แนวความคิดที่ว่าการถ่ายรูปจะทำให้อายุสั้นก็หายไป แล้วยิ่งสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดการฉายพระรูป ภาพในสมัยนี้ที่พระองค์ทรงถ่ายเอง เรามีภาพที่ช่างภาพจับภาพพระองค์อีกที ขณะทรงทำหน้าที่เป็นช่างภาพ แล้วพระองค์โปรดให้พระราชโอรส พระราชธิดา และเจ้านายฝ่ายใน เรียนรู้เรื่องกล้อง เพราะฉะนั้นการถ่ายรูปก็เลยแพร่หลาย มีการผลิตภาพมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5” หัวหน้ากลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการเล่า
แน่นอนว่า เมื่อที่นี่เป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์ของชาติ ทีมงานเบื้องหลังจึงเป็นกำลังสำคัญเบื้องต้นในการสืบค้นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการปะติดปะต่อเรื่องราวของวังหน้าให้เป็นรูปเป็นร่าง
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 41M00108
“ในการประชุมแต่ละครั้งจะมีการกำหนดว่า ทีมงานนิทรรศการต้องการภาพอะไร เรารู้ว่า ภาพชุดเก่าที่จะสนับสนุนได้เป็นภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณที่เราเรียกว่า หวญ. แล้วก็จะมีกล่องหนึ่งเลยที่ว่าด้วยหมู่พระที่นั่ง ไม่ว่าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งคชกรรมประเวศ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เหล่านี้จะอยู่ในชุดเดียวกัน ก็เลยง่ายขึ้นในการค้น
“ขณะเดียวกันเราก็มองว่า ภาพในหอจดหมายเหตุบางครั้งคำอธิบายภาพสั้นนิดเดียว บางภาพไม่มีคำอธิบายเลย ในฐานะเจ้าหน้าที่นักจดหมายเหตุ เรารู้ดีว่าการจะสนับสนุนข้อมูลภาพให้มีความสมบูรณ์ มีความกระจ่าง เราต้องกลับไปค้นเอกสารลายลักษณ์ เพราะฉะนั้นการทำงานอาจจะช้าตรงนี้ เราต้องดูว่า แล้วเอกสารลายลักษณ์ชุดไหนที่จะสนับสนุนตรงนี้ ยกตัวอย่างเช่น เราไปเจอเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 ของกระทรวงกลาโหม ที่มีการสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ซึ่งแต่เดิมในพื้นที่วังหน้าจะมีส่วนที่เป็นโรงทหาร พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้รื้อออก ตรงนี้เอกสารปรากฏอยู่ว่ามีการรื้อในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้นถ้ามีภาพถ่ายเรื่องนี้ก็นำมาเปรียบเทียบได้
“หรือการที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกเช่นกัน แต่เป็นกระทรวงโยธาธิการ มีการซ่อมท้องพระโรง พระราชวังเดิม ข้อมูลรายละเอียดมีเท่าที่ปรากฏ หรือเอกสารชุดกระทรวงศึกษาธิการ เราพบว่า มีการขนแผ่นศิลาหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมานไปปูพื้นในวัดเบญจมบพิตร อันนี้ก็จะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เป็นความรู้ที่เรามีข้อมูลอ้างอิง หรือเอกสารกระทรวงศึกษาธิการอีกชุดหนึ่งที่เราพบว่า มีการรื้อตึก ทำรั้วเหล็กริมถนนหน้าพระธาตุบางจุด ในภาพเก่าๆ จะยังไม่มีรั้ว แต่ภาพหลังจากนั้นก็จะเห็นว่ามีรั้วตั้งขึ้น อะไรอย่างนี้ หรือการย้ายปืนทองเหลืองไปหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ การซ่อมสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่ชาติ และช่วงหลังๆ มีการก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ เพราะการทำหมู่พระที่นั่งเป็นพิพิธภัณฑสถานเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 7 ส่วนการสร้างโรงละครแห่งชาติก็เกิดขึ้นสมัยต่อมา ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงช่วงต้น พ.ศ. 2500 แล้วก็รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ มาเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เราดูหมด” กรพินธุ์อธิบายให้เห็นภาพการทำงานสืบค้นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นข้อมูลพื้นฐานของนิทรรศการวังน่านิมิต
กรพินธุ์ ทวีตา หัวหน้ากลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
“อย่างตอนรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ มาเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เราพบเอกสารอยู่ใน สบ2 คำว่า สบ. คือ เอกสารส่วนบุคคลของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งพระองค์ทรงเกี่ยวข้องโดยตรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ก็เหมือนกับว่า เราไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ แต่ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับเอกสาร ทำให้เราต้องรู้ภารกิจของหน่วยงาน แล้วเราก็จะเข้าไปค้นได้ สมัยรัชกาลที่ 5 มีกระทรวงโยธาธิการ พอถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนเป็นกระทรวงคมนาคมแล้ว เพราะบทบาทหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลง เราเองก็ต้องรู้ตรงนี้ เพื่อที่จะเข้าใจภาพรวม และเราก็แนะนำผู้ค้นคว้าอย่างนี้ว่า ถ้าภาพไม่สมบูรณ์คุณต้องมาค้นข้อมูล เราถึงได้มีโครงการอ่านภาพขึ้นน่ะค่ะ คือเราเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ ท่าน รวมทั้งนักประวัติศาสตร์ มาช่วยอ่านภาพ เพื่อทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้น” กรพินธุ์อ้างถึงการตรวจสอบภาพและข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุเอ่ยถึงข้างต้น
“สำหรับคณะทำงานชุดวังน่านิมิต เขากำหนดมาว่า ต้องการลำดับเวลาที่จะนำ ภาพจดหมายเหตุไปเสริมตรงไหนบ้าง ขณะเดียวกันเราต้องไปดูในเอกสารเก่าอื่นๆ ด้วย เพราะกรมพระราชวังบวรสมัยรัตนโกสินทร์มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่เราไม่มีเอกสารแน่นอน ก็ต้องไปค้นที่หอสมุดแห่งชาติ เราทราบตรงนี้ เพราะหอสมุดแห่งชาติมีแผนกเอกสารโบราณที่อยู่ในรูปสมุดไทยดำ ไทยขาว หรืออยู่ในกระดาษข่อย สมุดข่อย เมื่อเรารู้ตรงนี้ปุ๊บ ช่วงหนึ่งเราก็ต้องไปค้นทางโน้น แล้วมาค้นที่เราในช่วงที่เราเรียกว่าเป็นกระดาษฝรั่งแล้ว คือเป็นกระดาษที่ผลิตขึ้นจากโรงพิมพ์ ตรงนี้จะทำให้เราได้รอยต่อที่ทำให้มองเห็นภาพประวัติศาสตร์ได้ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาเลยค่ะ
“เท่าที่เคยซักถาม หอสมุดแห่งชาติมีการเก็บเอกสารย้อนไปไกลสุดคือ สมัยปลายอยุธยา แต่จะมีเอกสารมากขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี จะสังเกตว่า เราคนไทยไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรานิยมพูดหรือเล่ากัน แต่การจดบันทึกของเราไม่เหมือนชาวต่างประเทศหรือฝรั่ง เพราะฉะนั้นในการทำละครที่โด่งดังอย่าง บุพเพสันนิวาส เผอิญดิฉันได้ไปเรียนที่โปรตุเกส และช่วงฉลองความสัมพันธ์ 500 ปี เคยร่วมเดินทางไปกับทีม The Nation Documentary นะคะ ไปทำสารคดีเป็นเวลาหนึ่งเดือนที่โปรตุเกส แล้วตัวเองเป็นนักเรียนเก่าที่ไปเรียนภาษาที่นั่น สิ่งที่เราได้รู้ก็คือ ถ้าออเจ้าได้ไปค้นข้อมูลเนี่ย (หัวเราะ) มันจะมีเอกสารในหอสมุดพระราชวังอาจูดา ซึ่งที่นั่นรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารค่ำตามคำเชิญของกษัตริย์โปรตุเกส ที่นั่นจะมีเอกสารที่บาทหลวงรายงานการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย มีการบันทึกว่า คนไทยมีอัธยาศัยใจคออย่างไร ปิดกั้นไหม รวมทั้งเรื่องของกรณีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระเพทราชา กรณีที่เกิดในราชสำนัก ตรงนี้มีบันทึกอยู่ เพราะศาสตราจารย์โปรตุเกสที่ร่วมไปแนะนำ ท่านอ่านให้ฟัง จากเอกสารเป็นลายมือและเป็นภาษาโบราณ นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า ถ้าเป็นบาทหลวงก็จะรายงานไปยังสมเด็จพระสันตปาปา ถ้าเป็นพ่อค้าเข้ามาค้าขายก็รายงานไปยังกษัตริย์ เพราะฉะนั้นข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยในสมัยอยุธยา ประเทศหนึ่งที่เราจะไปค้นคว้าได้คือ โปรตุเกส” หัวหน้ากลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อธิบายให้เห็นภาพกว้างของการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของชนชาติหนึ่ง ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการบันทึกเรื่องราวผ่านมุมมองของคนต่างด้าว และเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุในอีกประเทศโพ้นทะเล
ส่วนหนึ่งของตู้เก็บเอกสารภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณและชุดส่วนบุคคล
การบันทึกข้อมูลในอดีตทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีทัศนะจากหลากหลายมุมมอง ภาพรวมของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะชัดเจนยิ่งขึ้น นี่เป็นสิ่งที่น่าค้นหาสำหรับคนที่หลงใหลในประวัติศาสตร์
“มันเป็นความชอบนะคะ ตอนที่เขาให้เลือกว่า จะเรียนเอกอะไรตอนปี 3 (มหาวิทยาลัยศิลปากร) เราก็ ‘เอาประวัติศาสตร์ดีกว่า’ ขณะที่เพื่อนส่วนหนึ่งเลือกเอกภาษาอังกฤษกัน เพราะมองเรื่องอาชีพ เรื่องการใช้งานในอนาคต แต่เราไม่ได้มองเรื่องนั้น เราเลือกสาขาจากสิ่งที่เราชอบ ชอบรู้อะไรที่มันไม่ใช่สมัยเราน่ะค่ะ เราชอบความคิด หาข้อมูลแล้ววิเคราะห์ว่าทำไมเขาคิดอย่างนั้น ทำไมเขามีอย่างนั้น แล้วพอมีโอกาสได้ไปอยู่ในเมืองเก่าๆ ตอนที่ได้ทุนของมูลนิธิในโปรตุเกสไปเรียนภาษา เรายิ่งรู้สึกว่า มีอะไรที่ให้เราได้ไปเห็น ไปเรียนรู้ได้เยอะแยะ ได้อ่านได้เห็นเอกสารที่พาเราย้อนเวลากลับไปได้เยอะเลย” กรพินธุ์เล่าย้อนถึงที่มาของการลงเอยในหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกับมิติแห่งอดีต
กรพินธุ์และส่วนหนึ่งของภาพเก่าอันเป็นมรดกสำคัญของชาติ
“ตอนที่เราเริ่มต้นทำงานที่หอจดหมายเหตุด้วยระดับซี 3 ตอนเข้ามาก็ต้องอยู่ในกลุ่มที่ต้องจัดหมวดหมู่ ทำเครื่องมือช่วยค้น ซึ่งเป็นกลุ่มงานที่ยากมาก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมานั่งอ่านเอกสารบ้าง เราต้องผลิตเครื่องมือช่วยค้น แต่ตัวพี่เองมานั่งเพลินกับกองเอกสาร มีอะไรหลายสิ่งที่พอเรามีโอกาสมานั่งเอกสารก็ทำให้เรานึกย้อนไปได้ อย่างรัชกาลที่ 5 ทรงรับเสด็จทเซอซาเรวิช ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จฯ ไปสิงคโปร์เพื่อรอรับเสด็จ เพราะท่านส่งพระราชโอรสท่านไปศึกษา มีเอกสารจดหมายเหตุที่ทางทูตไทยรายงานว่า มีอยู่วันหนึ่งที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสและสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ ออกมหาสมาคม พระองค์ทรงจูงมือเจ้าฟ้าจักรพงษ์ แสดงออกซึ่งความรักเหมือนโอรสของพระองค์ ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในเอกสาร
“หรือตอนที่ทเซอซาเรวิช เสด็จฯ มาถึงกรุงเทพฯ มีการจัดต้อนรับที่อยุธยา พอเราอ่านเอกสารว่า มีการแสดง มีจุดไฟอะไร มีการแสดงชกมวย และอะไรต่ออะไร เราก็ได้เห็นว่า มีปรากฏหลักฐานว่าเรือออโรราของรัสเซีย เป็นเรือที่เข้ามาถึงปากน้ำ ปีหนึ่งมีโอกาสไปจัดนิทรรศการ 300 ปี เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พี่รวบรวมเอกสาร รวบรวมอะไรทั้งหมดไปจัดแสดง ปรากฏว่า เรามีโอกาสได้ไปจัดแสดงบนเรือออโรรา ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเรือที่มาถึงกรุงเทพฯ โอ้โห มันก็เลยเป็นประสบการณ์ที่ได้อะไรเยอะ ถ้าถามว่าทำไมต้องสนใจประวัติศาสตร์ ก็ต้องบอกว่ามาจากความชอบเป็นหลัก
“จริงๆ การเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่อะไรคร่ำครึนะคะ เป็นการเรียนที่ทำให้เราได้รู้ว่า คนสมัยก่อนคิดอะไร เขาอยู่กันอย่างไร เราได้มองย้อนไปในอดีต” กรพินธุ์สรุปสั้นๆ ถึงสาขาที่ทำให้ตนเองมาอยู่เบื้องหลังการทำงานเก็บข้อมูลเอกสารสำคัญของชาติ และกลายมาเป็นทีมสนับสนุนการจัดนิทรรศการวังน่านิมิตในที่สุด
ในฐานะเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร กรพินธุ์มีความคุ้นเคยกับพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ระดับหนึ่ง แต่การมาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่กำลังเปิดให้เข้าชมอยู่ในขณะนี้ เธอมองภาพของวังหน้าชัดเจนขึ้น
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
Photo: พอจดหมายเหตุแห่งชาติ 45M00014
“เดิมทีเวลาที่เรามีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องเราก็ต้องไป พระที่นั่งที่เราจะต้องขึ้นไปเสมอๆ อยู่ก่อนแล้วคือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เพราะมีกิจกรรมหลายอย่างของกรมศิลปากร รวมทั้งไปกราบไหว้พระพุทธสิหิงค์ในวันปีใหม่ ที่จะมีการเอาพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ให้ประชาชนได้ไปสักการะ เราก็ขึ้นไปและมีความคุ้นเคยตรงนั้น เราไปโรงละครแห่งชาติเวลาที่มีกิจกรรมของกรมศิลปากร แล้วแต่วาระ ก็ทราบแค่ตรงนั้น เวลาที่ไปก็ไม่ได้เดินดูทั้งหมดทั่วบริเวณ
“แต่พอเป็นคณะที่ต้องช่วยสนับสนุนเอกสาร มันทำให้เรารู้ว่า แต่ละพระที่นั่งมีที่มาที่ไปอย่างไร และยิ่งปะติดปะต่อตามลำดับเวลา แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งที่เอาภาพตรงนี้ไปประกอบเรื่องราว นี่รัชกาลที่ 5 นะ พอมาถึงรัชกาลที่ 6 มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว นี่คือสิ่งที่ทำให้เราได้รู้ว่า ภาพแต่ละช็อตแต่ละช่วงที่ถ่ายมันเป็นประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีอะไรชำรุดก็ต้องมีการสร้างหรือซ่อมขึ้นมาใหม่ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเลย เหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 พระที่นั่งคชกรรมประเวศมันทรุดโทรมมาก เพราะสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พอถึงรัชกาลถัดมา ไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว อะไรอย่างนี้เป็นต้น” กรพินธุ์อธิบาย
“เมื่อปีที่แล้ว เรามีการจัดพิมพ์หนังสือพระเมรุมาศและพระเมรุตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเอาภาพเก่ามาจัดแสดง ภาพชุดนี้เป็นภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้ว่า พระราชวังบวรสถานมงคลนี่เป็นสถานที่ประดิษฐานพระศพของเจ้านายด้วย อย่างสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารองค์แรก หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และอีกหลายพระองค์ที่เป็นพระราชโอรส พระราชธิดาของรัชกาลที่ 5 ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพที่นี่ เพราะฉะนั้นภาพเหล่านี้จะเน้นเฉพาะการจัดงานจริงๆ แต่บางครั้งเราจะได้เห็นบริเวณรอบๆ อาจจะได้อะไรที่โผล่ออกมาบ้าง ที่แสดงให้เห็นเป็นหลักฐานที่ช่วยให้เราปะติดปะต่อภาพใหญ่ให้สมบูรณ์ได้พอสมควร”
อย่างที่เอ่ยถึงข้างต้นว่า นอกจากการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของชาติ หอจดหมายเหตุยังมีหน้าที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญในปัจจุบัน ที่จะหลายเป็นอดีตอันทรงคุณค่าในอนาคต โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. 2556 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับงานจดหมายเหตุฉบับแรก
“หลักใหญ่ๆ คือ หมวดที่ว่าด้วยอำนาจของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมวดที่ว่าด้วยเอกสารจดหมายเหตุ จะมีสิ่งที่ระบุไว้ว่า หน่วยงานต้องจัดทำรายการเอกสาร หน่วยงานต้องมีการพิจารณาสำรวจเอกสารทุกสิ้นปีปฏิทิน ดูว่าเอกสารที่อยู่ในหน่วยงานมีความจำเป็นต้องใช้ต่อไป หรือหมดอายุการใช้งาน ถ้าหมดอายุการใช้งาน หน่วยงานก็สามารถส่งมอบให้หอจดหมายเหตุ เพราะฉะนั้นมันทำให้การส่งมอบเอกสารให้หอจดหมายเหตุมีความสม่ำเสมอ และเอกสารที่ส่งมอบจะอยู่ในสภาพดี ไม่ใช่เก็บเอาไว้แล้วรอจน 20-30 ปี พอจะย้ายทีหนึ่ง ย้ายอาคารหรือสถานที่ทำการ เอกสารจะชำรุดไปแล้ว ข้อกำหนดตรงนี้ทำให้มีการบริหารเอกสารของหน่วยงาน
“แต่พอมาถึงหอจดหมายเหตุ เราเรียกว่า บริการเอกสารจดหมายเหตุ คนละลักษณะคือ เป็นเอกสารที่ประเมินแล้วว่าสำคัญ ต้องจัดเก็บถาวรตลอดไป สิ่งนี้จะอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรืออาจจะอยู่ในหอจดหมายเหตุของหน่วยงานที่มีความประสงค์จะจัดเก็บเอง เพราะฉะนั้นโดยหลักๆ จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นการบริหารงานเอกสารที่คุณยังใช้งานอยู่ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นเอกสารที่สิ้นกระแสการใช้งานแล้ว เราประเมินคุณค่า หน่วยงานประเมินมาครั้งแรก ตั้งคณะกรรมการอะไรก็แล้วแต่ตามระเบียบงานสารบัญ มาถึงหอจดหมายเหตุ เราประเมินอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะจัดเก็บอีกที เขาอาจจะส่งมา 100% เราอาจจะเก็บแค่ 5%” กรพินธุ์ชี้แจง
บริการค้นภาพด้วยอินทราเน็ต
ประเด็นสำคัญในจุดนี้คือ เกณฑ์มาตรฐานที่จะใช้วัดว่าเอกสารส่วนไหนทรงคุณค่าพอที่จะต้องจัดเก็บไว้ในหน่วยงานอย่างหอจดหมายเหตุ
หัวหน้ากลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อธิบายหลักการพิจารณาจัดเก็บเอกสารดังนี้
“เราก็จะมีการพิจารณาว่า คุณค่าของเอกสารนั้นสะท้อนประวัติของหน่วยงาน หรือโครงสร้างของหน่วยงานไหม อันนี้เราจัดเก็บแน่นอน เอกสารที่มีอายุ 20 ปีไปแล้ว ถือว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ หอจดหมายเหตุต้องจัดเก็บแน่นอน เอกสารที่มีคุณค่าทางด้านการเงิน ไม่ใช่เรื่องเงินเดือนธรรมดา เช่น ถ้าเราได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ หรือการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมสายใดสายหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งนโยบายและการบริหาร มีการทุ่มเทงบประมาณ เราก็จะมองในแง่นั้น อีกด้านหนึ่งคือ ทางด้านกฎหมาย ด้านที่พิจารณาง่ายที่สุดคือ อะไรที่เกี่ยวกับระดับชาติ ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาที่เราต้องขึ้นศาลโลกในเรื่องเขาพระวิหาร และเราก็แพ้เขมร เราในฐานะนักจดหมายเหตุจะรู้ว่า ที่เราแพ้เพราะข้อมูลแน่นอน เขมรได้ข้อมูลสนับสนุนจากฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาครอบครองเขมร แล้วหลังจากนั้นก็เอาเอกสารกลับประเทศตัวเองทั้งหมด และเมื่อเขมรขึ้นศาลโลก เขามีข้อมูลสนับสนุนจากทางนั้น ถ้าเราเรียนประวัติของงานจดหมายเหตุเราจะรู้ว่า ประเทศแรกที่มีการบริหารงานจดหมายเหตุคือ ฝรั่งเศส เนื่องจากหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบสาธารณรัฐ เอกสารที่กองอยู่ในพระราชวังที่เยอะแยะไปหมด ก่อให้เกิดประเด็นเป็นความคิดขึ้นมาว่า จะบริหารจัดการอย่างไร อังกฤษมาทีหลังฝรั่งเศสในเรื่องการบริหารงานจดหมายเหตุ และอเมริกาก็มาทีหลังอีกที
“ยกตัวอย่างอีกอันหนึ่ง ในปัจจุบันเราจะมีคณะกรรมการที่ปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ตัวดิฉันเองได้มีส่วนร่วมไปหอจดหมายเหตุอังกฤษกับกองเขตแดน กระทรวงการต่างประเทศในการค้นเอกสาร ตอนนั้นเรากำลังค้นเรื่องเขตแดนไทยกับพม่า พอไปถึงเขาบอกว่า “พม่าเขามีหนังสือมา เดี๋ยวพม่าก็จะมาค้น” เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า เจ้าอาณานิคมเนี่ย เอาเอกสารกลับไปเยอะ ถ้าประเทศเราไม่มี เราก็ต้องไปค้นที่เขา เพื่อจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมสมบูรณ์ และเอามาใช้ นี่คือการพิจารณาคุณค่าในด้านกฎหมาย”
บทบาทและหน้าที่ของหอจดหมายเหตุที่อธิบายไปก่อนหน้า ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และใช้เป็นบทเรียนที่ส่งผลต่อมิติปัจจุบัน
“สิ่งสำคัญคือ การเอาไปใช้งาน ปัจจุบันเราได้เรียนรู้ ไม่ว่าคุณจะเอาไปพิมพ์หนังสือ สมุดภาพ หรือจัดนิทรรศการ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ คุณได้มาเรียนรู้โดยเอาข้อมูลเหล่านี้ทุกประเภทที่มีอยู่ในหอจดหมายเหตุไปเผยแพร่สู่สาธารณชน” กรพินธุ์เน้นย้ำ
ในยุคที่คนไทยหันมาสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์มากขึ้น นับตั้งแต่พระราชพิธีพระบรมศพ งานอุ่นไอรัก ตามด้วยกระแสละครที่นำไปสู่การปลุกกระแสแต่งชุดประจำชาติอยู่พักหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราได้ย้อนกลับมาดูตัวตนของเราอย่างจริงจังอีกครั้ง
“พี่มองว่า เราเรียนให้รู้ว่าเราคือใคร มาจากไหน รากเหง้าเราเป็นอย่างไร บรรพบุรุษเราเป็นอย่างไร พอเรียนตรงนั้นปุ๊บ นอกจากเราจะรู้ความคิดของคนสมัยก่อนแล้ว รู้ที่มาที่ไป ความเป็นอยู่แล้ว มันยังทำให้มีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากขึ้น เรารู้ว่าเราคือใคร มาจากไหน และปัจจุบันเราอยู่ตรงนี้ ทำให้เราฉุกคิดมองได้ว่า แล้วอนาคตข้างหน้าล่ะ เราจะเป็นอดีตของอนาคตข้างหน้านะ เรามองว่า สมัยก่อนรัชกาลที่ 5 ทรงเน้นให้มีการเก็บเอกสาร แล้วเราล่ะ เราจะไม่เก็บหรือ เพื่อที่ว่าในอนาคตข้างหน้า เด็กรุ่นใหม่จะย้อนกลับมาดูสมัยของเรา เขาจะศึกษาจากไหน จะเรียนรู้จากไหน นี่คือสิ่งที่พี่มองในฐานะที่ทำงานตรงนี้
“เผอิญเมื่อสองปีที่ผ่านมา พี่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ซึ่งเป็นคณะที่คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ตั้งขึ้นมา โดยผู้ที่ลงนามก็คือ รัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการ สมัยนั้นเราอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการแห่งชาติจะต้องตั้งทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล แต่เราทำงานมาโดยตลอด ขึ้นมรดกความทรงจำแห่งโลกไปหลายชิ้นแล้ว ตั้งแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แล้วก็เอกสารส่วนหนึ่งที่หอสมุดแห่งชาติ จารึกวัดโพธิ์ได้ขึ้นทะเบียนระดับโลก เอกสารของเอกชนชิ้นหนึ่งคือ เอกสารสยามสมาคมได้ขึ้นระดับโลก เราจะจัดประชุมสัมมนาตลอด ปีละครั้ง เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมศิลปากร เราก็ประสานร่วมมือกับคณะกรรมการแห่งชาติตรงนี้
ในการที่จะขึ้นทะเบียน ทีมงานต้องกรอกแบบฟอร์ม และให้ข้อมูลรายละเอียดที่ยูเนสโกจะเอาไปวินิจฉัยพิจารณาว่า เอกสารชิ้นนั้นมีความสำคัญในระดับโลกหรือไม่ เหมาะจะเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกไหม
“ชิ้นเมื่อสองปีที่แล้ว ในฐานะเลขานุการ ก็นำเอาไปเสนอที่ประชุมว่า อยากจะนำเสนอฟิล์มกระจก อาจารย์สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่านบอกว่า ให้ไปเขียนโครงการมา พอเราเขียนมาเป็นภาษาไทย ท่านก็มานั่งทำงานที่นี่ แล้วค้นภาพค้นเอกสารเพิ่มเติม จนกระทั่งเราได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็เป็นที่มาที่ไปของงานฉลองฟิล์มกระจก ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำโลก” กรพินธุ์อ้างถึงงานนิทรรศการ ‘เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก’ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานประวัติศาสตร์ จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
“ที่ขึ้นพร้อมเราในปี 2560 มีออสเตรเลีย วันที่ 30 ตุลาคม เราระบุวันที่ลงไปเพราะใบประกาศที่ส่งมาถึงประเทศไทย เลขาธิการของยูเนสโกลงนามเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ปีนี้เราก็เลยตัดงานเฉลิมฉลอง เพราะในนั้นมีการระบุว่า ให้จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ แล้วเราต้องรายงานไปว่า เราทำอะไร นั่นถือว่าเป็นกิจกรรมใหญ่ ตอนนี้เราขยายไปว่า ให้หอจดหมายเหตุสาขาทำในรูปแบบเดียวกัน
“เราในฐานะหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรามีตัวฟิล์มกระจก 40,000 กว่าแผ่น ขณะเดียวกัน เราก็มีภาพต้นฉบับที่เป็นพรินต์ เป็นภาพต้นฉบับในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะสมัยนั้นเมื่อเป็นฟิล์มอยู่ก็ดูภาพไม่ได้ก็ต้องมีการพิมพ์ออกมาเป็นแผ่นๆ ก็ถือว่าเป็นภาพต้นฉบับชุดหอพระสมุดวชิรญาณที่คณะทำงานวังหน้าใช้อยู่นี่ละค่ะ เรามีทั้งตัวฟิล์มและตัวภาพ ตอนที่เรานำเสนอมรดกโลก เราก็ระบุทั้งสองส่วน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า หลายประเทศเขาก็มีค่ะ มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ อย่างออสเตรเลียขึ้นทะเบียนเพียงชิ้นเดียว ดิฉันไม่ได้อ่านรายละเอียดของเขา แต่ทราบว่า เป็นขนาดใหญ่มาก แล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับซิดนีย์ ก็เป็นอะไรที่มีคุณค่า
“อย่างของเรานี่ ฟิล์มกระจก ข้อหนึ่งก็คือ ความสำคัญในระดับโลกจะต้องมีด้วย เราก็มองว่า ภาพชุดนี้ของเรามีพระบรมฉายาลักษณ์ตอนที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนยุโรป เพราะฉะนั้นก็จะมีตัวอย่างภาพที่แสดงถึงความสำคัญของการที่เราไปเป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกที่สะท้อนออกมาผ่านทางภาพเหล่านี้ค่ะ เราถึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” กรพินธุ์ขยายความถึงที่มาที่ไปที่ทำให้ภาพและฟิล์มกระจกของไทยได้ขึ้นทะเบียนจนเกิดนิทรรศการฉลองในขณะนี้
ทั้งการนำเสนอเอกสารเก่าเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก และการประสานงานกับทีมจัดงานนิทรรศการวังน่านิมิต ที่รื้อฟื้นความเป็นมาของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลพื้นฐานที่จัดเก็บอย่างเป็นระบบในหอสมุดแห่งชาตินี่เอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ 6M00002
“บุคคลที่เราต้องให้ความสำคัญ และยกย่องว่าเป็นพระราชบิดาแห่งจดหมายเหตุคือ รัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำหรับรัชกาลที่ 5 มีข้อมูลที่ทำให้เราทราบว่า พระองค์ทรงระบุว่า เอกสารชุดนี้สำคัญให้เก็บไว้ในอาร์ไคฟ์ ทรงเขียนเป็นภาษาไทยว่า ‘อาไคฟ’ มันเทียบได้กับ ‘archives’ ที่หมายถึงเอกสารจดหมายเหตุ เพราะฉะนั้นเรามองได้ว่า ผู้นำประเทศคือ พระองค์ทรงทราบแล้วว่าอะไรสำคัญ อะไรต้องเก็บ ทำให้เรามีชุดเอกสารสำคัญๆ ที่เป็นสมบัติส่วนพระองค์ทั้งนั้นเลย ที่เรานำมาใช้งานได้ในภายหลัง” หัวหน้ากลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติชี้แจง
เอกสารลายลักษณ์ ภาพ และฟิล์มกระจกที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของสยาม รวมทั้งสะท้อนภาพของวังหน้าที่พร่าเลือนในความทรงจำ จึงกลายเป็นมรดกของชาติที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“พี่เลยมองว่า ถ้าเรามีผู้นำที่เข้าใจในการให้ความสำคัญในการเก็บข้อมูล ทุกอย่างเราจึงไปต่อได้” กรพินธุ์ทิ้งท้าย
ปัจจุบัน นอกจากสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่กรุงเทพฯ ในรอบรั้วเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ ยังมีสำนักงานในระดับภูมิภาคอีก 9 แห่งด้วยกันคือ หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปทุมธานี, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยะลา, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พะเยา, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สุพรรณบุรี (ที่สุพรรณบุรียังมีหอจดหมายเหตุ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา) และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
ทั้งหมดทำหน้าที่เหมือนกันคือ รับมอบเอกสาร ประเมินคุณค่าเอกสาร และจัดหมวดหมู่ จัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า อนุรักษ์ จัดเก็บรักษา ให้บริการ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และสุดท้ายคือ บันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติ เพื่อให้อดีตที่เปี่ยมด้วยความทรงจำกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นต่อไปในอนาคตมาค้นคว้าหรือรื้อฟื้น เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ‘วังน่านิมิต’ ในวันนี้
ถนนหน้าพระลานด้านหน้าของวังหน้า
Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-5(6ใน8)(หน้า)
- โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม