×

NASA เปิดภาพหลากสีสันของจักรวาล ผลงานของกล้องฮับเบิลและเจมส์ เว็บบ์

15.11.2023
  • LOADING...
NASA ภาพจักรวาล

NASA เปิดภาพถ่ายที่มีสีสันมากที่สุดรูปหนึ่งของจักรวาล แสดงให้เห็นกระจุกกาแล็กซี MACS0416 ที่อยู่ห่างจากโลกไปราว 4,300 ล้านปีแสง จากกล้องฮับเบิลและเจมส์ เว็บบ์

 

ภาพถ่ายดังกล่าวเผยให้เห็นกระจุกกาแล็กซี MACS0416 โดยเป็นหนึ่งในวัตถุอวกาศห้วงลึกที่กล้องฮับเบิลได้เริ่มสำรวจมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งอาศัยแรงโน้มถ่วงมหาศาลของกระจุกกาแล็กซี ทำให้เกิด ‘เลนส์ความโน้มถ่วง’ ที่เบี่ยงทางเดินของแสงให้บิดโค้งได้ ก่อนมารวมกันอีกครั้งให้อุปกรณ์บนกล้องโทรทรรศน์สามารถบันทึกภาพได้ ราวกับเลนส์ที่รวมแสงและเพิ่มความสว่างขึ้นมาอีกหลายพันเท่า

 

หนึ่งในวัตถุที่โดดเด่นในภาพนี้คือดาวที่มีชื่อเล่นว่า ‘Mothra’ ในกาแล็กซีที่มีอยู่ตั้งแต่เอกภพมีอายุเพียง 3,000 ล้านปีเท่านั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเลนส์ความโน้มถ่วงของกระจุกกาแล็กซี กับอีกวัตถุลึกลับในเบื้องหน้าที่นักดาราศาสตร์ยังไม่ตรวจพบ ช่วยเพิ่มความสว่างให้ถึง 4,000 เท่า จนปรากฏในภาพถ่ายชุดนี้

 

นอกจากขีดความสามารถของกล้องฮับเบิลในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น นักวิทยาศาสตร์ยังได้ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งสำรวจจักรวาลในช่วงคลื่นอินฟราเรด เพื่อตรวจดูกาแล็กซียุคแรกเริ่มที่แสงถูกเลื่อนไปทางแดงจากการขยายตัวของเอกภพ มารวมเป็นหนึ่งในภาพถ่ายที่มีสีสันมากที่สุดรูปหนึ่งของจักรวาล

 

เยี่ยนเฮ่าจิง จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี และหัวหน้าทีมวิจัยที่ศึกษากระจุกกาแล็กซีดังกล่าวระบุว่า “เราเรียก MACS0416 ว่าเป็นกระจุกกาแล็กซีต้นคริสต์มาส เพราะทั้งสีสันสวยงามและการตรวจพบแสงกะพริบอยู่ทั่วไปในรูปนี้” โดยทีมวิจัยของเขาได้ศึกษากระจุกกาแล็กซีดังกล่าวจากช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อตรวจหาวัตถุที่มีการแปรแสงขึ้น ซึ่งเบื้องต้นมีการตรวจพบมากกว่า 14 แห่งในรูปดังกล่าว

 

สำหรับภาพถ่ายที่ได้รับการเผยแพร่ออกมานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้แทนค่าสีลงไปในข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้งสอง โดยวัตถุที่มีสีน้ำเงินจะอยู่ใกล้โลกที่สุด และมีการกำเนิดของดาวฤกษ์อยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนไล่ไปจนถึงสีแดงที่มีความยาวคลื่นยาวที่สุด ซึ่งบ่งบอกถึงกาแล็กซีที่อยู่ไกลออกไป

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising