×

ภาพถ่าย NASA บอกอะไรเรา เมื่อสังคมไทยตั้งคำถาม สะท้อนปัญหาเหลื่อมล้ำ พัฒนากระจุกตัว

31.05.2024
  • LOADING...
NASA

ภาพบางภาพอาจสื่อได้หลายความหมาย หรือบางครั้งอาจสะท้อนหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจ อย่างเช่นภาพถ่ายประเทศไทยยามค่ำคืนที่ แมทธิว โดมินิก นักบินอวกาศ NASA ถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) สิ่งที่หลายคนโฟกัสและตั้งคำถามคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาที่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่พูดกันในสังคมไทยมาช้านาน

 

เราจึงชวน รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) มาพูดคุย ร่วมตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ และลองหาทางออกร่วมกัน

 

ภาพนี้บอกอะไรบ้าง 

‘การโตเดี่ยว’ แสงสะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในไทย

 

รศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า ภาพถ่ายนี้แสดงถึง ‘การโตเดี่ยว’ (Primate City) ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล สะท้อนนัยของการโตอยู่เมืองเดียว หรือโตอยู่กระจุกเดียว

 

จากเดิมที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว ซึ่งแสงไฟอาจส่องสว่างแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในปัจจุบัน เกิด ‘การโตเดี่ยวที่ใหญ่ขึ้น’ (Conurbation) ที่มีลักษณะเป็นระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์พัทยา รวมถึงสนามบินแห่งใหม่

 

สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิด ‘การเชื่อมต่อระหว่างเมือง’ จนขณะนี้ขยายกลายเป็น ‘พื้นที่เมืองที่มีขนาดมหึมาเชื่อมต่อกัน’ อย่าง Bangkok Metropolitan Region (BMR) ซึ่งรวมถึงจังหวัดโดยรอบกรุงเทพฯ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นศูนย์กลางและปริมณฑลใหม่ของประเทศไทย (New Centrality and Territory of Thailand)

 

ยกตัวอย่างลักษณะการโตเดี่ยวที่ใหญ่ขึ้นในประเทศอื่นๆ ก็อย่างเช่น โตเกียว-โอซาก้าในญี่ปุ่น แต่อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากไทย โดย รศ.ดร.นิรมล ชี้ว่า การโตเดี่ยวที่ใหญ่ขึ้นในญี่ปุ่นมีการวางแผนรองรับเป็นอย่างดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจภาคบริการและอุตสาหกรรม ในขณะที่การโตเดี่ยวที่ใหญ่ขึ้นในไทยเป็นการโตตามธรรมชาติ หรือ ‘ยถากรรม’ บริเวณไหนที่มีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เมืองก็มีแนวโน้มที่จะโตและขยายตัวไปในทิศทางนั้น

 

แสงไฟยามค่ำคืนในภาพถ่ายสะท้อนให้เห็น ‘ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคเมือง’ (Inter-Region) โดยเฉพาะกรุงเทพฯ กับพื้นที่เมืองอื่นๆ ที่เป็นสีดำสนิท และ ‘ความเหลื่อมล้ำภายในภูมิภาคเมือง’ (Intra-Region) ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีระดับความสว่างที่เท่ากันทั่วทั้งเมือง

 

ภาพ: Varavin88 / Shutterstock

 

‘ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ’ กับการแข่งขันระหว่างเมือง

 

สิ่งที่จะตามมาคือ ‘ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลทางสังคมประชากร โดย รศ.ดร.นิรมล อธิบายว่า พื้นที่มืดในภาพบ่งชี้ว่าปัจจุบันนี้เมืองส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะ ‘หดตัวและเนือยนิ่งของเมือง’ (Shrinking City) โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ในพื้นที่ภายในของประเทศ (Inland) ซึ่งมักเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การอพยพไปยังเมืองที่มีความเจริญกว่า ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสในการศึกษาและการทำงาน

 

หากมองในแง่ของจำนวนประชากร ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย อัตราการเกิดลดต่ำลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในทุกมิติ อีกทั้งจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ก็เริ่มลดลง สวนทางกับพื้นที่แถบปริมณฑลที่ยังคงมีแนวโน้มประชากรขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพื้นที่แถบ EEC และบางเมืองเศรษฐกิจตามแนวชายแดน เช่น แม่สอด ที่ได้รับอิทธิพลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่นั้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การโตของเมืองในไทยก็ยังเป็นไปในลักษณะที่เป็นกระจุก ไม่กระจายตัวเป็นวงกว้าง

 

รศ.ดร.นิรมล ยังอธิบายอีกว่า ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ถูกกระตุ้นด้วย ‘การดึงดูดทรัพยากรบุคคลระหว่างเมือง’ (Talent Wars) ที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำเชิงนโยบายและการลงทุนภาครัฐ ส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนย้ายของคนและเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเมืองที่มีศักยภาพก็จะสามารถดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถไปได้ ดังนั้นการโตเดี่ยวที่ใหญ่ขึ้นระหว่างกรุงเทพฯ – EEC ก็ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของแรงงานที่มีความสามารถในไทยขณะนี้ ขณะที่เมืองเล็กๆ ที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันก็เหลือเพียงแต่กลุ่มผู้สูงวัย

 

ไทยกับภูมิภาคเมืองที่เป็น ‘นามธรรม’

 

ไทยมีการแบ่งภูมิภาคออกเป็นเหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันออก แต่ รศ.ดร.นิรมล ชี้ว่า ภูมิภาคเมือง (City-Region) เหล่านี้ของไทยมีลักษณะเป็น ‘นามธรรม’ ไม่มีโครงสร้างองค์กร ไม่มีคน ไม่มียุทธศาสตร์ ขณะที่อำนาจและงบประมาณต่างๆ ยังอยู่ที่ ‘จังหวัด’ ไม่ลงมาถึงเมืองและกลุ่มเมือง ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Growth Engine) ที่สำคัญของประเทศ

 

รศ.ดร.นิรมล ยังมองว่า เมืองต่างๆ ในไทย ยกเว้นกรุงเทพฯ ยังขาดการวางแผนและผังในระดับเมืองและภูมิภาคเมือง สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ โดยมากยังเป็นวัฒนธรรมและการเมืองการปกครองที่ส่งคนจากศูนย์กลางไปปกครอง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งของคนในเมืองหรือพื้นที่นั้นๆ ประกอบกับการเปลี่ยนตัวผู้ปกครองบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ (Vision) ในการพัฒนาเมือง

 

NASA

ภาพ: FredP / Shutterstock

 

รศ.ดร.นิรมล เปรียบเทียบเมืองในต่างประเทศที่น่าสนใจคือเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ในแคว้นนูแวลากีแตน (Nouvelle-Aquitaine) ของฝรั่งเศส ที่นั่นมีการวางแผนในระดับภูมิภาคเมืองและร่วมมือกับเมืองอื่นๆ โดยรอบ มีการปรับปรุงใจกลางเมืองเก่า วางระบบรถราง ผลักดันสตาร์ทอัพ ชูแคมเปญการเป็น ‘City of Wine’ และเมืองสีเขียว (Eco City) พลิกฟื้นเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเหี่ยวเฉาและมีเศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงหลายทศวรรษก่อน ให้กลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน จนสามารถดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่ในฝรั่งเศสได้ไม่น้อย ทำให้ขณะนี้กรุงปารีสไม่ใช่จุดหมายปลายทางเดียวของการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน การสะสมความมั่งคั่ง รวมถึงการมีชีวิตที่ดีอีกต่อไป แต่ยังมีอีกหลายเมืองสำคัญ เช่น บอร์กโดซ์, ลียง, มาร์กเซย และตูลูส เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.นิรมล ระบุว่า หน่วยงานรัฐของไทยเล็งเห็นความสำคัญของเมืองเพิ่มมากขึ้น มีการผลักดันเรื่อง ‘เมืองน่าอยู่’ รวมถึงให้ความสำคัญกับ ‘เมือง’ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 13) และมีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 โดยเปิดโอกาสให้มีการบูรณาการแผน ผัง และงบประมาณ ตั้งแต่จังหวัดมาถึงเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองหรือเทศบาลต่างๆ รอคอยมาโดยตลอด

 

ถึงเวลาต้องเปลี่ยน ‘วิธีคิดในการบริหารจัดการเมือง’

 

ในอดีต เมืองต่างๆ ของไทยมีหน้าที่เพียงแค่ให้บริการสาธารณะ ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ รศ.ดร.นิรมล มองว่า ไม่ใช่วิสัยทัศน์ แต่เป็นเพียงบริการขั้นพื้นฐานเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องเปลี่ยน ‘วิธีคิดในการบริหารจัดการเมือง’ จากที่เคยมองว่าเมืองมีหน้าที่เพียงแค่ทำสิ่งเหล่านั้น มาสู่การเป็น ‘ตัวจักรสำคัญ’ ในการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของตนเอง พร้อมทั้งต้องมองหาประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ รวมถึงร่วมมือกับกลุ่มเมืองโดยรอบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเมืองร่วมกัน 

 

โดย UDDC ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการรวมกลุ่มกันของพื้นที่เมืองและระหว่างเมือง จึงได้จับมือกับหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด วางผังเมืองร่วมกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโมเดลการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจอย่างมาก

 

รศ.ดร.นิรมล กล่าวทิ้งท้ายว่า ไทยจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากแนวคิดบริหารรัฐกิจแบบเดิมๆ มาเป็น ‘การบริหารเชิงกลยุทธ์’ ที่มุ่งเน้นทักษะการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของเมือง ตามนโยบาย ‘เมืองรองเป็นเมืองหลัก’ ลดโอกาสการโตเดี่ยวและกระจายโอกาสการเติบโตของเมืองไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย เพิ่มมิติด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัวของเมือง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น ภาวะโลกเดือดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงการเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอีกไม่ช้านี้

 

ภาพ: NASA

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X