เป็นเวลานานกว่า 50 ปีที่ไม่มีมนุษย์คนไหนเดินทางไปถึงดวงจันทร์ และดูเหมือนเราต้องอดใจรอนานกว่าเดิมครึ่งปี หลังจาก NASA ประกาศเลื่อนส่งอาร์ทีมิส 2 ไปเป็นเดือนเมษายน 2026
อาร์ทีมิส 2 ถูกวางไว้เป็นภารกิจแรกที่พานักบินอวกาศเดินทางกลับไปดวงจันทร์ นับตั้งแต่อพอลโล 17 ภารกิจสุดท้ายของโครงการอพอลโลเมื่อเดือนธันวาคม 1972 แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแผ่นกันความร้อนของยานอวกาศ ทำให้ NASA ตัดสินใจเลื่อนการส่งยานออกไป (อีกครั้ง)
แต่ทำไมการพามนุษย์กลับไปดวงจันทร์ครั้งนี้ถึงเต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ทั้งที่สหรัฐอเมริกาเคยส่งนักบินอวกาศมากถึง 24 คนเดินทางไปดวงจันทร์กับ 9 ภารกิจในโครงการอพอลโลและกลับมาถึงโลกอย่างปลอดภัย ตั้งแต่ครึ่งศตวรรษที่แล้ว
เกิดอะไรขึ้นกับอาร์ทีมิส 2
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ต้องเริ่มต้นจากปัญหาสำคัญที่ทำให้ NASA ประสบ ‘โรคเลื่อน’ กับภารกิจอาร์ทีมิส 2 ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง มาจากแผ่นกันความร้อนของยานโอไรออน ยานบังคับการที่นักบินอวกาศโดยสารตลอดทั้งภารกิจ
แผ่นกันความร้อนมีหน้าที่ปกป้องนักบินอวกาศและยานจากความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างที่ยานอวกาศกลับเข้าสู่บรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง ซึ่งในระหว่างภารกิจอาร์ทีมิส 1 เที่ยวบินทดสอบแบบไม่มีนักบินอวกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 วิศวกร NASA พบว่าชั้นของแผ่นกันความร้อนบางส่วนลอกออกไประหว่างที่ยานกำลังเดินทางกลับโลก
แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่ทำให้นักบินอวกาศตกอยู่ในอันตราย แต่ NASA ต้องการทราบที่มาของปัญหาอย่างแน่ชัด จึงตัดสินใจเลื่อนกำหนดปล่อยยานจากเดิมในเดือนพฤศจิกายน 2024 ออกไปเป็นเดือนกันยายน 2025 เพื่อให้วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญสามารถสืบหาสาเหตุและวางแผนต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักบินอวกาศเป็นสำคัญ
บทสรุปจากการสืบสวนอย่างละเอียดพบว่าปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับวิถีโคจรของอาร์ทีมิส 2 นั่นคือลดระยะเวลาที่ยานจะเผชิญกับอุณหภูมิซึ่งส่งผลให้แผ่นกันความร้อนมีปัญหา แต่ก็ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดปล่อยยานไปเป็นเดือนเมษายน 2026 แทน และเป็นช่วง ‘ต่อเวลาพิเศษ’ ให้กับทีมวิศวกร ที่ต้องแก้ปัญหาระบบแบตเตอรี่และระบบพยุงชีพบนยานโอไรออน เพื่อให้ยานอวกาศมีความพร้อมมากที่สุด ณ วันที่ออกเดินทาง
แต่หาก NASA เคยประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์กับยานอพอลโล รวมถึงมีประสบการณ์นำส่งนักบินอวกาศมาแล้วไม่น้อยกว่า 150 เที่ยวบิน ทำไมกับโครงการที่พามนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในยุคสมัยที่มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ก้าวล้ำกว่าเดิม ถึงยังต้องเผชิญกับความล่าช้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การเมืองเรื่องอวกาศ
อวกาศและการเมือง สองสิ่งที่เป็นของคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งด้านความมั่นคง, เศรษฐกิจ, การพัฒนากำลังคน, ความร่วมมือระหว่างประเทศ และอื่นๆ อีกมาก
นับตั้งแต่ที่สหภาพโซเวียตส่งสปุตนิก 1 ดาวเทียมดวงแรกขึ้นไปโคจรรอบโลกในปี 1957 การเมืองของสองชาติมหาอำนาจเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดภารกิจสำรวจอวกาศมากมาย และหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของสหรัฐฯ คือการพามนุษย์ไปลงดวงจันทร์และเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัยก่อนที่ทศวรรษ 1960 จะสิ้นสุดลง ตามคำแถลงของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นที่กล่าวต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1961
ณ ขณะนั้น สหรัฐฯ เพิ่งส่ง อลัน เชปเพิร์ด นักบินอวกาศคนแรกของประเทศ เดินทางไปท่องอวกาศเป็นเวลารวมเพียง 15 นาทีเท่านั้น การไปให้ถึงดวงจันทร์ต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณจำนวนมาก เพื่อทำให้ภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้นจริง
เมื่อช่วงพีคของการพัฒนาภารกิจไปดวงจันทร์ NASA ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สูงถึง 5,933 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 4.41% ของงบทั้งหมดในปีงบประมาณ 1966 ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณดังกล่าวถูกใช้ไปกับภารกิจสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ และ 5% ของชาวอเมริกันในช่วงนั้นมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับโครงการอพอลโลผ่านการทำงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
เมื่อ NASA ประสบความสำเร็จในการพา นีล อาร์มสตรอง และ บัซซ์ อัลดริน ไปลงดวงจันทร์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 ความสนใจของประชาชนทั่วไปต่อภารกิจสำรวจอวกาศก็เริ่มลดลงหลังจากนั้น รวมถึงสถานการณ์ของสงครามในเวียดนาม และการเบนเข็มไปยังโครงการกระสวยอวกาศ ก็ทำให้โครงการอพอลโลจบลงที่ภารกิจอพอลโล 17 แม้ตามเดิมจะมีแผนการวางไว้ถึงอพอลโล 20 ก็ตาม
ตัดภาพมาสู่ยุคสมัยปัจจุบัน ในปี 2024 NASA ได้งบประมาณจากรัฐบาลกลาง 24,875 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้อาจเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในปี 1966 แต่หากปรับเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ งบประมาณในปีดังกล่าวจะสูงถึง 55,715 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยกัน
หากเทียบกับงบปีงบประมาณ 2024 NASA ได้รับเพียง 0.36% เท่านั้น ซึ่งในงบดังกล่าวถูกจัดสรรสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ 44.9% โดยแบ่งส่วนอื่นให้กับงานด้านวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, สิ่งปลูกสร้าง, ภารกิจอวกาศต่างๆ และการศึกษาด้วยเช่นกัน
แม้ในปัจจุบันจะมีปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศทั้งกับรัสเซียและจีน รวมถึงโอกาสเศรษฐกิจใหม่ของอวกาศ ที่กระตุ้นให้ NASA พัฒนายานอวกาศไปลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ รวมถึงพัฒนาสถานีอวกาศแห่งใหม่ในวงโคจรรอบดวงจันทร์ ร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป, องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น, องค์การอวกาศแคนาดา และองค์การอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่งบประมาณและการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางก็ยังไม่เทียบเท่าสมัยที่มนุษย์เดินทางไปกับโครงการอพอลโลอยู่ดี
ด้วยเหตุนี้ทำให้ NASA มอบสัญญาให้กับบริษัทเอกชน รวมถึงจับมือกับหน่วยงานอวกาศประเทศต่างๆ ในการร่วมพัฒนาภารกิจเดินทางกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง ได้แก่
- จรวด SLS (Space Launch System): Aerojet Rocketdyne, L3Harris Technologies, Boeing และ Northrop Grumman
- ยานบังคับการโอไรออน: Northrop Grumman
- ยานบริการโอไรออน: Airbus
- ยานลงดวงจันทร์: SpaceX และ Blue Origin
- ชุดอวกาศ: Axiom Space และ Collins Aerospace
แต่นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว สิ่งที่สำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดคงไม่พ้นความปลอดภัยของนักบินอวกาศ ที่ทำให้ยานอวกาศของพวกเขาต้องสมบูรณ์แบบและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
อวกาศเป็นเรื่องยาก
แม้มนุษย์จะเดินทางไปอวกาศมาแล้วไม่น้อยกว่า 63 ปี รวมถึงมีนักบินอวกาศทำงานอยู่นอกโลกมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2000 แต่การเดินทางไปอวกาศก็ยังเป็นงานยากอยู่เสมอ
หากย้อนกลับไปในสมัยโครงการอพอลโล NASA สูญเสีย 3 นักบินอวกาศในภารกิจอพอลโล 1 ที่เกิดเพลิงไหม้ระหว่างฝึกซ้อมบนฐานปล่อยในเดือนมกราคม 1967 ที่ทำให้การพัฒนายานทั้งหมดชะงักและแทบต้องรื้อระบบความปลอดภัยใหม่หมด ยังไม่รวมถึงเหตุการณ์ถังออกซิเจนของอพอลโล 13 ระเบิดระหว่างเดินทางไปดวงจันทร์ จนต้องยกเลิกการลงดวงจันทร์ และใช้ยานลงจอดเป็น ‘เรือชูชีพ’ จำเป็น เพื่อพา 3 นักบินอวกาศกลับโลกมาอย่างปลอดภัย
การสูญเสียนักบินอวกาศจากโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์เมื่อปี 1986 และกระสวยอวกาศโคลัมเบียในปี 2003 เป็นอีก 2 บทเรียนราคาแพงของ NASA ที่ทำให้ต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของนักบินอวกาศและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ และการเลื่อนภารกิจออกไปย่อมดีกว่าการส่งขึ้นบินไปโดยที่ยานอวกาศอาจยังมีข้อผิดพลาดซ่อนไว้
“อวกาศเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งนัก” คือความเห็นของ บิล เนลสัน ผู้อำนวยการ NASA ในงานแถลงข่าวเลื่อนการส่งอาร์ทีมิส 2 “พวกเราทุกคนรวมถึงพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมและจากนานาประเทศต่างต้องการเวลา เพื่อให้แน่ใจว่ายานโอไรออนมีความพร้อมและปลอดภัยพอที่จะพานักบินอวกาศกลับสู่อวกาศลึกและกลับมาสู่โลกได้อย่างปลอดภัย”
แม้อวกาศจะเป็นเรื่องยากและท้าทายดังที่ปรากฏในความพยายามพามนุษย์กลับไปดวงจันทร์กับโครงการอาร์ทีมิสของ NASA แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเพียรพยายามและความมุ่งมั่นของผู้คนเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วนำพานักบินอวกาศเดินทางไปถึงดวงจันทร์มาจริง ดังเช่นหลักฐานที่ปรากฏอย่างแน่ชัด ทั้งผ่านบันทึกประวัติศาสตร์และที่ยังคงไว้บนพื้นผิวบริวารของโลกจวบจนปัจจุบัน
สิ่งที่น่าจับตากับอนาคตของโครงการอาร์ทีมิสคือการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าจะให้ความสำคัญกับภารกิจดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน แต่คงอีกไม่นานเกินรอที่เราจะได้เห็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเหมือนกับพวกเราทุกคนเดินทางไปถึงดวงจันทร์ได้อีกครั้ง เพื่อเป็นก้าวแรกสู่การไปตั้งถิ่นฐานระยะยาวบนดาวดวงอื่นในจักรวาลที่กว้างใหญ่แห่งนี้
Per aspera ad astra… บนเส้นทางอันแสนทุกข์เข็ญสู่ดวงดาว
ภาพ: NASA
อ้างอิง:
- https://www.nasa.gov/news-release/nasa-shares-orion-heat-shield-findings-updates-artemis-moon-missions/
- https://www.nasa.gov/general/faq-nasas-artemis-campaign-and-recent-updates/
- https://www.planetary.org/space-policy/nasa-budget
- https://www.nasa.gov/artemis-partners/
- https://www.nasa.gov/history/alsj/main.html