NARIT ใช้กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติบนดอยอินทนนท์ ร่วมสังเกตดาวยูเรนัสบดบังดาวฤกษ์ ร่วมกับทีมวิจัยของ NASA และหอดูดาวนานาประเทศ
เช้ามืดวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรที่ติดตั้งอยู่ ณ หอดูดาวแห่งชาติ บนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมสังเกตปรากฏการณ์ดาวยูเรนัสบดบังดาวฤกษ์ชื่อ 2MASS J03310965+1846263
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างเวลา 00.59-01.32 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยศูนย์วิจัย NASA Langley เชิญหอดูดาวต่างๆ ในทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นแนวที่เงาของดาวยูเรนัสบดบังดาวฤกษ์ ให้ร่วมสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูล โดยภาพหอดูดาวของ NARIT ยังเผยให้เห็นดวงจันทร์ของดาวยูเรนัส ได้แก่ มิแรนดา, อัมเบรียล, แอเรียล และไททาเนีย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะโลก ดาวยูเรนัส และดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันเมื่อสังเกตจากพื้นโลก ทำให้แสงของดาวฤกษ์ถูกบดบังไปในช่วงเวลาหนึ่ง โดยนักดาราศาสตร์สามารถศึกษาโครงสร้างและความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศของดาวยูเรนัส ผ่านการวัดความเปลี่ยนแปลงแสงของดาวฤกษ์ในปรากฏการณ์เช่นนี้ได้
ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยใช้ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์เพื่อค้นพบวงแหวนของดาวยูเรนัสในปี 1977 วงแหวนของดาวเนปจูนในปี 1984 และบรรยากาศของดาวพลูโตในปี 1988
สำหรับการสังเกตการณ์ดาวยูเรนัสบดบังดาวฤกษ์ 2MASS J03310965+1846263 นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1996 ที่นักดาราศาสตร์ได้ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัส โดย NARIT ระบุว่า ทีมวิจัยของประเทศไทยจะวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหอดูดาวในประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย ได้แก่ หอดูดาวมหาวิทยาลัยฮอกไกโด, หอดูดาวมหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว, หอดูดาวเดวัสถัล และหอดูดาวหิมาลายันจันทรา
กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรเป็นกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดใช้งานในปี 2013 ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
ภาพ: W.M. Keck Observatory, NARIT
อ้างอิง: