×

ผลวิจัยชี้ พื้นที่เลี้ยงไก่แห่งแรกของโลกอยู่ที่บ้านโนนวัด จ.นครราชสีมา

โดย THE STANDARD TEAM
09.06.2022
  • LOADING...
พื้นที่เลี้ยงไก่

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (PNAS) เผยแพร่บทความวิจัยเรื่อง แหล่งกำเนิดทางชีววัฒนธรรมและการแพร่กระจายของไก่บ้าน พบว่าพื้นที่เลี้ยงไก่แห่งแรกของโลกอยู่ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมาของไทย ตั้งแต่เมื่อ 1,650-1,250 ปีก่อนคริสตกาล ไม่ใช่ในอนุทวีปอินเดียอย่างที่เคยมีงานวิจัยหลายชิ้นกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ โดยผลวิจัยระบุว่า การปลูกข้าวและข้าวฟ่างดึงดูดให้ไก่ป่าเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงไก่ในที่สุด

 

งานวิจัยระบุว่า ไก่เป็นสัตว์เลี้ยง (Domestic Animal) ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก แต่แหล่งกำเนิด ความสัมพันธ์แรกเริ่มกับมนุษย์ และเส้นทางการแพร่พันธุ์ของไก่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจว่าไก่เริ่มมีความเกี่ยวข้องกับสังคมมนุษย์ตั้งแต่เมื่อใด ที่ไหน และอย่างไร งานวิจัยชิ้นนี้จึงวิเคราะห์ประเมินสถานะการเลี้ยงไก่บ้านจากสถานที่ต่างๆ มากกว่า 600 แห่ง ใน 89 ประเทศ 

 

แม้มีการอ้างถึงแหล่งกำเนิดของไก่ในการศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้ แต่ผลการวิจัยทางโบราณคดีที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ PNAS ชี้ว่า ไม่พบการเลี้ยงไก่อย่างชัดเจนจนกระทั่ง 1,650-1,250 ปีก่อนคริสตกาลที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดของประเทศไทย และไม่พบว่ามีการเลี้ยงไก่ในจีนกลาง เอเชียใต้ หรือเมโสโปเตเมียจนกระทั่งปลายสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล อีกทั้งไม่พบการเลี้ยงไก่ในเอธิโอเปียและแถบเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปจนกระทั่ง 800 ปีก่อนคริสตกาล 

 

งานวิจัยระบุด้วยว่า การเพาะปลูกข้าวและธัญพืชทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กดึงไก่ป่า (Red Junglefowl) เข้ามาอยู่ในบ้านของมนุษย์ (Human Niche) จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงไก่ และจากนั้นเมื่อไก่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมนุษย์ พวกมันจึงเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก

 

โดยจากการประเมินหลักฐานทางโบราณคดี ประติมานวิทยาหรือรูปสัญลักษณ์ (Iconographic) และหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรพบว่า ไก่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ในฐานะสัตว์ปีกที่เลี้ยงในบ้านเมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ในบริเวณคาบสมุทรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นพวกมันจึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทางใต้สู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่ไปทางตะวันตกผ่านเอเชียใต้และเมโสโปเตเมีย จนไปถึงยุโรปและแอฟริกา อย่างไรก็ดีงานวิจัยระบุว่าจำเป็นต้องศึกษาวิจัยทางโบราณคดีเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบลำดับเหตุการณ์นี้ 

 

การศึกษาทางชีววิทยาพบว่า การปลูกข้าวและข้าวฟ่างทำให้เกิดการเลี้ยงไก่ในพื้นที่กึ่งเขตร้อน ขณะที่การปรับตัวของสายพันธุ์ และการกินเมล็ดข้าวเป็นอาหาร คือปัจจัยที่นำไปสู่การเลี้ยงไก่ในพื้นที่ที่ปลูกข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี และธัญพืชอื่นๆ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งและอบอุ่น

 

ขณะที่ในการศึกษาเชิงวัฒนธรรมจากรูปสัญลักษณ์และกระดูกไก่ที่พบในสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าของเมโสโปเตเมียและยุโรปตะวันตก บ้านเรือนและการฝังศพของชนชั้นสูง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แสดงให้เห็นว่าแรกเริ่มนั้นไก่มีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นสูง โดยการศึกษาหนึ่งในบริบททางโบราณคดีของยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ พบโครงกระดูกไก่ที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยแผลบนกระดูกไก่แต่ละชิ้น ซึ่งบ่งบอกว่าในตอนแรกไก่ถูกเลี้ยงเพื่อเคารพบูชามากกว่าที่จะบริโภค ซึ่งเป็นการทำลายสมมติฐานก่อนหน้านี้ที่ว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ผลักดันให้เกิดการเลี้ยงไก่

 

ภาพ: comzeal images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising