×

ชุมชนบ้านไหนหนัง รักษ์ธรรมชาติ และธรรมชาติจะรักเรา

11.10.2020
  • LOADING...
ชุมชนบ้านไหนหนัง รักษ์ธรรมชาติ และธรรมชาติจะรักเรา

 

วลีที่ว่า ‘ชุมชนเข้มแข็งสร้างได้ด้วยคนในชุมชนเอง’ แลดูจะไม่ไกลเกินจริงเลย หากคุณได้มาเยือนชุมชนบ้านไหนหนัง หนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ที่เรากล้าพูดเต็มปากว่าแข็งแรงมาก และความแข็งแรงนั้นมาจากชุมชนเอง โดยจุดเด่นของชุมชนคือการดึงอาชีพเข้ามาสนับสนุนงานอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า เพื่อให้ตนเองสามารถยืนหยัดเลี้ยงชีพชอบได้ในทุกสถานการณ์ ควบคู่กับการมีทรัพยากรให้ใช้ได้ไม่หมดสิ้น

 

บ้านไหนหนังเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านในตำบลคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้มานับร้อยปี มีทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่แรกเริ่ม ยึดอาชีพประมง ทำสวนยาง สวนปาล์มเป็นหลัก ก่อนมาเป็นชุมชนเข้มแข็งที่หันมาอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติอย่างทุกวันนี้ ไหนหนังเคยเกือบสูญเสียทั้งผืนป่าและสัตว์น้ำ เนื่องจากการให้สัมปทานป่าโกงกางของรัฐ และการทำประมงโดยใช้อวนรุน อวนลาก ทั้งของคนในพื้นที่เองและคนต่างถิ่น สัตว์ทะเลที่มีอยู่ในน่านน้ำแทบไม่เหลือ จนชาวบ้านต้องมาชุมนุมกันว่า หากเป็นแบบนี้ต่อไป พวกเขาอาจไม่มีทรัพยากรใดๆ ไว้ทำกินในอนาคต 

 

ป่าชายเลนและวิถีประมงพื้นบ้าน

 

 

“ชาวไหนหนังทราบดีว่าพวกเราต้องอนุรักษ์ทั้งบนบกและในน้ำถึงจะยั่งยืน ต้องดูแลป่าไม้ควบคู่กับการดูแลชายฝั่ง แต่ถ้าจะให้ดูแลกันอย่างเดียวแล้วไม่ก่อรายได้ หรือต้องเอาเงินส่วนตัวลงขันเสมอ เชื่อว่าคงทำได้ไม่นาน ทางเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้คือชาวบ้านต้องมีอาชีพ มีรายได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์” สุชา วันศุกร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ของบ้านไหนหนังกล่าว

 

“เราเริ่มอนุรักษ์ด้วยกฎชุมชนง่ายๆ เช่น ใครตัดไม้ในป่าชายเลน 1 ต้น ต้องปลูกชดเชย 5 ต้น หรือห้ามใช้อวนรุน อวนลาก หรือพวกอวนตาถี่ในการทำประมง แต่ใช่ว่าชาวบ้านทุกคนจะทำตามได้ เพราะนั่นคือเครื่องมือทำมาหากินของเขา ทุกอย่างต้องใช้เงินซื้อหา สิ่งที่เราได้ทำคือการจับเข่าคุยกัน รอมชอมกันไป คุณมีปัญหาอะไรมาแชร์ให้เราฟัง มาช่วยกันแก้ เช่น อวนคุณเปลี่ยนได้ไหม ถ้าไม่ได้เพราะอะไร เงินลงทุนเหรอ ถ้าอย่างนั้นใช้ให้พังก่อน แต่พังแล้วจะซื้อแบบเดิมมาใช้อีกไม่ได้แล้วนะ ถามว่ามีต่อต้านกันไหม ก็ต้องตอบว่ามีบ้าง แต่พวกเขารู้ว่าถ้าเขาไม่ทำ เขาจะมีอะไรให้ทำกินในอนาคต” 

 

เท่าที่ดูด้วยตาเปล่า ตอนนี้ชาวบ้านในไหนหนังล้วนทำประมงด้วยอวนตาห่างที่ทางกรมประมงกำหนด แม้จะได้ปลาเยอะบ้างน้อยบ้างตามประสา แต่ทุกคนล้วนพึงพอใจ

 

“แต่ก่อนลุงเองก็ใช้อวนตาถี่ เราทำประมงมาแทบจะทั้งชีวิต ตอนนั้นมีอุปกรณ์อะไรที่ทำมาหากินแล้วเราได้ประโยชน์สูงสุดเราก็ทำ ทำไปเรื่อยๆ อยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าสัตว์น้ำในทะเลก็เริ่มลดลง กุ้ง หอย ปู ปลาก็หายหมด ถ้าเทียบกับแต่ก่อน แม้ออกเรือหนึ่งครั้งจะจับได้ไม่มากเท่า แต่ก็มีสัตว์ให้จับเรื่อยๆ ทุกวัน ตัวเล็กตัวใหญ่คละๆ กันไป” ลุงไข่ หรือ สมศักดิ์ แซ่เหง่า ชาวประมงบ้านไหนหนังที่ยึดอาชีพประมง 46 ปี เล่าเปรียบเทียบให้เราฟัง

 

 

นอกจากปรับเปลี่ยนวิธีการทำประมง ที่นี่ยังมีกลุ่มธนาคารปูม้า ซึ่งมีแกนหลักเป็น โกวิทย์ มุกกุระ ทำอาชีพแพปลา รับซื้อปลาจากชาวบ้าน คัดแยก และส่งขายต่อตลาด เป็นกำลังหลัก

 

“หลังจากเริ่มทำธนาคารปูม้า โกวิทย์ทราบได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จ” 

 

“ดูจากปริมาณปูที่ชาวบ้านจับได้ ตอนที่ยังไม่ทำเรารับซื้อปูน้อยลงทุกวัน ต่อวันไม่ถึงร้อยกิโลกรัมด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้ตกวันละ 200-300 กิโลกรัม” โกวิทย์กล่าว 

 

การทำธนาคารปูม้าของบ้านไหนหนังนั้นง่ายมากและต่างจากที่อื่นโดยสิ้นเชิง ปูตัวเมียตัวไหนที่ไข่แก่ โกวิทย์จะแยกออกไปไว้บ่อพักเลี้ยงทันที ปล่อยไว้ราว 1-2 วันปูก็จะคายไข่ออก กลายเป็นลูกปูสีแดงๆ ตัวเล็กๆ ที่แลดูเหมือนลูกน้ำลูกไรนับพันตัว หลังจากนั้นโกวิทย์จะปล่อยลูกปูทั้งหมดลงทะเลช่วงน้ำขึ้นให้เติบโตต่อตามธรรมชาติ แม่ปูหนึ่งตัวมีไข่ประมาณ 120,000-2,300,000 ฟอง แต่จะเหลือรอดเติบโตจริงๆ เพียง 10% เท่านั้น 

 

 

การฟื้นฟูของบ้านไหนหนังทางป่านั้นก็เข้มข้นไม่น้อย หลังจากหมดสัมปทานป่าโกงกางไว้เผาทำถ่าน ชาวบ้านก็ถือโอกาสนี้ปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าโกงกางในคราวเดียวกัน มีการวางสิ่งกีดขวางดักเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติเพื่อความหลากหลาย ทำโครงการปลูกป่า CSR จากบุคคลภายนอก หรือมีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมา ฯลฯ จนในที่สุดพื้นที่ป่าโกงกางกว่า 3,800 ไร่ก็กลับมาสมบูรณ์เช่นเคย กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก พร้อมกับรายได้ของชาวไหนหนังที่เพิ่มขึ้น 

 

สิ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดของชุมชนนี้คือความกระตือรือร้นของคนในชุมชนที่พยายามรวมกลุ่มทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มงานฝีมือ หรือกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งโพรง ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

 

 

เมื่อป่าชายเลนฟื้นตัวดี มีพันธ์ุใหม่หลากหลายมากกว่าต้นโกงกาง เช่น แสมขาว ตะบูนดำ ตะบูนขาว ตาตุ้ม เป้ง ชาวไหนหนังบางส่วนที่ทำสวนยางเลี้ยงชีพก็หันมาใช้พื้นที่ว่างในสวนยางเลี้ยงผึ้งโพรง โดยได้อานิสงส์จากดอกไม้ในป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหารของผึ้ง เมื่อเลี้ยงผึ้งเพื่อเอาน้ำหวาน ยาฆ่าแมลง สารเคมีต่างๆ ย่อมจำเป็นต้องงด ไม้ต่างๆ ที่เคยเผา เช่น ตำเสา ประดู่ สอม ฯลฯ ก็เก็บเอาไว้เป็นแหล่งอาหารให้ผึ้งเช่นกัน กลายเป็นที่มาของฉลากน้ำผึ้งสองป่า ได้แก่ ป่าปก ซึ่งก็คือสวนต่างๆ และ ป่าน้ำ ซึ่งก็คือป่าชายเลนนั่นเอง

 

เมื่อป่าเลี้ยงผึ้ง ผึ้งก็คืนให้ป่า การเลี้ยงผึ้งทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากประชากรผึ้งในการช่วยผสมเกสรดอกไม้ทั้งสองป่า น้ำผึ้งที่ได้ยังนำมาแปรรูปส่งออกขายสร้างรายได้อีกทอดหนึ่ง เช่น สบู่เหลว สบู่ก้อน แชมพู รวมถึงขนมกินเล่นที่มีส่วนประกอบของน้ำผึ้งแทนน้ำตาล

 

ชาวไหนหนังและรังผึ้งโพรง

 

นอกจากผึ้งโพรง ชาวบ้านต่อยอดเลี้ยงสัตว์อื่นๆ 

รวมถึงชันโรง ซึ่งสามารถให้น้ำหวานเช่นกัน

ซ้าย: แพะ เลี้ยงไว้รีดนม ขวา: รังชันโรง

 

 

นอกจากกิจการต่างๆ ผู้ใหญ่สุชาบอกว่า ที่นี่จัดเป็นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จดทะเบียนภายใต้ชื่อว่า ‘การท่องเที่ยวชุมชนโดยจังหวัดกระบี่’ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชุมชน สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกเรือไปดูธรรมชาติของป่าชายเลน พายเรือเที่ยวเขาขนาบน้ำ เขากาโรส แวะเยี่ยมชมแพปลา ดูธนาคารปูม้า หรือดูการเลี้ยงผึ้งโพรงที่กลุ่มเลี้ยงผึ้ง แถมยังสามารถซื้อของฝากกลับบ้านติดไม้ติดมือเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งได้อีก

 

ปัจจุบันชุมชนบ้านไหนหนังมีกลุ่มต่างๆ ให้เรียนรู้วิถีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มไร่นาสวนผสม กลุ่มธนาคารขยะ กลุ่มธนาคารต้นไม้ กลุ่มเย็บปักถักร้อย รวมถึงกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง ฯลฯ กลุ่มอาชีพทั้งหมดเป็นสมาชิกเครือข่ายการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัด ที่สำคัญรายได้ทั้งหมดไม่ว่าจะกลุ่มใด จะแบ่งร้อยละ 10 ของรายได้ เข้าสู่กองทุนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อไว้เป็นเงินทุนในการฟื้นฟู รักษา และดูแลทรัพยากรผืนน้ำ ผืนป่าของชาวไหนหนัง ดังเช่นที่ผู้ใหญ่สุชากล่าวไว้ข้างต้นว่า “ทางเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้คือ ชาวบ้านต้องมีอาชีพ มีรายได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์”

 

“เมื่อคุณดูแลธรรมชาติ ธรรมชาติจะตอบแทนคุณ”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X