กระแสข่าวโรฮีนจาในเมียนมานับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาจะยังไม่จบลงง่ายๆ แม้จะมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลเมียนมากับรัฐที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะบังกลาเทศ ให้มีการทยอยส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับประเทศก็ตาม
ล่าสุด องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล เผยว่า กองทัพเมียนมาเข้ารุกคืบบุกยึดที่ดินบริเวณหมู่บ้านของชาวโรฮีนจาที่เคยถูกเผาขับไล่จนวอดวายเพื่อใช้สร้างฐานทัพและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ภายในองค์กรทั้งถนนและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งขยายขอบเขตและเพิ่มจำนวนมากขึ้นนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาในพื้นที่ใกล้เคียงต้องออกจากพื้นที่ไปหาที่อยู่อาศัยใหม่
ติรานา ฮัสซัน หนึ่งในผู้อำนวยการที่ดูแลปัญหาวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล เผยว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ความไว้วางใจ ความปลอดภัย รวมถึงการให้เกียรติแก่ชาวโรฮีนจาที่ตัดสินใจเดินทางกลับมาที่นี่ห่างไกลจากความเป็นจริงเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่ที่อยู่อาศัยของพวกเขาจะหายไป แต่การสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ของกองทัพจะยิ่งสนับสนุนการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในเมียนมาต่อไปอีก”
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา มีชาวโรฮีนจาอพยพออกนอกประเทศไปยังบังกลาเทศกว่า 670,000 คน หมู่บ้าน Ah Lel Chaung ในเมือง Buthidaung ของรัฐยะไข่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกใช้สร้างเป็นฐานทัพกองกำลังเมียนมาที่ใหญ่ที่สุด ชาวโรฮีนจาที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ถูกขับไล่ให้ไปตั้งรกรากในพื้นที่อื่น
ชาวโรฮีนจา วัย 31 ปี เผยว่า “ผู้คนจำนวนมากอยู่ในภาวะตื่นตระหนก ไม่มีใครต้องการจะอาศัยอยู่ที่นี่ พวกเขาต่างกลัวความรุนแรงที่ทหารเมียนมาจะปฏิบัติและใช้กำลังกับพวกเขาเมื่อไรก็ไม่รู้ ชาวโรฮีนจาจำนวนมากจึงไม่มีทางเลือก นอกจากจะเดินทางอพยพไปยังบังกลาเทศ”
แต่อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลก รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยนชนระหว่างประเทศต่างเฝ้าจับตามองปัญหาความรุนแรงภายในเมียนมามาโดยตลอด พวกเขาต่างคาดหวังบทบาทและท่าทีของ ออง ซาน ซูจี ผู้นำคนสำคัญของประเทศที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น จนหลายฝ่ายตั้งคำถามว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้มีอำนาจมากน้อยแค่ไหน และตั้งใจจะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วอำนาจทั้งหมดในการตัดสินใจยังคงเป็นของกองทัพที่ปกครองเมียนมามาอย่างยาวนานหลายทศวรรษกันแน่
อ้างอิง:
- www.amnesty.org/en/latest/news/2018/03/myanmar-military-land-grab-as-security-forces-build-bases-on-torched-rohingya-villages/
- www.aljazeera.com/news/2018/03/myanmar-building-military-bases-rohingya-villages-amnesty-180312150129214.html
- www.thenational.ae/world/asia/myanmar-building-bases-for-security-forces-on-burned-rohingya-land-amnesty-1.712240