เมื่อวานนี้ (1 มิถุนายน) โรงเรียนในเมียนมาเปิดภาคเรียนใหม่เป็นครั้งแรก หลังกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนมานานกว่า 4 เดือนแล้ว โดยมีนักเรียนเพียง 10% หรือราว 1 ล้านราย จากทั้งหมด 9 ล้านราย เข้าชั้นเรียนในเวลานี้ หลังนักเรียนเมียนมาราว 90% ปฏิเสธเข้าชั้นเรียน ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ขณะที่พ่อแม่และผู้ปกครองจำนวนมากแสดงจุดยืนชัดเจน ไม่ต้องการให้ลูกหลานเข้าชั้นเรียนดังกล่าว ไม่อยากให้ตกเป็นทาสทางการศึกษาภายใต้ระบบเผด็จการทหาร
สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่จัดตั้งโดยกองทัพเมียนมาส่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงประจำตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อตรวจตราความเรียบร้อย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งก่อนหน้านี้กองทัพมีคำสั่งพักงานครูกว่า 1.25 แสนราย ฐานเข้าร่วมเดินขบวนอารยะขัดขืน (CDM) ต้านรัฐประหารและฝ่าฝืนคำสั่งกองทัพ โดยยื่นข้อเสนอให้ความผิดดังกล่าวเป็นอันตกไป หากบรรดาคุณครูกลับมาทำหน้าที่สอนหนังสือตามปกติอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกองทัพทราบดีว่าการประกาศแบนครูและบุคลากรทางการศึกษาจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการศึกษาของประเทศนี้
“พวกเราไม่ยอมรับระบอบเผด็จการทหาร เราปฏิเสธระบบการศึกษาของพวกเขา เราจะส่งลูกหลานของเรากลับไปโรงเรียนอีกครั้งเมื่อประชาชนได้รับชัยชนะ”
สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของเมียนมา (AAPP) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตหลังการก่อรัฐประหารแล้ว 841 ราย ยังคงถูกจับกุมและควบคุมตัวกว่า 4,443 ราย ออกหมายจับแล้ว 1,881 ราย ขณะที่อย่างน้อย 110 รายได้รับการตัดสินโทษแล้ว ในจำนวนนี้บางรายต้องโทษประหารชีวิต โดยกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมายังคงรวมตัวกันต่อต้านกองทัพอย่างไม่ลดละความพยายาม พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ นับตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา
ทางด้าน The Elders องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดย เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ผู้ล่วงลับ ที่เป็นพื้นที่รวมกลุ่มของบรรดารัฐบุรุษ นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นักสิทธิมนุษยนชนและอดีตผู้นำประเทศเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนกดดันกองทัพเมียนมามากยิ่งขึ้น หลังจากมองว่ากองทัพกำลังนำพาเมียนมาไปสู่จุดที่จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว
“ในขณะนี้เมียนมากำลังอยู่บนเส้นทางอันตรายที่มุ่งหน้าไปสู่การเป็นรัฐล้มเหลว การยินยอมให้กองทัพก่อรัฐประหารสำเร็จโดยเพิกเฉยหรือละเลยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะบ่อนเซาะทำลายกฎระเบียบระหว่างประเทศที่ยึดโยงอยู่กับความมั่นคงโลก”
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/myanmar-military-fails-quell-protests-four-months-after-coup-2021-06-01/
- https://www.france24.com/en/asia-pacific/20210601-myanmar-teachers-and-students-defy-junta-as-schools-reopen
- https://www.channelnewsasia.com/news/asia/myanmar-schools-teachers-students-defy-military-threats-coup-14924440