วันนี้ (21 พฤษภาคม) สื่อท้องถิ่นเมียนมาและสื่อต่างประเทศรายงาน คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา (UEC) ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยกองทัพ ภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ภายหลังการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เตรียมยุคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ ออง ซาน ซูจี
เตน โซ ประธาน กตต. เมียนมา ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ NLD โกงการเลือกตั้งเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา จนได้รับชัยชนะเหนือผู้สมัครจากกองทัพเมียนมาอย่างท่วมท้น
“การกระทำของพรรค NLD ช่วงการเลือกตั้งถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องยุบพรรคดังกล่าว
สิ่งที่พวกเขาทำจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ทรยศชาติ และเราจะต้องจัดการเรื่องนี้”
ขณะนี้ ออง ซาน ซูจี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ที่ปรึกษาประเทศและสมาชิกคนสำคัญของรัฐบาลพลเรือนและพรรค NLD ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของกองทัพ หลังการยึดอำนาจผ่านมานานเกือบ 4 เดือนแล้ว
การตัดสินใจของ กกต. เมียนมา สวนทางกับรายงานของผู้สังเกตการณ์อิสระอย่างเครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งเสรีในเอเชีย (ANFREL) ที่ชี้ว่า ไม่พบหลักฐานการทุจริตในการเลือกตั้งของเมียนมาในปี 2020 ที่กองทัพใช้เป็นข้ออ้างก่อรัฐประหาร
โดย ANFREL เฝ้าติดตามและสังเกตการณ์กว่า 400 หน่วยเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งพบความไม่ปกติในการจัดการเลือกตั้งอยู่บ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเด็นความขัดแย้งภายในประเทศ แต่ผลการเลือกตั้งก็ยังคงสะท้อนเจตจำนงของประชาชนชาวเมียนมา และแสดงให้เห็นว่าเมียนมายังคงอยู่บนเส้นทางของการพัฒนาประชาธิปไตย
ก่อนหน้านี้ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่าง PACE มีรายงานถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของเมียนมาเมื่อช่วงปลายปี 2020 เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ มีอิสระและยุติธรรม ไม่พบความไม่ปกติที่เด่นชัดใดๆ
สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของเมียนมา (AAPP) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตหลังการก่อรัฐประหารแล้ว 810 ราย ยังคงถูกจับกุมและควบคุมตัวกว่า 4,212 ราย ออกหมายจับแล้ว 1,762 ราย 94 รายได้รับการตัดสินโทษแล้ว ในจำนวนนี้บางรายต้องโทษประหารชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ภาพ: Hla Hla Htay / AFP, Ye Aung Thu / AFP
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: