เวลา 12.50.52 น. (เวลาในเมียนมา) ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ใกล้กับเขตสะกายใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับวัด มัสยิด โบราณสถาน และตึกรามบ้านช่องนับหมื่นแห่ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือได้ว่าน่ากังวลมาก เพราะด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของเมียนมาแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะฟื้นฟูในเวลาอันใกล้นี้
ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ ซอว์ ตุน ลิน (Saw Tun Lynn) อดีตอาจารย์ในภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ปัจจุบันทำงานที่ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเรียกสั้นว่า “สปาฟ่า” (ย่อมาจาก SEAMEO SPAFA) ถึงความเสียหายดังกล่าว และแนวทางการจัดการของนักโบราณคดีเมียนมาในอนาคต
เมืองโบราณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมี 2 เมืองหลักคือ เมืองสะกาย และเมืองมัณฑะเลย์ แต่ที่รู้กันน้อยก็คือ รัฐไทใหญ่ และเมืองหงสาวดี (พะโค) ก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน แต่ไม่ค่อยปรากฏในหน้าสื่อสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะรัฐไทใหญ่ และรัฐของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จากการประเมินในเบื้องต้นพบว่ามีโบราณสถาน วัด และมัสยิดราว 9,643 แห่งในเมียนมาที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งบางแห่งพังทลายโดยสมบูรณ์ เพราะการสร้างขึ้นด้วยวัสดุดั้งเดิม เช่น อิฐและปูน ซึ่งมีความต้านทานต่อการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้ในระดับที่จำกัด
ความเสียหายดังกล่าวนี้ไม่ได้เพียงทำลายสถาปัตยกรรมอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังทำลายหัวใจและจิตวิญญาณของชาวเมียนมาอีกด้วย โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ประเทศเมียนมาอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งจากเหตุแผ่นดินไหวและสถานการณ์ทางการเมืองยิ่งทำให้คนในประเทศรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจเพิ่มมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
สภาพวัดแมนุ หรือ มหาอ่องเหม่ บอนซาน (Maha Aungmye Bonzan) ในเมืองอังวะ ก่อนและหลังพังทลาย
สภาพหอคอยในเมืองอังวะก่อนและหลังพังทลาย
ปัญหาอย่างสำคัญในเมียนมาคือ แม้ว่าจะผ่านแผ่นดินไหวมาหลายครั้ง เช่น แผ่นดินไหวที่พุกามในปี 1975 และแผ่นดินไหวที่เช่าว์ (Chauk) ในปี 2016 ก็ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานจำนวนมากเช่นกัน แต่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวนมากยังไม่เคยหรือขาดการเสริมโครงสร้างที่ทันสมัย และก็แทบไม่มีมาตรการอนุรักษ์ใดๆ เลย ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่สะกายในปี 2025 จึงเกิดการพังทลายเป็นจำนวนมาก และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างระบบการจัดการต่อภาวะภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
ในทันทีหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว องค์กรทางด้านมรดกวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น สมาชิกชุมชน และพระสงฆ์ ได้ช่วยกันประเมินความเสียหายอย่างรวดเร็ว และด้วยความกล้าหาญโดยเริ่มจากการแชร์ภาพความเสียหายบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งภาพเหล่านี้กำลังถูกเก็บรวบรวมเพื่อสร้างฐานข้อมูลเบื้องต้น ความพยายามของพวกเขา รวมถึงการใช้การสำรวจด้วยภาพถ่าย ภาพจากดาวเทียม และการตรวจสอบด้วยตนเอง ทำให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีระบบและกว้างขวางมากขึ้น สมาคมโบราณคดีเมียนมา (MAA) ร่วมปรึกษากับ ICOMOS และผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ได้พัฒนาเครื่องมือสำคัญคือ แอปพลิเคชัน Heritage for Myanmar (HFM) (https://heritageformyanmar.org/)
แอปพลิเคชันมือถือ Android นวัตกรรมนี้ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ผ่านแบบฟอร์มเว็บ เปิดให้สาธารณชนใช้งานเพียงสองสัปดาห์หลังจากแผ่นดินไหว แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนและการมองการณ์ไกลของสมาคมโบราณคดีเมียนมา (MAA) และพันธมิตร แอป HFM ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มพลังให้กับบุคคลในเมียนมาทุกคนให้มีส่วนร่วมในงานสำคัญในการบันทึกและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถานที่มรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอปนี้มีฟังก์ชันการทำงานแบบออฟไลน์ เนื่องจากเข้าใจว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอาจมีจำกัดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือพื้นที่ห่างไกล ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถเก็บข้อมูลได้ในสนามและส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์กลางเมื่อมีการเชื่อมต่อ นอกจากนี้ แอปยังมีแบบฟอร์มการประเมินที่มีทั้งภาษาเมียนมาและภาษาอังกฤษ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลาย ตั้งแต่ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานท้องถิ่นไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่มีประสบการณ์
สมาคมโบราณคดีเมียนมาขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น ผู้ที่สนใจด้านมรดก พระสงฆ์ และผู้ที่มีการเข้าถึงสถานที่ที่ได้รับผลกระทบ ร่วมมีส่วนในการป้อนข้อมูลลงในแอป โดยการบันทึกความเสียหายอย่างละเอียด, อธิบายประเภทและขอบเขตของความเสียหาย, บันทึกตำแหน่ง GPS ที่แม่นยำ และอัปโหลดภาพถ่ายและวิดีโอที่สนับสนุน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นหูเป็นตาให้กับสมาคมโบราณคดีเมียนมาเพื่อสำรวจในพื้นที่ เพราะสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้เกินกำลังกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีจำนวนจำกัดจะสามารถทำได้เพียงลำพัง โดยการมีส่วนร่วมในความพยายามเก็บข้อมูลนี้ บุคคลจะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าของเมียนมา โดยจัดเตรียมข้อมูลที่สำคัญสำหรับการตอบสนองฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ การประเมินความเสี่ยง การวางแผนเชิงกลยุทธ์ และการฟื้นฟูในระยะยาว
สภาพวัดอูมินธอนซ์ (Umin Thonze) เมืองสะกายที่เสียหายจากแผ่นดินไหว
แม้ว่ากรมโบราณคดีภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมของเมียนมาจะประเมินความเสียหายของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีขอบเขตจำกัด เพราะเน้นไปที่สถานที่ที่มีความเสียหายในระดับสูงและมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของชาติเพียงอย่างเดียว ที่น่าวิตกคือมาตรการฉุกเฉินจากรัฐบาลต่อสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้นกลับไม่มีการดำเนินการอย่างชัดเจน และครอบคลุมเพียงพอ
ตรงกันข้ามกับองค์กรท้องถิ่นและอาสาสมัครที่มีความมุ่งมั่นในการจัดการอนุรักษ์และป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นกับสถานที่สำคัญในทุกระดับ เช่น บางคนบางองค์กรได้เริ่มคลุมอาคารที่เสี่ยงต่อการพังทลายและจิตรกรรมที่อาจจะเลือนจากน้ำด้วยผ้ายาง บางส่วนหาไม้มาค้ำยันในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เกิดการพังทลายมากขึ้น แต่ปัญหาของโบราณสถานพวกนี้คือทั้งหมดทำจากอิฐและปูน ทำให้เมื่อเกิดรอยแยกและรอยร้าวแล้วก็จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะพังทลายมากขึ้นได้ในไม่ช้า ซึ่งนับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการจัดการในภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากการขาดความรู้ด้านการอนุรักษ์อย่างเหมาะสม เช่น การทำลายรูปปั้นสิงโตที่เป็นผู้พิทักษ์หน้าวัดหลายแห่ง (เมียนมาเรียก Chinthe) ซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ด้วยการใช้เครื่องจักรและรถแบ็กโฮขุดโดยปราศจากการบันทึกข้อมูล และความพยายามในการอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีรายงานในกรุงอังวะ (Innwa หรือ Ava) ว่าการนำอิฐที่พังทลายจากโบราณสถานไปใช้ในการซ่อมถนนดิน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก ด้านหนึ่งสะท้อนว่าภาครัฐไม่ได้มีความรวดเร็วมากพอในการอนุรักษ์ อีกด้านคือการขาดความรู้ในระดับสาธารณะของประชาชนว่าจะต้องดำเนินการอนุรักษ์อย่างไร
รถแบ็กโฮกำลังรื้อสิงโตที่วัด Shinpin Nantaung เมืองมัณฑะเลย์
นอกจากนี้ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการเสริมความมั่นคงให้กับโบราณสถานและวัดต่างๆ ในเบื้องต้น แต่กรมโบราณคดีเมียนมากลับไปเร่งการขุดค้น “เยนานดาว” (Ye’nandaw หรือ พระราชวังน้ำ) ที่เคยถูกฝังอยู่ในกรุงอังวะ ซึ่งเพิ่งค้นพบจากรอยแยกของแผ่นดินไหว เรื่องนี้จึงสะท้อนถึงปัญหาการจัดลำดับความสำคัญว่าสิ่งใดเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรดำเนินการ แต่ปัญหานี้อาจไม่ได้มาจากกรมโบราณคดี แต่อาจมาจากคำสั่งของผู้มีอำนาจที่ไม่จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น
เยนานดาว (Ye’nandaw) หรือ พระราชวังน้ำที่พบจากแผ่นดินไหว (https://www.facebook.com/photo/?fbid=1219960713026262&set=pcb.1219960809692919)
ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมานี้ยังซ้ำเติมด้วยอุปสรรคอื่นๆ อีกนานัปการ เช่น ความยากต่อการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก การขาดการประสานงานที่เห็นได้ชัดระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย และ การเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ และความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ในบางพื้นที่ทำให้หน่วยงานรัฐหรือองค์กรต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้
สภาพเจดีย์ชินพิวเม หรือ มยาเธียรดาน (Myatheindan) ในเมืองมิงกุน ก่อนและหลังพังทลาย
แน่นอนว่าแผ่นดินไหวสะกายในปี 2025 ครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมียนมา ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้ก็ถือเป็นบททดสอบและเผยให้เห็นปัญหาหลายๆ เรื่องที่ซ่อนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติสำหรับมรดกระดับชาติและท้องถิ่น การค้นพบที่สำคัญคือการขาดมาตรการฉุกเฉินที่มีการกำหนดขึ้นสำหรับการเสริมความมั่นคงและการปกป้องโบราณสถานและวัดที่เสียหายในทันที การเสริมความมั่นคงล่วงหน้าหรือมาตรการปรับปรุงโบราณสถานก่อนเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น และแม้ว่าในตอนนี้จะเครื่องมือในการประเมินอย่างรวดเร็ว เช่น แอป HFM ที่พัฒนาขึ้นใหม่ แต่หลังจากการรวบรวมและประเมินแล้ว คำถามคือจะทำอย่างไรกันต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อนำไปสู่แนวทางการอนุรักษ์และบูรณะอย่างเป็นรูปธรรม
หากคิดกันในเชิงบวกตอนนี้ ชุมชนท้องถิ่น พระสงฆ์ และศาสนิกชนได้ทำการตอบสนองในระยะเริ่มต้นไปบ้างแล้ว ซึ่งหากมีการมอบอำนาจให้กับชุมชนเป็นฐานในการจัดการ ภายใต้การให้ความรู้ทางด้านการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง ก็จะสามารถทำให้การอนุรักษ์เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งต้องมีการสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้นและเร่งด่วนในหมู่นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนล่วงหน้าที่ครอบคลุม การทำแผนที่ความเสี่ยงของสถานที่มรดกอย่างละเอียด และการสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งสำหรับทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือความเห็นของซอว์ ตุน ลิน นักโบราณคดีเมียนมาที่แม้ว่าตอนนี้จะอยู่ในไทย แต่ก็เฝ้าติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมามาตลอด เรื่องการพังทลายของโบราณสถานนี้อาจยังเป็นเรื่องห่างไกลตัวในกรณีประเทศไทย แต่จากกรณีตึกถล่ม สตง. ก็คงทำให้เห็นแล้วว่า แค่ตึกหลังเดียว ไทยเราก็ยังไม่มีแผนล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างทันทีทันใด ทุกอย่างเป็นการแก้ไขปัญหาหน้างาน โชคดีที่ได้ผู้นำดีอย่างชัชชาติและทีม ถ้าไม่เช่นนั้นตึกถล่มนี้ก็คงไม่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ
ในกรณีของโบราณสถานนั้น คงได้เห็นกันแล้วว่า กรุงเทพฯ ก็มีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง แต่ในเขตภาคเหนือของไทยที่มีโบราณสถานล้านนามากมายเช่นกันก็ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงเป็นอย่างมาก ซึ่งควรต้องมีการอนุรักษ์เพื่อเสริมความมั่นคงในลักษณะการป้องกันในอนาคต นอกจากนี้แล้ว ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน รัฐควรมีทุนสนับสนุนให้มีโครงการสแกนหรือถ่ายภาพโบราณสถาน เพื่อเก็บข้อมูลในรูปแบบสามมิติ (3D) ให้มากขึ้น เผื่อในอนาคตหากเกิดแผ่นดินไหว หรือการเสื่อมสภาพของโบราณสถานพวกนี้ อย่างน้อยก็จะมีข้อมูลเชิงทัศนา (Visual) เอาไว้
ผมคิดว่าบทบาทของอาเซียน นอกเหนือไปจากเรื่องความร่วมมือในทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว แต่ควรแสดงบทบาททางการเมืองที่ชัดเจนและแข็งขันในสถานการณ์ที่ประเทศในอาเซียนประสบวิกฤตทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนในชาติเกิดความไม่มั่นคง เพราะหากไม่สามารถทำให้การเมืองของเมียนมาเป็นปกติได้ ก็เป็นเรื่องยากที่ความช่วยเหลือในการบูรณะและอนุรักษ์โบราณสถานต่างๆ จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ในขณะเดียวกันอาเซียนและองค์กรต่างๆ ก็ควรต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือให้กับมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือประสบภัยพิบัติด้วย เพราะมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นมรดกร่วมกันของคนในภูมิภาคที่อธิบายพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น