×

เผยกองทัพเมียนมาสั่งการบริษัทโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ติดตั้งสปายแวร์ ดักฟังโทรศัพท์ ส่องข้อความแชต SMS อีเมล แกะรอยพิกัดผู้ใช้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร

19.05.2021
  • LOADING...
เผยกองทัพเมียนมาสั่งการบริษัทโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ติดตั้งสปายแวร์ ดักฟังโทรศัพท์ ส่องข้อความแชต SMS อีเมล แกะรอยพิกัดผู้ใช้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร

สำนักข่าว Reuters เผยแพร่รายงานระบุว่า ในช่วงหลายเดือนก่อนเกิดการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพเมียนมาได้สั่งการให้บริษัทโทรคมนาคมและหลายบริษัทดำเนินการติดตั้งสปายแวร์ เพื่อช่วยให้กองทัพสามารถตรวจสอบการสื่อสารของประชาชน ทั้งการดักฟังโทรศัพท์ ตรวจสอบข้อความแชต SMS และการใช้งานเว็บไซต์ อีเมล รวมถึงตรวจสอบพิกัดของผู้ใช้งานจากซิมการ์ดได้ โดยไม่จำเป็นต้องประสานหรือขอความช่วยเหลือจากบริษัทโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตดังกล่าว

 

รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับผู้บริหารในบริษัทโทรคมนาคมที่ได้รับรู้ถึงแผนดำเนินการดังกล่าวโดยตรง ซึ่งพบว่ากองทัพมีความพยายามในการติดตั้งระบบสอดส่องและควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยมีจุดประสงค์เพื่อติดตามและตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ตลอดจนตัดช่องทางต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการประท้วงและความขัดแย้งในอนาคต

 

ขณะที่ผู้สั่งการเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจในกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมา

 

“พวกเขาแสดงตัวว่ามาจากรัฐบาลพลเรือน แต่เรารู้ว่ากองทัพจะเข้าควบคุมและบอกคุณว่าไม่สามารถปฏิเสธได้” ผู้บริหารที่ให้ข้อมูลแก่ Reuters ระบุ พร้อมชี้ว่าเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมา ก็เข้าร่วมในการประชุมเรื่องคำสั่งดังกล่าว

 

นอกจากนี้ Reuters เปิดเผยว่าได้สัมภาษณ์ชาวเมียนมากว่า 10 คน ที่รับรู้ถึงคำสั่งใช้สปายแวร์สอดส่องการสื่อสารของประชาชน ซึ่งทั้งหมดขอให้ปกปิดตัวตนเนื่องจากหวาดกลัวการลงโทษจากรัฐบาลทหาร ขณะที่ผู้แทนรัฐบาลทหารและผู้แทนของกลุ่มนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเงายังไม่แสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กลุ่มเคลื่อนไหว Justice For Myanmar ได้เผยแพร่เอกสารงบประมาณประจำปี 2019 และ 2020 ซึ่งยังอยู่ในช่วงรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซูจี และเป็นเอกสารที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ พบว่ามีการระบุถึงรายละเอียดแผนการจัดซื้ออุปกรณ์สปายแวร์สำหรับสอดส่องและสกัดกั้นข้อมูลการสื่อสาร ตลอดจนเทคโนโลยีในการแฮ็กโทรศัพท์และแกะข้อมูลที่มีความซับซ้อน

 

ซึ่ง Reuters ได้ตรวจสอบข้อมูลในเอกสารดังกล่าว แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลของซูจีเกี่ยวข้องกับคำสั่งติดตั้งสปายแวร์ดังกล่าวมากแค่ไหน

 

ทั้งนี้ ทางการเมียนมายังได้เปิดเผยแนวคิดแผนสกัดกั้นการสื่อสารที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อบริษัทโทรคมนาคมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ก่อนที่จะมีคำสั่งเกิดขึ้นในปลายปี 2020  

 

ขณะที่บริษัท Telenor ของนอร์เวย์ หนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 18 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 54 ล้านคน เปิดเผยแผนดังกล่าวต่อสาธารณชนผ่านแถลงการณ์ที่โพสต์ทางเว็บไซต์บริษัทเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยกังวลต่อแผนสอดส่องประชาชนของทางการเมียนมา ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงระบบของบริษัทได้โดยตรงและไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอม

 

ส่วนบริษัทโทรคมนาคมอื่นๆ เช่น MPT ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการเมียนมา และ Mytel ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกองทัพเมียนมากับบริษัท Viettel ของกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ต่างตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารเช่นกัน

 

ภาพ: STR / AFP

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising