วันนี้ (28 มิถุนายน) กองทัพเมียนมายังคงเดินหน้าจัดการกับกลุ่มผู้เห็นต่าง โดยล่าสุดมุ่งเป้าโจมตีทนายความด้านสิทธิที่ช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง ในเดือนที่ผ่านมามีทนายความอย่างน้อย 5 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี โดยการใช้อำนาจกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่กองทัพเมียนมานำมาใช้จัดการกับผู้เห็นต่าง ส่งผลให้การทำงานของทนายความฝ่ายประชาธิปไตยเป็นไปอย่างยากลำบาก
ขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เดินขบวนประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร แม้เมียนมาจะตกอยู่ภายใต้เงาของเผด็จการทหารมานานเกือบ 5 เดือนเต็ม พวกเขายังคงรวมพลังอารยะขัดขืน ถือป้าย ชูสามนิ้ว แสดงพลังในฐานะประชาชนชาวเมียนมา ผู้เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมประณามและกดดันกองทัพเมียนมาให้คืนอำนาจอันชอบธรรมกลับสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
ล่าสุด สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของเมียนมา (AAPP) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตหลังการก่อรัฐประหารแล้ว 883 ราย ยังคงถูกจับกุมและควบคุมตัวกว่า 5,183 ราย ออกหมายจับแล้ว 1,966 ราย ขณะที่อย่างน้อย 221 รายได้รับการตัดสินโทษแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ภาพ: STR / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น