วันนี้ (1 เมษายน) กองทัพเมียนมาประกาศจะหยุดยิงชั่วคราวในบางพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายนนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย แต่จะยังคงดำเนินมาตรการปราบปรามเหตุที่กระทบความมั่นคงและแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลทหาร ด้านทูต UN เตือนระวังการสังหารหมู่ระลอกใหม่ หลังมียอดผู้เสียชีวิตแล้วราว 520 ราย ย้ำให้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต
โดยช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุนองเลือดครั้งใหญ่ ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 รายภายในวันเดียว ก่อนที่จะมีการเปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่ฐานทัพและชุมชนของชาวกะเหรี่ยง จนเป็นเหตุให้มีผู้อพยพหนีตายและเข้ามาขอความช่วยเหลือจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ทางด้าน คริสติน ชราเนอร์ เบิร์จเนอร์ ทูตพิเศษด้านเมียนมาของสหประชาชาติ (UN) กล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่จัดขึ้นเมื่อวานที่ผ่านมาให้เฝ้าระวังการสังหารหมู่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันตลอดเวลา พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกยื่นมือเขาช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมา
“หากลองมองย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วจากนี้ ประวัติศาสตร์จะตัดสินความเฉยเมยนี้อย่างไร ฉันหวังว่าคุณจะสามารถดำเนินการอะไรบางอย่างได้ ในขณะที่ยังพอมีเวลาหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด ด้วยการเอาชนะความระแวดระวังและความไม่เห็นพ้องต้องกัน”
ขณะที่ จ่อ โม ทุน หัวหน้าทูตผู้แทนถาวรเมียนมาประจำสหประชาชาติส่งจดหมายถึง UNSC เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือเมียนมาโดยเร็ว หลังประชาชนชาวเมียนมาเริ่มสิ้นหวังและต้องการความช่วยเหลือจากประชาคมโลก เพื่อรักษาชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐเข่นฆ่าประหัตประหาร โดยคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ที่รับรองสถานะทางการทูตของ จ่อ โม ทุน เพิ่งประกาศโรดแมปยกระดับการอารยะขัดขืนต้านรัฐบาลทหาร กองทัพเตือน ใครให้ความร่วมมือ CRPH อาจมีความผิดฐานกบฏตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ด้านคณะมนตรีฯ 15 ประเทศที่ประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมาวานนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงมาตรการตอบโต้อย่างทันท่วงทีต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในเมียนมาแต่อย่างใด แม้แต่การออกเอกสารเกี่ยวกับผลการประชุม ผู้แทนทางการทูตของจีนขอเลื่อนออกไป โดยให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องปรึกษารัฐบาลที่กรุงปักกิ่งก่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- นักวิชาการคาด เมียนมาอาจเข้าใกล้สถานะ ‘รัฐล้มเหลว’ ขณะที่กองทัพพยายามปกครองประเทศด้วยความหวาดกลัว
- ชะตากรรมของออง ซาน ซูจี เป็นอย่างไร หลังถูกรัฐประหารมานานกว่า 2 เดือน
ภาพ: Myat Thu Kyaw / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: