×

นักวิชาการคาด เมียนมาอาจเข้าใกล้สถานะ ‘รัฐล้มเหลว’ ขณะที่กองทัพพยายามปกครองประเทศด้วยความหวาดกลัว

30.03.2021
  • LOADING...
นักวิชาการคาด-เมียนมาอาจเข้าใกล้สถานะ

วานนี้ (29 มีนาคม) นักวิชาการจากกลุ่ม Think Tank ในออสเตรเลียอย่าง Lowy Institute คาดการณ์ถึงสถานการณ์ในเมียนมาว่าอาจเข้าใกล้สถานะ ‘รัฐล้มเหลว (Failed State)’ หลังจากที่รัฐไม่สามารถปกป้อง ดูแลความปลอดภัย รวมถึงตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนภายในประเทศได้ และกลับใช้กำลังความรุนแรงปราบปรามประชาชน พยายามปกครองประเทศด้วยความหวาดกลัว มีความจำเป็นที่ประชาคมโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจ จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขวิกฤตดังกล่าว

 

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มีชาวเมียนมาเสียชีวิตจากการก่ออาชญากรรมโดยรัฐแล้วราว 500 ราย ถูกจับกุมรวมกว่า 2,500 ราย สถานการณ์ในเมียนมามีแนวโน้มนองเลือดรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 รายภายในวันเดียว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ในจำนวนนั้นอย่างน้อย 7 รายเป็นเพียงเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

 

ทางด้าน เฮอร์เว เลมาเฮียว ผู้อำนวยการโครงการอำนาจและการทูตประจำ Lowy Institute เผยว่า “พวกเราเฝ้าติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และเริ่มรับรู้ว่าเมียนมาอาจกำลังเข้าใกล้สถานะรัฐล้มเหลว

 

สถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อนและยากลำบาก หลังกองทัพเมียนมาปกครองประเทศด้วยอำนาจจากปลายกระบอกปืน ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศไร้เสถียรภาพและยิ่งไม่มีความชอบธรรมในการบริหารปกครอง

 

สิ่งที่เราต้องการจริงๆในขณะนี้ อย่างน้อยที่สุดจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา อาจจะรวมถึงญี่ปุ่น ต้องเห็นพ้องต้องกันในการเข้าช่วยเหลือวิกฤตในเมียนมา ร่วมกดดัน พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหาร ที่มีกำหนดจะเกษียณอายุในเดือนมิถุนายนนี้”

 

ขณะที่ รอดเจอร์ เบเกอร์ รองประธานอาวุโสและที่ปรึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Stratfor ในสหรัฐฯ ก็มีความเห็นสอดคล้องกับเลมาเฮียวที่ต้องการให้ประชาคมโลกเข้าช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาจากการประหัตประหารโดยรัฐ และมองว่ามหาอำนาจอย่างจีนจะเป็นตัวแสดงที่สำคัญในวิกฤตครั้งนี้

 

“ผมคิดว่าจุดสำคัญที่จะสามารถสร้างแรงกดดันให้กับกองทัพเมียนมาได้อยู่ที่การตัดช่องทางเศรษฐกิจ แต่ผมไม่แน่ใจว่ามาตรการคว่ำบาตรต่างๆ โดยเฉพาะของบรรดาประเทศในตะวันตกจะเพียงพอต่อการตัดท่อน้ำเลี้ยงนี้หรือไม่ คุณอาจจำเป็นต้องให้จีนเข้ามามีส่วนช่วยกดดันในครั้งนี้ด้วย แต่จีนเองก็ไม่อยากจะผลักให้ประเด็นเมียนมาก้าวไปไกลกว่านี้ เช่นเดียวกับประเด็นของเกาหลีเหนือ ถ้าจีนไม่ขยับปรับเปลี่ยนท่าทีครั้งใหญ่ ก็อาจจะยากที่เราจะเห็นพัฒนาการของการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางการทูต”

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

ภาพ: Theint Mon Soe / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising