ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในสภาวะที่ซบเซาแค่ไหน หลายธุรกิจปิดกิจการลง อาจสวนทางกับธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา หรือ ‘ธุรกิจสายมู’ ที่เติบโตอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน
การนำเอาศาสตร์สายมูมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด (Muketing: MU + Marketing) ส่งผลให้มูลค่าตลาดมูเก็ตติ้งในไทยปีนี้ยังคงสูงถึงหมื่นล้านบาท ซึ่งเชียงรายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสายมูเดินทางมาตามรอยวัดดังคึกคัก และยังมีการส่งออกเครื่องรางไปจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับความเชื่อมีหลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดเฉพาะพระเครื่องอย่างเดียวเท่านั้น โดยเทรนด์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถ้าเทียบกันระหว่างตลาดพระเครื่องกับสินค้าสายมู สินค้าสายมูดูจะมาแรงกว่า เนื่องจากคนที่นิยมมีทุกวัย โดยแต่ละกลุ่มอายุจะมีวิธีการมูเตลูที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่มีความเชื่อและกำลังซื้อค่อนข้างสูง ได้แก่ กลุ่ม Gen Z โดยการเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z
ขณะเดียวกันเทรนด์เปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเกือบ 100% ที่ยอมทุ่มให้สินค้าสายมู เช่น พญานาค ผ้ายันต์ เครื่องราง เครื่องประดับ แหวน กำไล นาฬิกา กระเป๋า สร้อยข้อมือ สร้อยคอ เครื่องสำอาง น้ำหอม ลิปสติกฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้หญิงมากกว่าพระเครื่อง
อรมนระบุว่า “หากดูในแง่ของกำลังซื้อ ผู้หญิงกล้าทุ่มเรื่องการใช้จ่ายมากกว่าผู้ชาย ประกอบกับสินค้าสายมูราคาต่อชิ้นไม่สูงมากนัก อยู่ที่ประมาณ 300-1,000 บาท ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ง่าย ส่งผลให้มูลค่าตลาดมูเก็ตติ้งน่าจะถึงหลักหมื่นล้านบาท เฉพาะในเมืองไทยยังไม่เท่าไร ส่วนมากจะมูไปต่างประเทศทำให้มีการส่งออกสูง โดยประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด”
THE STANDARD WEALTH ลงพื้นที่สำรวจธุรกิจจังหวัดเชียงราย ที่ร้าน ‘คู่หูดูโอ้ ดล-ปอนด์’ ร้านเช่าพระเครื่องรายใหญ่ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ตลาดพระเครื่องลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่พอจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่อง มีกำลังทรัพย์ในการสะสม เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ราคาอยู่ที่ความนิยมในแต่ละช่วงเวลาและความต้องการของตลาด
เช่น พระที่หายากหรือพระที่เป็นตำนาน เช่น พระสมเด็จฯ ราคาจะอยู่ที่หลักแสน-หลักล้าน แล้วแต่ความพอใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย พระมีราคาขายออก มีราคารับซื้อคืน เป็นมาตรฐานของท้องตลาด ราคาพระเครื่องขึ้นมากกว่าราคาทองคำ แถมไม่มีเพดาน ทองคำซื้อขายกันทั่วโลก มีราคาขึ้นลงตามปัจจัยสนับสนุน ณ เวลานั้นๆ แต่พระเครื่องขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความศรัทธา
“กระแสมีขึ้นมีลง ไม่แน่นอน แต่คนที่เป็นนักสะสมพระจริงๆ จะรู้ทันราคากันหมด เพราะปัจจุบันมีสื่อมากมายให้เปรียบเทียบ ต่างกับสมัยก่อนซื้อมาหลักร้อยสามารถขายองค์ละเป็นแสนเป็นล้านได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี แม้มีบ้างแต่ก็น้อยมาก เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่เพิ่งเรียนจบบางคนก็มาทำงานตามร้านเช่าพระ พอเริ่มเล่นพระเป็นก็อยากขายเอง”
ประกอบกับปัจจุบันเจ้าของธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจมูเก็ตติ้งไม่ใช่กลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น Gen Z อายุระหว่าง 20-30 ปี มีความรู้ด้านการตลาด สามารถใช้โซเชียลเป็น ก็ซื้อมาขายไปผ่านการไลฟ์ ซึ่งตลาดจะกว้างกว่าสมัยก่อนมาก คนซื้อขายกันได้ทั่วโลก ลูกค้ามาจากประเทศจีนซื้อขายกันผ่าน WeChat แต่ยังใช้มาตรฐานของคนไทย
หากต้องการพระแท้ต้องออกใบรับรองจากสมาคมฯ แล้วส่งไปที่เมืองจีน เมืองไทยเปรียบเสมือนศูนย์กลางความเชื่อและศรัทธาของโลก ตลาดพระเครื่องจึงยึดมาตรฐานของไทยเป็นหลัก
ชวนวิเคราะห์ เหตุใดธุรกิจที่เกี่ยวกับความเชื่อเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วในไทย
อรมนฉายภาพอีกว่า แม้รูปแบบการขายสินค้าเกี่ยวกับความเชื่อจะเปลี่ยนแปลงไป มีช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และด้วยเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้คนต้องการที่พึ่งทางใจ ซึ่งก็เป็นสิ่งสะท้อนว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับความเชื่อทั้งทางพุทธศาสนาและไสยศาสตร์ ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับความเชื่อเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ตายตัว
ยกตัวอย่างเช่น การจัดทัวร์ไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทริปละ 3-10 วัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือธุรกิจเครื่องรางของขลัง ของนำโชค หากผู้ประกอบการมองเห็นลู่ทางก็สามารถประคองธุรกิจได้
นอกจากนี้ จากการสำรวจการตลาดมูเก็ตติ้งในจังหวัดเชียงราย พบว่า ตลาดรอบๆ วัดดังในจังหวัดมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติยืนเลือกซื้อสินค้าสายมูกันอย่างคึกคักและต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้ธุรกิจข้างเคียงหลายธุรกิจพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย
ยอดจดนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 52.92%
อรมนบอกอีกว่า “เศรษฐกิจสายมูของประเทศไทยยังสามารถเดินไปข้างหน้าได้อีกยาวไกล สร้างรายได้เข้าชุมชน และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมาก”
ปัจจุบันยอดจดนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการสายมู (โหราศาสตร์และความเชื่อศรัทธา) อยู่ 154 ราย
ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยข้อมูลงบการเงินปี 2566 ธุรกิจในกลุ่มนี้สามารถทำรายได้ 227.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.92% จากปีก่อนหน้า
โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ขอเตือนนักลงทุนที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจสายมู ต้องทำการศึกษาตลาดให้ดีก่อนการลงทุน พยายามเรียนรู้รูปแบบธุรกิจที่แท้จริงจากผู้ที่มีประสบการณ์หรือผู้ที่เข้ามาในตลาดก่อน จะช่วยลดความเสี่ยงด้านการประกอบธุรกิจ และสร้างผลกำไร
ปัจจุบัน ‘การมูเตลู’ หรือความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยทุกเพศทุกวัย ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เผยให้เห็นถึงพฤติกรรมการมูเตลูที่แตกต่างกันของคนไทยในแต่ละเจเนอเรชัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญสำหรับธุรกิจยุคใหม่
จากผลสำรวจคนไทยกว่า 1,200 คน พบว่า 88% เชื่อเรื่องการมูเตลู และ 52% มองว่าการมูเตลูเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ คนไทยส่วนใหญ่มูเพื่อตัวเองมากกว่าครอบครัว