วันนี้ (30 กันยายน) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หลายประเทศในประชาคมโลกกำลังหันไปพึ่งพาวัคซีนโควิดชนิด mRNA จากชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้น แทนการสั่งซื้อวัคซีนชนิดเชื้อตายสัญชาติจีนจาก Sinovac และอาจรวมถึง Sinopharm หลังมีรายงานและข้อมูลบ่งชี้ว่า วัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพในการต้านโควิดกลายพันธ์ุโดยเฉพาะสายพันธ์ุเดลตา ซึ่งเป็นสายพันธ์ุหลักที่แพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ได้
เดิมทีในช่วงแรกเริ่มของการใช้วัคซีนโควิดในประชาคมโลก วัคซีนสัญชาติจีนถือเป็นวัคซีนตัวแรกๆ ที่ได้ฉีดลงไปในต้นแขนกลุ่มประชาชนภายในประเทศที่มีรายได้น้อย เป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้ามาตรการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในระยะแรกๆ ในหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ก่อนที่ประเทศเหล่านั้นจะเริ่มหันมาพึ่งพาวัคซีนโควิดจากผู้ผลิตในซีกโลกตะวันตกเพิ่มมากขึ้น
ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกวัคซีนสัญชาติจีนลดลง 21% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จาก 2.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.38 หมื่นล้านบาท) มาอยู่ที่ 1.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.62 หมื่นล้านบาท) โดยก่อนหน้านี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2020
ทางด้าน นิโคลัส โทมัส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ City University of Hong Kong ระบุว่า โดยทั่วไปในช่วงแรกๆ ผู้คนมักจะเข้ารับวัคซีนตัวที่สามารถฉีดได้เร็วที่สุดเป็นอันดับแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีข้อมูลและการศึกษาที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง พวกเขาก็จะตระหนักได้ว่า ไม่ใช่วัคซีนโควิดทุกตัวจะเหมือนกันหมด โดยเฉพาะในเแง่ของประสิทธิภาพ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีคำสั่งให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Shot) ให้กับผู้ที่เคยเข้ารับการฉีดวัคซีนเชื้อตายของจีน ทางด้านฮ่องกงก็กำลังศึกษาประสิทธิภาพของการใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในคนที่เข้ารับวัคซีน Sinovac ไปแล้วก่อนหน้านี้
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้วัคซีนโควิดสัญชาติจีนเป็นวัคซีนหลักในการขับเคลื่อนมาตรการฉีดวัคซีนภายในประเทศ ก่อนที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนท่าที หลังจากวัคซีนเชื้อตายจากจีนอาจไม่สามารถรับมือกับสายพันธ์ุเดลตาได้ดีนัก ไทยจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่ตัดสินใจฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้กับผู้ที่เข้ารับวัคซีนโควิดจาก Sinovac ไปแล้ว 1 หรือ 2 โดส คาดว่าวัคซีน Sinovac จำนวน 6 ล้านโดสที่จะส่งถึงไทยในเดือนตุลาคมนี้จะเป็นล็อตสุดท้ายแล้ว โดยอย่างน้อย 3 ไตรมาสแรกในปี 2022 รัฐบาลจะพยายามจัดซื้อหาวัคซีนจาก AstraZeneca และ Pfizer เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการวัคซีนในประเทศ โดยพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของคนภายในประเทศควบคู่ไปกับความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์กับจีน
ขณะที่ชิลี อีกหนึ่งประเทศที่ใช้วัคซีนโควิดจากจีนเป็นวัคซีนหลัก ยังคงเดินหน้าเริ่มฉีดวัคซีนจีนให้กับเด็กอายุ 6-11 ปีในสัปดาห์นี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบคลุมประชากรในช่วงอายุต่างๆ มากยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหากติดเชื้อในเวลาต่อมา วัคซีนจากจีนยังร่วมเป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่ช่วยสนับสนุนสต๊อกวัคซีนโควิดในโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกและพันธมิตร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาคมโลกเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม แต่ในบางประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ที่เข้ารับเฉพาะวัคซีน Sinovac เดินทางเข้าประเทศในช่วงระยะเวลานี้ หากยังไม่ได้รับวัคซีนตัวอื่นๆ เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจแนวทางการใช้วัคซีน mRNA เป็น ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ในประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac
- เปรียบเทียบประสิทธิภาพล่าสุด วัคซีน Sinovac vs. Pfizer-BioNTech ในชิลี
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Artur Widak / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: