เปลี่ยนให้คนชอบกลายมาเป็นแฟนคลับหรือหัวคะแนนธรรมชาติ นั่นคือกลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า ‘ทาร์เก็ตติ้ง’ ทำให้พรรคก้าวไกลหักปากกาเซียน ชนะการเลือกตั้ง 2566 ถือว่าประสบความสำเร็จเร็วกว่าที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้
“คีย์สำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองมีความน่าสนใจและดึงดูดกลุ่มคนได้คือ การสร้างคอนเทนต์ให้แตกต่างและโดดเด่น หากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารให้ตรงจุดผ่านกลยุทธ์ทาร์เก็ตติ้ง ที่เปลี่ยนให้คนที่ชื่นชอบอย่างเดียวกลายมาเป็นแฟนคลับให้ได้” ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH
วางตำแหน่งการตลาดให้ชัดเจน-โดดเด่น
สำหรับกลยุทธ์ที่พรรคก้าวไกลเลือกใช้คือ การวางตำแหน่งการตลาดที่ชัดเจน ทั้งการสร้างแบรนด์ตัวเองให้โดดเด่น และหยิบยกคอนเทนต์นโยบายออกมาสื่อสารให้แตกต่างจากพรรคคู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่น ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “แม้ว่าจะไม่เลือกผม ผมก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคน” ซึ่งโดนใจคนจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ส.อ.ท. มองข้ามช็อต ชี้หากตั้งนายกฯ คนใหม่ช้ากว่า 4 เดือน ทำงบประมาณสะดุด การลงทุนชะงัก
- นักเศรษฐศาสตร์ลุ้นการตั้งรัฐบาลใหม่ราบรื่น ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย ชี้หากล่าช้าจะยิ่งส่งผลกระทบ
- เปิดภาพฝันอุตสาหกรรมใหม่ของไทย หากก้าวไกลประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่แปลกใจที่ทำไมพรรคก้าวไกลถึงชนะมากกว่าที่คาดการณ์ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดหัวคะแนนธรรมชาติแล้ว ยังสามารถดึงฐานเสียงจากพรรคอื่นได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการสื่อสารผ่านสื่อใหม่ๆ เช่น E-Sport สอดแทรกนโยบายเข้าไปถึงเด็กรุ่นใหม่อายุ 18-22 ปี ที่ใช้เวลากับการเล่นเกมในชีวิตประจำวัน
ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังมีความโดดเด่นอยู่บ้าง แต่พลาดที่ยังขาดความชัดเจน ทำให้หลายคนรู้สึกแปลกใจและเปลี่ยนใจเทคะแนนเสียงมาก้าวไกลในช่วงท้ายของการเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นว่า การดึงลูกค้าจากฝั่งเดียวกันเองจะง่ายกว่า
เน้นพูดแต่นโยบายเดิมๆ เหมือนในอดีต จะไม่เกิดอีกต่อไป!
กลยุทธ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมาก หากสังเกตจะเห็นว่าพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมบางพรรคจะไม่ค่อยโดดเด่น เพราะเน้นพูดนโยบายเดิมๆ ทั้งการพัฒนาประเทศและการปราบโกง ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกคนต้องทำกันอยู่แล้ว และใช้หาเสียงมาตั้งแต่ยุคอดีต
เห็นได้ชัดๆ พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่จะมีแฟนคลับอยู่ภาคใต้ แต่วันนี้เราเห็นหลายๆ จังหวัดกลายเป็นแฟนคลับพรรคภูมิใจไทย ที่ส่วนใหญ่จะเน้นสร้างโปรดักต์ ไม่เน้นสื่อสาร
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติที่เพิ่งแจ้งเกิดได้ไม่นาน ถือว่าสามารถสร้างความแข็งแรงให้กับแบรนด์ในช่วงระยะเวลาสั้นได้อย่างรวดเร็ว และในระยะเวลาไม่กี่เดือนได้ 30-40 เสียง ก็ถือว่ามากพอสมควร
ผศ.ดร.เอกก์ ย้ำว่า กลยุทธ์การทำตลาดของการเมืองก็เหมือนกับการสร้างแบรนด์สินค้าคือ การมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถ้าเปรียบก้าวไกลเป็นสินค้า ก็เหมือนกับ Apple แบรนด์สัญชาติอเมริกัน
ในช่วงเริ่มแรกจะมีกระแสและหวือหวามาก แต่ก็จะมีสินค้าใหม่ๆ ที่เป็นคู่แข่งกระโดดเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วแบรนด์ไม่จำเป็นต้องลด แลก แจก แถม เพราะถ้าสินค้าดี ลูกค้าก็ซื้อ
เปลี่ยนจุดขายตามบริบทที่เปลี่ยนไป
ด้าน ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กลยุทธ์ของพรรคการเมืองจริงๆ ไม่ได้มีอะไรที่หวือหวาหรือแตกต่าง เพียงแต่อาจมีคอนเทนต์ที่ชัดเจนและกำหนดเวลาการสื่อสารได้ตรงจุด
วิเคราะห์ในมุมเอเจนซี เมื่อพรรคการเมืองรู้ว่าใครคือคู่แข่งหลัก ก็ต้องพยายามงัดคอนเทนต์หรือจุดขายเข้ามาเป็นตัวแปรในการดึงฐานเสียง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์เดียวกันกับช่วงแรกๆ เพราะสามารถเปลี่ยนไปตามบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้
อนาคตโลกโซเชียลจะสะท้อนความจริงมากกว่าผลโพล
ภวัตมองว่า อีกด้านหนึ่งในมุมของเอเจนซี การเลือกตั้งปีนี้ยังมองเห็นถึงปรากฏการณ์ใหม่ วันนี้โลกโซเซียลได้กลายเป็นโลกความจริงไปแล้ว ซึ่งถ้าเป็นอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกโซเซียลจะไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมด
แต่วันนี้ผลลัพธ์ที่ออกมากลายเป็นว่า ข้อมูลที่อยู่ในโซเซียลมีเดียนั้นเป็นผลโพลที่ดีที่สุด เห็นได้จากการพูดถึงความนิยมของพรรคก้าวไกลจำนวนมากและผลการเลือกตั้งก็ออกมาตรงกับความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย
ถึงกระนั้น ในมุมเอเจนซีเองก็วิเคราะห์ว่า คนไทย 84% ที่มีสิทธิออกไปเลือกตั้ง เข้าถึงโซเชียลมีเดีย ขณะที่คนไทยอีก 16% อาจเป็นกลุ่มคนสูงวัยหรือเด็กที่ยังเข้าไม่ถึงโซเชียลมีเดีย
ทำให้อนาคตหลังจากนี้โลกโซเชียลจะสะท้อนโลกความจริงที่ชัดเจนที่สุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มากกว่าผลโพลต่างๆ ที่อาจไม่มีประโยชน์อีกต่อไปแล้ว