×

MotoGP Sprint Race: เมื่อนักบิดต้องทำงานหนักขึ้นในเงินเดือนที่ไร้การการันตี

28.03.2023
  • LOADING...

MotoGP สนามแรกของฤดูกาล 2023 รายการ Grande Premio de Portugal ที่อัลการ์ฟอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต เมืองปอร์ติเมา จบลงไปด้วยชัยชนะอย่างงดงามของ ฟรานเชสโก บัญญายา นักบิดชาวอิตาลี จากทีมดูคาติ เลโนโว ทั้งในรอบเมนเรซและสปรินท์เรซ

 

ชัยชนะของ ‘เป็กโก้’ ทั้งสองรอบทำให้มีคะแนนทิ้งห่างจาก เมเวอริก บีญาเลส นักขับชาวสเปน ในรอบที่เข้าเส้นชัยในรอบเมนเรซมาเป็นอันดับ 2 ห่างถึง 12 คะแนน และยังทิ้งห่างจาก มาร์โก เบซเว็คคี นักบิดเพื่อนร่วมชาติจากทีมมูนนีย์ วีอาร์ 46 ที่รับธงตราหมากรุกเป็นอันดับที่ 3 ห่างถึง 21 คะแนน

 

แม้การแข่งขันจะเหลืออีกถึง 20 สนาม แต่ก็เริ่มมีข้อกังวลถึงกฎใหม่ในการใช้สปรินท์เรซของ MotoGP กันบ้างแล้วว่า จะทำให้ฤดูกาลของการแข่งขัน ‘จบลงอย่างรวดเร็วเกินไป’ หรือไม่ หากผู้ชนะในรอบสปรินท์เรซและเมนเรซเป็นคนคนเดียวกันและเป็นคนเดิมแบบนี้บ่อยๆ

 

การใช้สปรินท์เรซของ MotoGP แตกต่างจาก F1 ที่กำหนดให้มีการแข่งขันแบบสปรินท์เรซแบบจำกัดสนามเพียง 6 จาก 23 และให้คะแนนผู้ชนะจากสปรินท์เรซเพียงแค่ 8 คะแนนลงมาตามลำดับจนถึง 1 คะแนนในอันดับที่ 8 เท่านั้น

 

แต่ใน MotoGP ฤดูกาลนี้จะมีการใช้สปรินท์เรซแข่งขันกันในทุกสนาม ซึ่งจะเป็นการแข่งขันปิดวันเสาร์หลังจบการจัดอันดับกริดสตาร์ทแล้ว

 

 

โดยการแข่งขันในสปรินท์เรซของ MotoGP จะมีการแข่งขันเหมือนกันกับในรอบเมนเรซทุกประการ แต่จะเอาทุกอย่างในรอบเมนเรซมาหารครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรอบหรือคะแนน กล่าวคือหากเรซปกติมีการแข่งขันกันทั้งหมด 30 รอบ ในรอบสปรินท์เรซจะแข่งขันกันเหลือ 15 รอบ โดยคะแนนที่จะได้ก็จะหาร 2 ลงไปด้วย ดังนี้

 

  • อันดับ 1 ได้ 12 คะแนน
  • อันดับ 2 ได้ 9 คะแนน
  • อันดับ 3 ได้ 7 คะแนน
  • อันดับ 4 ได้ 6 คะแนน
  • อันดับ 5 ได้ 5 คะแนน
  • อันดับ 6 ได้ 4 คะแนน
  • อันดับ 7 ได้ 3 คะแนน
  • อันดับ 8 ได้ 2 คะแนน
  • อันดับ 9 ได้ 1 คะแนน 

 

แม้ข้อกังวลเรื่องการตัดสินแชมป์ที่อาจจะรวดเร็วเกินไป จะถูกแย้งด้วยเหตุผลว่า หากผู้ชนะไม่ใช่ ‘คนหน้าเดิมซ้ำๆ’ สปรินท์เรซก็จะช่วยทำให้การแข่งขันสนุกและสูสีขึ้นได้ แต่ข้อกังวลเกี่ยวกับสปรินท์เรซก็ไม่ได้มีเพียงเรื่องผลของการแข่งขันอย่างเดียวเท่านั้น

 

การเพิ่มการแข่งขันในรอบสปรินท์เรซมาใน 21 สนามของการแข่งขันในฤดูกาล ทำให้นักบิดหลายคนมองว่า พวกเขาต้องทำงานหนักขึ้นภายใต้ค่าจ้างเท่าเดิม เหมือนพวกเขาทำงาน 150% และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงอาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น แต่มาตรการรองรับของฝ่ายจัดอย่างดอร์นา สปอร์ตส์ กลับไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นเลย

 

สปรินท์เรซจึงกลายมาเป็นความแตกแยกระหว่างนักขับ ทีมผู้ผลิต และฝ่ายจัดการแข่งขัน ที่ก่อตัวขึ้นเหมือนคลื่นใต้น้ำ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

 

ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อ MotoGP ประกาศว่า ในฤดูกาล 2023 จะมีการแข่งขันในรูปแบบสปรินท์เรซทุกสนาม เป็นเวลาเดียวกับที่นักขับในแต่ละทีมรับทราบพร้อมกับแฟนๆ MotoGP ทั่วโลก แม้ว่าพวกเขาหลายคนจะระแคะระคายมาบ้างว่าแนวคิดนี้กำลังถูกพูดถึงในบรรดาผู้บริหารก็ตาม

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการแข่งขันแบบสปรินท์เรซ และหนึ่งในคำถามสำคัญคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าทีมและนักแข่งยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับโบนัสที่พวกเขาจะได้รับจากการชนะการแข่งขัน

 

เรื่องเงินค่าตอบแทนนักขับ MotoGP เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงกันมาสักพักใหญ่แล้ว และเป็นที่รู้กันว่านักบิด MotoGP ไม่มีการการันตีเงินตอบแทนขั้นต่ำ ทั้งที่เป็นกีฬาที่มีความเสี่ยงสูงมาก

 

 

โดยเรื่องนี้ถูกตอกย้ำโดย ปาโก ซานเชซ ผู้จัดการส่วนตัวของ โยฮัน เมียร์ ที่กล่าวกับสื่อในการแข่งขันเฟรนช์กรังด์ปรีซ์เมื่อปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาเพียง 2 สัปดาห์ก่อนที่ทีมซูซูกิทีมของเขาในตอนนั้นจะประกาศยุติการทำทีมใน MotoGP และทำให้การเช็นสัญญาฉบับใหม่ของเมียร์พังทลายลง

 

ซึ่งทางซานเชซกล่าวว่า “นี่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผมมันก็เหมือนกับเทนนิส ฟุตบอล และกีฬายักษ์ใหญ่อื่นๆ ส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ควรเป็นเรื่องของคนที่เป็นดาวเด่นของการแข่งขัน และนักแข่ง MotoGP ก็เป็นดาวเด่นของโลก ดังนั้นผมคิดว่าพวกเขาสมควรได้รับ (ค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ) ไม่รู้ว่าดอร์นาหรือทีมผู้ผลิตคิดว่าควรมีใครต้องกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำ (ให้พวกนักแข่ง) บ้างหรือเปล่า?

 

“ผมไม่ได้บอกว่าจ่ายเงินเดือนให้พวกเขาแบบที่จ่ายให้ มาร์ค มาร์เกซ แต่ผมอยากให้มีการจ่ายขั้นต่ำ เพราะพวกเขาต้องเสี่ยงกับชีวิตของพวกเขา บางครั้งเราก็ลืมไป แต่พวกเขากำลังเสี่ยงแข่งขันบนชีวิตของพวกเขา นักแข่งรุ่นเยาว์บางคน ถ้าคุณเสนอเงิน 1 แสนยูโรให้พวกเขา พวกเขาก็จะเซ็นสัญญา หรือบางคนอาจจะไม่ได้เลยสักแดง”

 

ในการสัมภาษณ์ครั้งเดียวกันนั้น ซานเชซยังเปิดเผยว่า สัญญาที่ เรมี การ์ดเนอร์ นักแข่งจากทีมเทคทรี ต้องเซ็นนั้นเป็นสัญญาที่ ‘ห่วยแตก’ อย่างมาก และที่เขาพูดแบบนั้นได้ เพราะซานเชซก็เป็นผู้จัดการส่วนตัวของการ์ดเนอร์ด้วย

 

ด้าน ลูกา มารินี นักบิดทีมวีอาร์ 46 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในนักบิดที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยมากในการแข่งขันฤดูกาลนี้ ก็ยังช่วยราดน้ำมันเพิ่มเข้าไปในประเด็นที่นักบิดต้องเสี่ยงมากขึ้นภายใต้สัญญาที่ไม่ได้มีเงินการันตีด้วย

 

โดยนักบิดชาวอิตาลีจากทีมของ วาเลนติโน รอสซี กล่าวว่า “ด้วยความเคารพ ตอนนี้ดูเหมือนว่ารูปแบบจะเปลี่ยนไป แต่ทุกคนเอาแต่พูดว่า ‘โอเค นักแข่งทุกคน นี่รูปแบบใหม่นี้ คุณได้เงินเท่าเดิม เพราะคุณแค่ต้องทำสิ่งเดิม ทว่าการแข่งที่มากขึ้นหมายถึงความสนุกที่มากขึ้นสำหรับคุณ เย่! ดังนั้นขอให้สนุกกันนะ’

 

“ผมเห็นด้วยกับพวกเขาบางส่วน เพราะแน่นอนว่ามันสนุกกว่าสำหรับเรา เพราะเราต้องการแข่ง มันเหลือเชื่อมากที่ได้แข่งใน MotoGP และยิ่งมีการแข่งขันมากเท่าไร ก็ยิ่งสนุกมากขึ้นเท่านั้น

 

“แต่การแข่งขันมันก็เป็นงานของเรา มันคือชีวิตของเรา และเป็นการเสียสละของเราในระหว่างวัน เพราะตอนนี้คุณเป็นนักแข่ง MotoGP คุณต้องทำงานเกือบ 365 วันต่อปี คุณจะไม่มีเวลาว่างมากขนาดนั้น คุณมีความเครียดมากเช่นกัน ความพยายามของการแข่งขันใหม่จะไม่น่าเชื่อ”

 

 

เงินเดือนพื้นฐานไม่ใช่เรื่องแปลกในกีฬาโลก โดยผู้เล่นฮอกกี้ใน NHL จะได้รับ 7.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 25.8 ล้านบาท เป็นเงินเดือนขั้นต่ำต่อฤดูกาล ขณะที่ใน NFL ตัวเลขนั้นอยู่ที่ 7.05 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 24.24 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ใน NBA อยู่ที่ 9.25 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 31.8 ล้านบาทต่อซีซัน อาจเป็นไปได้ว่า ตัวเลขฐานเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินโดยรวมของลีกหรือของการแข่งขันนั้นๆ และอาจรวมถึงขนาดกับมูลค่าของทีม รวมไปถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่นักกีฬาต้องเผชิญด้วย

 

ความแตกต่างระหว่าง MotoGP กับกีฬาอเมริกัน ที่ว่ามาคือ ในวงการกีฬานักบิดอาชีพในปัจจุบันไม่มีองค์กรที่จะต่อสู้ในนามของนักแข่งในเรื่องของเงินเดือน ซึ่งแตกต่างจาก F1 ซึ่งมีสมาคมนักแข่งกรังด์ปรีซ์ ทำให้เสียงเรียกร้องดังกล่าวของพวกเขาไม่แข็งแรงพอ

 

โดยทาง อเล็กซ์ เอสปากาโร นักบิดชาวสเปนจากทีมอาพริเลีย เรซซิง ก็พูดไปในทำนองเดียวกันว่า “ทีมสามารถทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการ มันไม่ยุติธรรม มันยุติธรรมที่ทีมต่างๆ มีสมาคมที่ปกป้องพวกเขา แต่เรารู้สึกว่าพวกเรา (นักแข่ง) ไม่ได้รับการปกป้อง ดังนั้นมันไม่ยุติธรรม

 

“เราไม่เคยมีผู้นำที่มีความห่วงใยมากพอที่จะก่อตั้งสมาคมนักบิดขึ้นมา แน่นอนว่าคนที่เหมาะสมคือ วาเลนติโน รอสซี และแม้ว่าจะมีการพูดคุยกันหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่เคยก้าวไปข้างหน้าในฐานะผู้นำของเราจริงๆ”

 

แม้จะมีเค้าลางความขัดแย้งระหว่างนักขับและฝ่ายจัดการแข่งขัน ซึ่งชัดเจนขึ้นหลังจากมีการแข่งขันแบบสปรินท์เรซ แต่ที่ผ่านมาความขัดแย้งถึงขั้นแตกหักระหว่างทั้งสองฝ่ายยังไม่เคยมีมาก่อน ต่างจากกีฬาอื่นๆ ที่เคยมีการเผชิญหน้าแล้วปัญหาได้รับการแก้ไข อย่างเช่น สงครามระหว่างฝ่ายจัด F1 และทีมผู้สร้าง หรือ FISA-FOCA War ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 หรือการล็อกเอาต์ของ NHL หรือ MLB ที่มีให้เห็นอยู่ตลอด เมื่อผลประโยชน์ระหว่างแต่ละฝ่ายไม่ลงตัว

 

ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากที่ MotoGP พยายามเพิ่มความนิยมให้การแข่งขันของพวกเขา ด้วยการเพิ่มการแข่งขันและให้นักบิดที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะได้แข่งมากกว่าฤดูกาลก่อนถึง 150% และต้องเผชิญความเสี่ยงมากกว่าเดิมถึง 2 เท่า? และเรื่องราวนี้จะจบลงอย่างไรในเมื่อไม่มีการคุ้มครองจากสหภาพผู้ขับขี่ที่พวกเขาควรจะมี?

 

เหล่านี้เป็นคำถามที่ MotoGP ต้องเผชิญ และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาในอนาคตอันใกล้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X