×

นักดาราศาสตร์พบการชนกันของสองหลุมดำที่อยู่ไกลจากโลกที่สุด

17.05.2024
  • LOADING...
หลุมดำ

นักดาราศาสตร์พบหลักฐานการชนกันระหว่าง หลุมดำ สองแห่งที่ใจกลางของ 2 กาแล็กซี เป็นครั้งแรกที่ตรวจพบหลุมดำชนกันในยุคแรกเริ่มของเอกภพ และนับเป็นการควบรวมของหลุมดำที่ไกลจากโลกที่สุดในปัจจุบัน

 

การค้นพบดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณ ZS7 ที่อุปกรณ์ NIRSpec ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ตรวจพบว่าเป็นหลักฐานของการควบรวมกันระหว่างกาแล็กซี 2 แห่ง ซึ่งมีหลุมดำมวลมากอยู่ที่แกนกลางดาราจักรทั้งสอง โดยกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 740 ล้านปี หรือเมื่อราว 1.3 หมื่นล้านปีที่แล้ว

 

Hannah Übler หัวหน้าคณะวิจัยในการตรวจพบครั้งนี้ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า “เราพบหลักฐานของก๊าซหนาแน่นและเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วในบริเวณโดยรอบหลุมดำ เช่นเดียวกับก๊าซที่ร้อนและเรืองแสงจากการแผ่รังสีโดยจานรอบหลุมดำ และด้วยความสามารถในการบันทึกภาพของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ทำให้เราสามารถแยกรายละเอียดเพื่อศึกษาหลุมดำทั้งสองแห่งได้”

 

การรวมกันของหลุมดำที่ไกลจากโลกที่สุด และเกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มของเอกภพที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบมานี้ มาจากหลุมดำแห่งหนึ่งที่มีมวลประมาณ 50 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ในขณะที่หลุมดำอีกแห่งไม่สามารถประมาณค่าได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากมันถูกซ่อนอยู่หลังฝุ่นก๊าซที่หนาแน่น โดย Roberto Maiolino หนึ่งในคณะวิจัยชุดนี้ ระบุว่า มันควรมีมวลที่ไม่ต่างจากหลุมดำแห่งแรกมากนัก

 

การตรวจพบครั้งนี้เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าหลุมดำสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของเอกภพ สอดคล้องกับการตรวจพบหลุมดำขนาดหลายพันล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ในช่วงเวลา 1,000 ล้านปีแรกหลังการเกิดบิ๊กแบง ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงจากการรวมกันของหลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซีต่างๆ ที่พุ่งชนและควบรวมกันในยุคแรกเริ่มของเอกภพ

 

งานวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ภาพ: ESA / Webb, NASA, CSA 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising