ภาพของมหาสมุทรสีฟ้าครามและวาฬตัวใหญ่เป็นภาพที่ทำให้หัวใจของใครและใครพองโตมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน
วาฬเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่เป็นเครื่องย้ำเตือนให้มนุษย์อย่างเราทุกคนได้รู้ว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กจ้อยเพียงใดในธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นี้ และในเวลาเดียวกันวาฬก็เป็นสัตว์ที่สอนทุกคนได้เป็นอย่างดีว่า ถึงจะตัวใหญ่แค่ไหนพวกมันก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหัวใจอ่อนโยนที่สุด
เช่นนั้นเองที่ภาพถ่ายของวาฬที่แหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทรใบหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วควรจะทำให้ทุกคนได้มีความสุข กลับกลายเป็นภาพถ่ายที่ฉีกหัวใจของใครต่อใครที่ได้พบเห็นเป็นริ้วๆ
เพราะวาฬหลังค่อมตัวนั้นมันหลังหัก ทั้งๆ ที่ไม่เคยหักหลังใครมาก่อน
เจ้าวาฬผู้โชคร้ายตัวนี้คือใครกัน ใครทำมัน และเราจะช่วยเหลืออะไรมันได้ไหม?
‘มูน’ สายน้ำและพระจันทร์
“พระเจ้านั่นมันมูน!”
นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัย Fin Island บนเกาะบริติชโคลัมเบียเหนือ อุทานเสียงหลงหลังจากที่ได้เห็นภาพถ่ายกลางอากาศจากโดรนที่ใช้ในการวิจัยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏภาพของวาฬหลังค่อมตัวหนึ่งที่ดูสภาพหลังบิดเบี้ยวอย่างน่าประหลาด บิดจนแทบจะเป็นรูปตัว S อยู่แล้ว
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีวันจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวาฬหลังค่อมหรือวาฬฮัมแบ็ก (Humpback whale) หนึ่งในวาฬสายพันธุ์ใหญ่ มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 8 ของวาฬทั้งหมด
พวกมันยังเป็นวาฬที่มักทำให้หัวใจของคนที่ได้พบเห็นพองโต เพราะการชอบกระโดดตัวขึ้นเหนือน้ำ ซึ่งการกระโดดเหนือน้ำนั้นเชื่อกันว่าเป็นการสลัดตัวเพรียงออก หรือเป็นการเรียกร้องความสนใจจากวาฬตัวเมีย และผลการศึกษาเมื่อไม่นานนี้ยังเชื่อว่า การกระโดดของวาฬหลังค่อมนั้นเป็นการสื่อสารระหว่างวาฬด้วยกันเองอีกด้วย
แต่สำหรับวาฬที่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงตัวนี้ เหล่านักวิจัยทุกคนรู้ได้ทันทีว่านี่คือ BCX1232 หรือ ‘มูน’ (Moon) วาฬหลังค่อมเพศเมียขวัญใจผู้สงบเสงี่ยมเรียบร้อยของพวกเขาที่ทำความรู้จักกันมาเป็นเวลาหลายปี เพราะมูนจะปรากฏตัวในช่วงเวลานี้ของทุกปีเพื่อการเดินทางอพยพไปยังน้ำอุ่นที่ฮาวาย
มันทำให้พวกเขาหัวใจสลาย
เพราะอาการบาดเจ็บของมูนซึ่งเป็นการบาดเจ็บสาหัสที่กระดูกสันหลังจนทำให้เธอไม่สามารถใช้หางในการช่วยว่ายน้ำได้ ซึ่งนอกจากที่จะเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสแล้ว เวลาในชีวิตของมูนก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
“เพราะใช้หางไม่ได้เธอเลยต้องใช้การว่ายด้วยหน้าอก (เหมือนท่ากบ) ซึ่งมันมหัศจรรย์มาก แต่มันก็ทำลายหัวใจของพวกเราด้วยในเวลาเดียวกัน” เจนี เรย์ นักวิจัยคนหนึ่งบนเกาะฟินกล่าว
“ถ้าเธออยู่บนบกเรายังพอช่วย แต่เพราะเธออยู่ในมหาสมุทรและด้วยขนาดของเธอ ทำให้เราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย และมันก็ป่นหัวใจของเราให้สลายกลายเป็นชิ้นๆ”
วิถีแห่งสายน้ำ
วาฬหลังค่อมนั้นสามารถเติบโตได้ถึงความยาว 50 ฟุต น้ำหนักมากได้ถึงเกือบ 90,000 ปอนด์ และเป็นที่รู้จักจากการเป็นนักเดินทางไกล
ทุกปีวาฬหลังค่อมจะเดินทางจากน้ำเย็นในอะแลสกา เลาะตามชายฝั่งของประเทศแคนาดาเพื่อไปสู่น้ำอุ่นที่เม็กซิโกและฮาวาย เป็นระยะทางไกลกว่า 4,000 ไมล์ ซึ่งที่นั่นเองวาฬตัวเมียจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูก
“การอพยพนี้เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรม อยู่ในวิถีของพวกมัน สำหรับมูนนั้นเป็นไปได้ที่จะเกิดในฮาวาย เธอจะกลับไปที่นั่นทุกปี เพราะมันเป็นสิ่งที่แม่ของเธอสอนเธอมา”
การสอนนั้นเกิดจากการที่แม่วาฬจะสอนลูกวาฬ (Calf) ให้เดินทางโดยจะว่ายประคองลูกน้อยไปตลอดทาง และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมมูนจึงพยายามใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในการเดินทางอันแสนยาวไกล ทั้งๆ ที่ร่างกายเจ็บปวดรวดร้าวมากขนาดนี้
มูนต้องการที่จะสืบทอดวิถีแห่งสายน้ำนี้ เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อเธอไม่อยู่แล้ว ลูกจะสืบทอดสิ่งเหล่านี้ต่อไป ซึ่งทีมวิจัยบนเกาะฟินเพิ่งดีใจกระโดดกันตัวลอยเมื่อ 2 ปีก่อนนี้เอง ที่ได้เห็นมูนเดินทางมาพร้อมกับลูกของเธอ
“มันคือเหตุผลเดียวที่ทำให้เธอยังเดินทางไปตลอดทั้งๆ ที่บาดเจ็บ” เรย์อธิบายถึงเหตุผลของมูน และวิถีแห่งสายน้ำของวาฬหลังค่อม
ในวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา หรือ 3 เดือนหลังจากที่ทุกคนหัวใจแตกสลายไปกับภาพของมูน วาฬคุณแม่ปรากฏตัวอีกครั้งโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ใกล้กับชายฝั่งของเกาะเมาอิ (Maui) ในฮาวาย แต่ดูอ่อนแรงลงไปอย่างมาก เพราะต้องใช้ครีบในการช่วยว่าย ส่วนหางนั้นเป็นอัมพาตไปแล้ว ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
มูนอาจจะเดินทางมาถึงปลายทางเพื่อส่งลูกได้สำเร็จ แต่ทุกคนรู้ดีว่านี่จะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเธอ
การเดินทางอันน่ามหัศจรรย์และน่าเศร้าในเวลาเดียวกัน
เพราะจะไม่มีการเดินทางเที่ยวต่อไปอีกแล้ว
มากกว่าคำถามคือคำร้องขอ
ปาดน้ำตากันให้พอ เก็บเศษหัวใจที่แตกสลายมาประกอบใหม่ แต่อย่าลืมที่จะกลับมาตั้งคำถามสำคัญถึง ‘ตัวการ’ ที่ทำให้เกิดเรื่องเศร้าเรื่องนี้ ที่ไม่ใช่เรื่องเศร้าแค่เรื่องเดียว
ความจริงแล้วมีวาฬตัวอื่นนอกจากมูนที่เคยได้รับบาดเจ็บจากการโดนเรือของมนุษย์ชนมาแล้วมากมาย โดยมีรายงานจาก NOAA ว่า ในระหว่างปี 2010 จนถึงปี 2014 มีวาฬที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในอเมริกาเหนือ และในอ่าวเม็กซิโกถึง 37 ตัว ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการที่เท่ากับทางชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
ผลการศึกษาอื่นซึ่งมีการตีพิมพ์ในปี 2017 ยังระบุว่า มีวาฬทั้งวาฬสีน้ำเงิน วาฬฟิน และวาฬหลังค่อม มากถึง 80 ตัวที่ถูกเรือชนในชายฝั่งตะวันตกทุกปี
“นี่เป็นตัวเลขประมาณการขั้นต่ำที่สุดด้วย เพราะจำนวนการตายและการบาดเจ็บร้ายแรงที่แท้จริงนั้นไม่มีใครรู้”
สำหรับเรย์ โศกนาฏกรรมของมูนคือการเตือนสติมนุษย์อย่างดีที่สุดว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หากเรือชนวาฬเข้านั้นจะส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่แสนสุภาพนี้มากแค่ไหน และควรจะมีการถอดบทเรียนครั้งใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเกิดโศกนาฏกรรมแบบนี้ขึ้นอีก
“ต่อให้เป็นคนขับเรือที่มีสมาธิแค่ไหนคุณก็อาจเกิดอุบัติเหตุชนเข้ากับวาฬหลังค่อมได้ เพราะจู่ๆ มันจะโผล่มาปรากฏต่อหน้าเรือของคุณเลย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการที่ทุกคนจะต้องลดความเร็วลง โดยเฉพาะเมื่อเข้าบริเวณที่เรารู้ว่าจะมีวาฬอยู่ เรื่องมันง่ายแค่นี้เลย แค่ลดความเร็วลง เรามีเขตโรงเรียนแล้ว เราต้องการเขตสำหรับวาฬด้วย”
แต่คำร้องขอนี้จะได้รับการตอบสนองหรือไม่นั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากพระแม่แห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่จะตอบสนองให้ได้
มันเป็นเรื่องของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ก็ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ธรรมชาติและเพื่อนสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้มายาวนานหลายร้อยปี
“มูนไม่มีวันรู้เลยว่ามีผู้คนมากมายที่เป็นห่วงเธอ และมีคนมากมายที่ร้องไห้เพื่อเธอ”
ไม่มีเสียงตอบกลับจากมูนอีกแล้ว เพราะเธอต้องเก็บแรงที่เหลือไว้ในการเดินทางครั้งสุดท้าย โดยมีเหล่าฉลามที่อาจเฝ้ารอเวลาที่เธอจะหมดแรงอยู่ไม่ไกล
ภาพ: Reuters
อ้างอิง:
- www.cbsnews.com/news/moon-humpback-whale-broken-spine-vessel-strike-last-journey-canada-hawaii/
- www.theguardian.com/environment/2022/dec/11/moon-humpback-whale-journey-british-columbia-hawaii•
- https://globalnews.ca/news/9343761/humpback-whale-shocking-spinal-injury-reminder-boaters-whale-aware/
- https://globalnews.ca/video/9344112/incredible-journey-for-injured-humpback-whale