×

กนง. หั่นดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.50% ต่อปี จับตาเศรษฐกิจไทยแย่-ความเสี่ยงสหกรณ์-บาทแข็ง

20.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (20 พฤษภาคม) ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. โดยคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% ต่อปี เป็น 0.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

 

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าประมาณการเดิม สาเหตุเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาด และผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า รวมถึงอุปสงค์ในประเทศ การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่คาด

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ ตามราคาพลังงานที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

ดังนั้นกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น และร่วมไปกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการอีก 3 เสียงมองว่าให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี

 

ทั้งนี้ด้านภาวะการเงิน ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ออกมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง และอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น

ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ ด้านสินเชื่อขยายตัวโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงบ้าง แต่ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) เป็นการชั่วคราว 

 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

“คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ยังมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพ” 

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ประเมินว่าระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือน หลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง โดยสถาบันการเงินต้องเร่งรัดการให้สินเชื่อ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ และเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป และติดตามความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising