×

แรงส่งเศรษฐกิจไทยแผ่วลง ฉุดรั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้

23.02.2024
  • LOADING...

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/23 ขยายตัวต่ำต่อเนื่อง โดยขยายตัวเพียง 1.7%YoY เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัว -0.6%QOQ_SA เทียบไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) ในช่วงท้ายปี 2023 ยังมีแรงหนุนสำคัญจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ดีต่อเนื่อง ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จำนวนนักท่องเที่ยว และอัตราการว่างงานที่ดีขึ้น อีกทั้งการส่งออกสินค้าที่พลิกกลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีแรงกดดันสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวสูงทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน โดยการลงทุนภาครัฐยังคงหดตัวสูง ตามการลดลงของการลงทุนรัฐบาลเนื่องจากความล่าช้าในการประกาศ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2024

 

สำหรับ GDP ด้านการผลิต (Production Approach) ภาคบริการขยายตัวดี โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การขายส่ง และการขายปลีก ในขณะที่การก่อสร้างหดตัวสูงตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างของรัฐบาล และภาคเกษตรพลิกกลับมาหดตัวตามคาดเนื่องจากสภาพอากาศร้อนและความแล้งที่เกิดขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 ส่งผลให้ผลผลิตพืชหลายชนิดปรับตัวลดลง อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก สอดคล้องกับข้อมูลการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

 

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2023 ฟื้นตัวช้าอย่างน่าผิดหวัง เศรษฐกิจไทยปี 2023 ขยายตัวต่ำเพียง 1.9% เติบโตชะลอลงจาก 2.5% ในปี 2022 สะท้อนการฟื้นตัวกลับไปใกล้ระดับก่อนโควิดช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ แม้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่ายปรับสูงกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิดแล้ว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชน แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2023 ยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิดประมาณ -0.4% ซึ่งล่าช้ากว่าที่ SCB EIC เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐที่แผ่วลงตามเม็ดเงินแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิดที่หมดลง และการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2024 ล่าช้า สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการผลิต พบว่าภาคเกษตรฟื้นตัวในระดับสูงกว่าก่อนวิกฤตโควิดตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2022 เช่นเดียวกับภาคบริการที่ฟื้นตัวอยู่เหนือระดับก่อนวิกฤตโควิดแล้ว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤตโควิดราว -4.5% โดยฟื้นตัวช้ามากยิ่งขึ้นจากในไตรมาส 3 ซึ่งการผลิตหลายสาขาอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง

 

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/24 จะขยายตัวได้สูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา มีแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่ได้อานิสงส์จากเทศกาลตรุษจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวหลายประเทศกลับมาใกล้เคียงระดับปกติ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะพลังงาน และโครงการ Easy e-Receipt กระตุ้นการใช้จ่าย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้ จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2024 ล่าช้า ทำให้แรงส่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐมีแนวโน้มซบเซาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 กดดันการบริโภคและลงทุนภาครัฐ 

 

มองภาพรวมในปี 2024 เศรษฐกิจไทยยังน่าห่วงและฟื้นตัวได้ช้า โดยมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนตามการฟื้นตัวของภาคบริการจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวในประเทศที่ผู้เยี่ยมเยือนไทยยังเติบโตดี การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) และการส่งออกที่ฟื้นตัวจากแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการค้าโลก อย่างไรก็ดี ต้องจับตามองความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานจากเหตุการณ์การโจมตีของกบฏฮูตี และความแห้งแล้งของคลองปานามา ในขณะที่ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยมาจากการลงทุนของภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวตามความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2024 ส่งผลให้ภาพรวมแรงสนับสนุนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจำกัดในช่วงครึ่งแรกของปี อีกทั้งภาครัฐยังจะมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณมากขึ้นจากระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงหลังวิกฤตโควิด นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานยังอ่อนแอ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรมและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทยให้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าในระยะต่อไป

 

มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่ 1. เศรษฐกิจจีนชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะกระทบการส่งออกของไทยและการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทย 2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจรุนแรงขึ้นจากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีในทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังยุโรป อาจส่งผลให้ระยะเวลาและต้นทุนค่าขนส่งทางเรือจากไทยไปยังยุโรปสูงขึ้นมาก 3. รายได้ครัวเรือนฟื้นช้า ไม่ทั่วถึง และมีภาระหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และธุรกิจขนาดเล็กที่มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่มาก 4. ภาคการผลิตอุตสาหกรรมหลายสาขาฟื้นตัวช้า จากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น และการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ นอกจากนี้ 5. วิกฤตภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเกษตรปรับลดลง

 

ภาพ: primeimages / Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising