วานนี้ (1 ตุลาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงสัญญาณเชิงบวกของการทดสอบยาต้านโควิดชนิดเม็ดอย่าง ‘โมลนูพิราเวียร์’ (Molnupiravir) ที่พัฒนาโดยบริษัทด้านเภสัชกรรมสัญชาติอเมริกันอย่าง Merck & Co ซึ่งเป็นทางเลือกและความหวังใหม่ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโควิดลงครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะในผู้ที่อาจจะมีข้อจำกัดบางประการในการเข้ารับการฉีดวัคซีน
โดย Merck ศึกษาและทดสอบการใช้ยาต้านไวรัสดังกล่าวในกลุ่มตัวอย่างรวม 775 ราย มุ่งเน้นไปที่ผู้ที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด โดยพบว่า ผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 วัน ราว 7.3% เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดในกลุ่มตัวอย่างนี้ตลอดการรักษา 29 วัน ขณะที่อีกกลุ่มตัวอย่างหนึ่งที่ให้ยาหลอก (Placebo) มีผู้ที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 14.1% และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 8 ราย
Merck และผู้ร่วมพัฒนาอย่าง Ridgeback Biotherapeutics ระบุว่า พวกเขากำลังจะยื่นเรื่องขออนุญาตใช้ยาต้านโควิดชนิดเม็ดนี้เป็นกรณีฉุกเฉินในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ถ้าได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ โมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐฯ และจากการเผยความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้นของ Merck & Co ปรับตัวสูงขึ้นในชั่วข้ามคืน
โดยตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 10 ล้านคอร์สภายในปีนี้ ซึ่งทางการสหรัฐฯ เตรียมสั่งจองโมลนูพิราเวียร์แล้ว 1.7 ล้านคอร์ส หรือคิดเป็นเงินเกือบ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.04 หมื่นล้านบาท) และอาจสั่งจองเพิ่มอีก 3.5 ล้านคอร์สหากมีความจำเป็น เบื้องต้น Merck ได้ทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในอินเดียเรียบร้อยแล้ว เพื่อกระจายยาต้านโควิดชนิดเม็ดอย่างโมลนูพิราเวียร์ให้ไปถึงประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางต่างๆ ที่อาจจะยังมีปัญหาด้านการเข้าถึงวัคซีนโควิด
ทางด้าน ดาเรีย ฮาซูดา รองประธานทีมค้นคว้าวิจัยเรื่องโรคระบาดของ Merck ชี้ว่า “ยาต้านไวรัสนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นน้อยมากภายหลังจากที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว นี่จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากๆ ในการช่วยยุติโรคระบาดครั้งใหญ่นี้” ซึ่งมีความเห็นไปในทิศทางที่สอดคลองกับ ปีเตอร์ ฮอร์บี อาจารย์ด้านโรคระบาดประจำมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า “ยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่ปลอดภัย ราคาจับต้องได้ และมีประสิทธิภาพ จะมีส่วนช่วยสร้างข้อได้เปรียบครั้งสำคัญในการต่อสู้และรับมือกับวิกฤตโควิด”
ขณะที่ เจฟฟ์ ไซอันท์ ผู้ประสานงานเรื่องโควิดประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ระบุว่า “โมลนูพิราเวียร์เป็นหนึ่งเครื่องมือทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องผู้คนจากผลลัพธ์อันเลวร้ายจากโควิด แต่อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิดยังอยู่จุดที่ห่างไกลกว่านั้นมาก นี่ยังคงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับโควิด”
นอกจาก Merck & Co ที่กำลังทดสอบและพัฒนายาต้านไวรัสชนิดเม็ดนี้แล้ว ยังมีอีกหลายองค์กร เช่น ผู้พัฒนาวัคซีนโควิดอย่าง Pfizer เองก็กำลังศึกษาผลลัพธ์ของยาต้านไวรัสชนิดเม็ด 2 ตัวเช่นเดียวกัน รวมถึง Roche บริษัทด้านเภสัชกรรมสัญชาติสวิสก็กำลังศึกษาวิจัยทางเลือกใหม่ในการรับมือและรักษาผู้ป่วยโควิดเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- สำรวจแนวทางการใช้วัคซีน mRNA เป็น ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ในประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac
- เปรียบเทียบประสิทธิภาพล่าสุด วัคซีน Sinovac vs. Pfizer-BioNTech ในชิลี
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Merck & Co Inc / Handout via Reuters
อ้างอิง: