×

สธ. แจง AstraZeneca เป็นผู้คัดเลือก Siam Bioscience ผลิตวัคซีนราคาทุน ขายถูกสุดในตลาด โต้ธนาธร ไม่ได้แทงม้าตัวเดียว

19.01.2021
  • LOADING...
สธ. แจง AstraZeneca เป็นผู้คัดเลือก Siam Bioscience ผลิตวัคซีนราคาทุน ขายถูกสุดในตลาด โต้ธนาธร ไม่ได้แทงม้าตัวเดียว

วันนี้ (19 มกราคม) กระทรวงสาธารสุข นำโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ นัดแถลงข่าวด่วน ชี้แจงการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ได้แถลงข่าวตั้งข้อสังเกตถึงการจัดหาวัคซีนที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียวคือบริษัท Siam Bioscience

 

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงว่า กรณีของ AstraZeneca ไม่ได้เป็นการจองซื้อทั่วไป แต่มีข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยด้วย เราจึงต้องหาบริษัทที่มารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในช่วงเวลาเร่งด่วน 

 

ซึ่ง AstraZeneca ได้มีการทบทวนคุณสมบัติของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าเดียว แต่มีเพียง Siam Bioscience เท่านั้นที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดการผลิตในรูปแบบของ Viral Vector Vaccine ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไม่ใช่เลือกบริษัทเอกชนรายใดมาทำก็ได้ แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรม ศักยภาพยังไม่เพียงพอที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

“เพราะฉะนั้น AstraZeneca เป็นผู้คัดเลือกบริษัท Siam Bioscience ซึ่งเกิดจากการที่เรามีเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เครือ SCG และเครือ SCG เป็นหน่วยงานที่พัฒนานวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอย่างต่อเนื่อง ก็ได้เจรจาให้ AstraZeneca มาประเมินศักยภาพของบริษัท Siam Bioscience ในเวลาเดียวกัน AstraZeneca ก็มีนโยบายในการขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก ต้องเป็นระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไปเขาถึงจะพิจารณา ซึ่งเมื่อพิจารณา บริษัท Siam Bioscience แล้ว จึงเข้าได้กับหลักเกณฑ์ที่ AstraZeneca ต้องการ

 

“การที่ประเทศไทยได้ข้อตกลงนี้ มีหลายประเทศอยากได้ข้อตกลงแบบเดียวกับเรา มีผู้พยายามจะแข่งเข้ามาให้ AstraZeneca คัดเลือก แต่ด้วยความพยายามของพวกเราที่ทำงานกันเป็นทีมประเทศไทย พวกเราใช้ในเรื่องการเจรจาและแสดงศักยภาพ รวมทั้งรัฐบาลได้แสดงการสนับสนุนบริษัท Siam Bioscience ซึ่งเดิมผลิตเพียงแค่ยาที่ใช้เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรั้งให้มาผลิตวัคซีนในรูปแบบ Viral Vector Vaccine ได้ โดยรัฐบาลสนับสนุน 595 ล้านบาท บวกกับ SCG สนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อมาจัดซื้อเครื่องมือ จนเข้าคุณสมบัติและเขาคัดเลือกเรา มันเป็นความพยายามที่ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน ต้องมีพื้นฐานอยู่เดิมที่รัชกาลที่ 9 ได้ทรงวางแนวทางไว้

 

Our Loss is Our Gain หมายถึงว่า บริษัทการผลิตยาชีววัตถุมันต้องลงทุนมหาศาล และรายได้มันไม่เพียงพอที่จะคืนทุนได้ในเวลาอันรวดเร็ว มันจึงเป็นการขาดทุนเพื่อกำไรในการผลิตยาชีววัตถุที่ประเทศไทยเราผลิตเอง ลดการนำเข้าได้มากกว่าส่วนที่ขาดทุนไปเสียอีก แต่เป็นการประหยัดงบประมาณในภาพรวมของสาธารณสุข ซึ่งส่วนนี้คนที่ไม่เห็นก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นการสนับสนุนบริษัทที่ขาดทุน แต่จริงๆ ไม่ใช่ เป็นไปตามหลักปรัชญาที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้เรา” นพ.นคร กล่าว

 

นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ไม่ต้องกังวลว่าเราจะไม่มีวัคซีนเพียงพอ เรามีพอแน่ ด้วยการที่เรามีศักยภาพผลิตวัคซีนภายในประเทศ แม้ว่าจะเป็นสิทธิ์การจำหน่ายของ AstraZeneca แต่ก็อยู่บนฐานของความร่วมมือ และเรามีสิทธิ์พึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต หากมีการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่

 

ดังนั้นการที่บริษัท Siam Bioscience เข้ามาทำงานในทีมประเทศไทย เป็นเรื่องที่ต้องน่าสรรเสริญ เพราะบริษัท Siam Bioscience ต้องหยุดการผลิตสินค้าเดิม แล้วมาพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน ซึ่งทุกวันนี้ทำกัน 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพราะบริษัท AstraZeneca ส่งตัวอย่างวัคซีนมาให้ 1 ซีซี แต่เราต้องผลิตให้ได้ 2,000 ลิตร มั่นใจว่าการผลิตเป็นไปตามแผน และเราจะได้วัคซีนตามคุณภาพที่กำหนดแน่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ 

 

สำหรับการสนับสนุนเอกชน ไม่เพียงแค่การสนับสนุนบริษัท Siam Bioscience ตอนนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณมาแล้วในการสนับสนุนทุกหน่วยงานในประเทศผลิตวัคซีนในประเทศ เพื่อเป็นกำลังสำรอง เช่น บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด, บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“เราไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนหาวัคซีนมาได้ทีเดียว 100% ของประชากรไทย จากการคาดการณ์ของ UNICEF ปลายปีนี้วัคซีนจะมีเพียงพอต่อประชากรทั้งโลกด้วยซ้ำไป จึงขอเรียนย้ำว่า วัคซีนมันมีเพียงพอ แต่เวลานี้เป็นการใช้วัคซีนในภาวะเร่งด่วน การรีบร้อนนำวัคซีนมาใช้อาจจะมีข้อเสีย ผมอยากจะเรียนให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีข้อมูลไม่ครบ ต้องใช้ความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลให้มากกว่านี้ เราจะเห็นว่าบางประเทศที่ใช้วัคซีนไปก่อนหน้าเริ่มมีการรายงานการเจ็บป่วยเป็นผลจากการใช้วัคซีน ซึ่งสะท้อนความมั่นใจของการใช้วัคซีน การรีบร้อนอาจจะเกิดผลเสีย” นพ.นคร กล่าว

 

ส่วนความสัมพันธ์ของ AstraZeneca กับบริษัท Siam Bioscience นั้น นพ.นคร กล่าวว่า เราซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca พูดง่ายๆ มาจ้างให้บริษัท Siam Bioscience ผลิตให้ แต่การจะจ้างให้ผลิตก็ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย แบรนด์วัคซีนเป็นของ AstraZeneca แต่การจำหน่ายให้เราอยู่บนพื้นฐานของ No Profit No Loss คือไม่มีกำไร แต่จะไม่ขาดทุน พูดง่ายๆ คือคิดราคาทุนเท่านั้น เมื่อเขาขายราคาทุนให้กับเรา ค่าจ้างในการผลิตก็ต้องเป็นราคาทุนเช่นกัน 

 

ดังนั้นบริษัท Siam Bioscience ต้องผลิตและจำหน่ายในราคาต้นทุน และ AstraZeneca ก็ไปจำหน่ายในราคาต้นทุน จะเห็นได้ว่า AstraZeneca เป็นวัคซีนราคาถูกสุดในตลาด ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 

 

“ส่วนเงินทุนวงเงิน 600 ล้านบาท ที่บริษัท Siam Bioscience รับทุนสนับสนุน ได้ระบุในสัญญาเลยว่า เมื่อผลิตวัคซีนได้ จะคืนวัคซีนเป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับ ดังนั้นการสนับสนุนไม่ใช่การให้เปล่า เป็นการสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัคซีนให้ได้” นพ.นคร กล่าว 

 

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า เราไม่ได้คำนึงถึงความรีบอย่างเดียว ต้องมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคและความปลอดภัย

 

วัคซีนที่จะนำมาฉีดให้คนไทยต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เราจะไม่ดำเนินการตามกระแส และวัคซีนที่จะเข้ามาในไทยต้องผ่านมาตรฐานของ อย. ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนส่งมาให้ อย. พิจารณา 2 บริษัท และขณะนี้เราเจรจาอยู่อีก 4 บริษัท แต่บริษัทเหล่านี้ต้องส่งเอกสารมาแสดงให้ อย. ดูว่ามีความปลอดภัย

 

ส่วนราคาที่เราจองซื้อจาก AstraZeneca คือ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 150 บาทต่อโดส  แต่บางบริษัทที่ฉีดแล้วในสหรัฐอเมริกา มีราคาอยู่ที่ 19 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ขณะที่บางบริษัทขึ้นไปถึง 32 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส

 

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวยืนยันว่า การจัดหาไม่ได้ล่าช้า กระบวนการที่ดำเนินการเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มทดลองวัคซีนกันอยู่ มีกลไกที่ชัดเจน และมีฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีคณะทำงานย่อย โดยเราได้ศึกษาข้อมูลมาตลอดว่าใครทำอะไรไปถึงไหน ซึ่งในเวลานั้นมีข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด เพราะไม่ได้เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่จะมาบอกได้ว่าใครทำอะไรได้แค่ไหน หลายเรื่องต้องมีการคาดการณ์และวางแผน

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ตนอยากทบทวนว่าวิธีการที่เราตั้งเป้าคือเราน่าจะได้วัคซีนมาฉีดในปี 2564 ครอบคลุม 50% มาจาก 3 ช่องทาง ยืนยันไม่ได้แทงม้าตัวเดียว คือ

 

1. จำนวน 20% เราได้เข้าร่วมกับโครงการ Covax ซึ่งเป็นการนำวัคซีนหลายเจ้ามารวมกันลงถังกลาง เราเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมและสนใจ เพียงแต่เราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เงื่อนไขที่เขาให้เราซื้อจะมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งเป็นหลักการของเขา 

 

ทั้งนี้ เราไปเจรจากับ Covax ไปหลายครั้ง ซึ่งมีความยุ่งยากในการทำสัญญาจองซื้อ รวมถึงความคืบหน้าวัคซีนที่มาใส่ในถังกลางยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ช่องทางนี้เรายังไม่ได้ทิ้ง แต่ช่องทางนี้เราประเมินถึงปัจจุบันยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก 

 

2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตในประเทศไทย โดย AstraZeneca กับบริษัท Siam Bioscience อีก 20% 

 

3. ส่วนอีก 10% เราเปิดทางไว้กับบริษัทอื่นๆ ที่จะมีผลออกมาเป็นระยะๆ เพียงแต่ไม่สามารถเปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะข้อมูลการผลิตวัคซีนเหล่านี้เป็นความลับ แต่เรามีข้อมูลศึกษาอยู่ ยืนยันไม่ได้แทงม้าตัวเดียว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising