×

กระทรวงการคลังหั่นคาดการณ์ GDP ปี 2566 เหลือโตแค่ 1.8% ตามเอกสารหลุด ยันทำข้อมูลตามหลักวิชาการ ไม่เอี่ยวการเมือง

24.01.2024
  • LOADING...

กระทรวงการคลังหั่นประมาณการ GDP ปี 2566 เหลือโตแค่ 1.8% มองปี 2567 โต 2.8% ตามเอกสารลับที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้ พร้อมยืนยันเป็นตัวเลขที่ทำตามหลักวิชาการ มีเหตุผล โปร่งใส และไม่เกี่ยวเรื่องการเมือง 

 

วันนี้ (24 มกราคม) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 1.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6 ถึง 2.0%) ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยาย 2.6%

 

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระทรวงการคลังหั่นประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ลง เป็นผลมาจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2566 ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ที่หดตัวเป็นเดือนที่ 23 ติดต่อกัน และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัว 15 เดือนติดต่อกัน

 

นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัวที่ -1.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ -1.8 ถึง -1.3%) ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

 

เปิดประมาณการปี 2567 คาดขยายตัวทั้งปี 2.8%

 

สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2.8% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3 ถึง 3.3%) เนื่องมาจากปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ และภาคการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 19.5% ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง 

 

นอกจากนั้น คาดว่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวลงเล็กน้อยตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชะลอตัวลง ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 4.2% ต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเตือนว่า ต้องติดตามสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือน โดยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3/66 มียอดคงค้างอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ของ GDP 

 

เปิดเหตุผล ทำไมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ส่อโตแค่ 1.8%

 

พรชัยเปิดเผยอีกว่า ตัวเลขประมาณการปี 2566 ที่ออกมา 1.8% เป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่า GDP ไทยไตรมาส 4 จะโตเพียง 1.4% เท่านั้น

 

“จากตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 2.6% ไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 1.8% ไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 1.5% เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ตัวเลข GDP ทั้งปีขยายตัวได้ 2.7% ตามที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนตุลาคม GDP ไตรมาส 4 ของไทยจะต้องขยายตัวราว 4 ถึง 5% อย่างไรก็ตาม ตามสมมติฐานล่าสุดที่ 1.8% กระทรวงการคลังประเมินว่า GDP ไตรมาส 4 จะขยายตัวที่ราว 1.4%”

 

พรชัยยังยืนยันว่า ตัวเลข 1.8% เป็นตัวเลขที่ทำตามหลักวิชาการ รอบคอบ มีเหตุผล โปร่งใส และไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง โดยตัวเลขดังกล่าวได้สอบถามและตรวจเช็กกับหน่วยงานอื่นๆ

 

เศรษฐกิจไทยโตต่ำเข้าข่าย ‘วิกฤต’ หรือไม่

 

หลังจากตัวเลข GDP ที่ออกมาต่ำ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ตัวเลขดังกล่าวทำเพื่อพิสูจน์ความวิกฤตของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทผ่านมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือไม่

 

อย่างไรก็ดี พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ระบุว่า คำว่า ‘วิกฤต’ ไม่มีนิยามชัดเจน จะมีก็แต่คำว่า เศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งคำว่าถดถอยก็ไม่ได้หมายความถึงวิกฤตอยู่ดี

 

กระนั้นพรชัยยังเตือนว่า เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณที่เป็นลบหลายตัว มีการขยายตัวที่ลดลงต่อเนื่องมา มีความเปราะบางในหลายเรื่อง

 

คลังเผย แบงก์ชาติ – IMF เตรียมปรับประมาณการ GDP ไทยลง

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะประกาศในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ ออกมา ไม่ตรงกับประมาณการของ สศค. จะสูญเสียความน่าเชื่อถือหรือไม่

 

โดยพรชัยตอบว่า ต้องเรียนว่ากระทรวงการคลังใช้ข้อมูลดัชนีมาวิเคราะห์ ขณะที่สภาพัฒน์มีตัวเลขจริง นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังมีข้อสงสัยอยู่เกี่ยวกับสินค้าคงคลัง (Change in Inventories) ที่เป็นเสมือนกล่องดำ ยากที่จะประเมินให้ตรง เนื่องจากเป็นข้อมูลที่สภาพัฒน์ถือไว้คนเดียว

 

พรชัยยังกล่าวอีกว่า จากประมาณการล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 2.5% ในปี 2566 ก็มาจากข้อมูลถึง (as of) เดือนกันยายนเท่านั้น แต่ IMF ยังไม่เห็นตัวเลขเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ดังนั้นทั้ง IMF และธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจะปรับลง

 

IMF เตือนเศรษฐกิจไทยกำลังสูญเสียโมเมนตัม

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา IMF ได้ออกเอกสารเชิงให้คำปรึกษา (Consultation) หรือ IMF Executive Board Concludes 2023 Article IV Consultation with Thailand โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังสูญเสียโมเมนตัม ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง 

 

โดยคาดการณ์ว่า GDP ไทยปี 2566 จะขยายตัว 2.5% ชะลอตัวลงจาก 2.6% ในปี 2565 พร้อมทั้งเตือนว่า ความเสี่ยงด้านลบทั้งภายในและภายนอกจะมีอิทธิพลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย 

 

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภายนอก รวมถึงจีน การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ภาวะทางการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวกว่าที่คาดไว้ และการแยกส่วนทางภูมิศาสตร์ (Geo‑economic Fragmentation) ที่อาจจะหนักยิ่งขึ้น”

 

นอกจากนี้ IMF เตือนอีกว่า ความเสี่ยงในประเทศก็ยังเพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการขาดวินัยทางการคลังอาจบ่อนทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค หนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นก็เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเงิน และการพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไปก็ยังเพิ่มความเสี่ยงของไทยต่อผลกระทบจากภายนอก 

 

IMF แสดงความยินดีกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และชื่นชมหน่วยงานที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคท่ามกลางภาวะช็อกหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และแนวโน้มยังคงไม่แน่นอน

 

“ด้วยพื้นที่ทางการคลังที่จำกัดและจุดอ่อนทางโครงสร้างที่มีมายาวนาน IMF จึงสนับสนุนให้ทางการค่อยๆ ดำเนินนโยบายกลับสู่ระดับปกติ (Gradual Policy Normalization) ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขณะเดียวกันก็ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างที่เข้มข้นเพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโตที่มีศักยภาพ และสร้างความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

 

IMF ยืนยันว่า รับทราบถึงมาตรการนโยบายระยะสั้นของทางการที่ประกาศไว้ (ซึ่งอาจหมายถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังมองว่าไทยยังมีจุดยืนทางการคลังที่เป็นกลาง (Neutral Fiscal Stance) พร้อมแนะว่าการหารายได้เพิ่มขึ้นโดยค่อยๆ เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่าย รวมถึงการยกเลิกมาตรการอุดหนุนพลังงาน ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก

 

IMF ยังเห็นพ้องว่า จุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ทางการควรเตรียมพร้อมในกรณีที่ความเสี่ยงภายในประเทศหรือภายนอกต่ออัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นจริง 

 

สุดท้าย IMF ยังสนับสนุนให้ทางการดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลผลิต โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขจัดกฎระเบียบที่มากเกินไป ยกระดับทักษะกำลังแรงงาน และปฏิรูประบบการคุ้มครองทางสังคม การจัดการความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising