×

เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer และ Moderna

17.11.2020
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19

หลังผ่านไปเกือบ 7 เดือนนับจากวันที่รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติโปรแกรม Operation Warp Speed เพื่อเร่งรัดการวิจัย ค้นคว้า และพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ กองทัพ และบริษัทยา-เทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำ ในที่สุดเราก็ได้แคนดิเดตวัคซีนจากสองบริษัทที่ได้ผลการทดลองทางคลินิกเบื้องต้น (เฟสที่ 3) เป็นที่น่าพอใจ โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสูงกว่า 90% (และหลังจากนี้อาจมีวัคซีนของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างพัฒนาและทดลองตามมาอีก)

 

และนี่คือสิ่งที่เรารู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีนของ Pfizer และ Moderna

 

ประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer

วัคซีน BNT162b2 ของ Pfizer เป็นวัคซีนที่พัฒนาร่วมกับ BioNTech บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำของเยอรมนี พวกเขาได้ประกาศผลการศึกษาเบื้องต้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน หลังมีการทดลองวัคซีนทางคลินิกในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 44,000 คน

 

โดยอาสาสมัครกลุ่มนี้แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งได้รับยาหลอก ซึ่งหลังตรวจวิเคราะห์ผู้ที่แสดงอาการป่วยจากโควิด-19 จำนวน 94 คน พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่กลุ่มได้รับยาหลอก และได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงถึง 90%

 

ข้อมูลพบว่าผู้เข้าร่วมทดลองจะได้รับการป้องกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 โดยวัคซีน 2 โดสฉีดให้ห่างกัน 21 วัน ซึ่งหลังจากนี้ Pfizer และ BioNTech จะทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนขั้นสุดท้ายกับผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 164 คนที่มีอาการป่วย

 

ประสิทธิภาพของวัคซีน Moderna 

สำหรับวัคซีน mRNA-1273 ของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Moderna ในแมสซาชูเซตส์นั้น เป็นการพัฒนาร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ และเพิ่งประกาศผลการศึกษาเบื้องต้นภายหลังการทดลองวัคซีนในคนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน โดยพบว่ามีประสิทธิในการป้องกันไวรัสสูงถึง 94.5%

 

การทดลองเฟสที่ 3 นี้มีอาสาสมัครเข้าร่วม 30,000 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีน 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ และอีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก โดยทีมสังเกตการณ์อิสระได้ตรวจวิเคราะห์กลุ่มผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการป่วยกลุ่มแรกจำนวน 95 ราย และพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพียง 5 รายที่อยู่ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนจริง ขณะที่ 90 รายที่เหลือล้วนอยู่ในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอก

 

นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อ 11 รายที่พบว่ามีอาการป่วยรุนแรงนั้นล้วนอยู่ในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอกด้วย

 

สำหรับการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายนั้น ทางบริษัทจะศึกษาจากอาสาสมัครจำนวน 151 คน ซึ่งยังต้องรอผลยืนยันอัตราการป้องกันไวรัสต่อไป ส่วนระยะเวลาในการป้องกันนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด

 

วัคซีนทั้งคู่มีผลข้างเคียงหรือไม่

มีรายงานผลข้างเคียงเล็กน้อยหรือปานกลางจากการฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna โดยอาสาสมัครส่วนใหญ่จะรู้สึกเจ็บในจุดที่ฉีดวัคซีน มีอาการเมื่อยล้าและปวดกล้ามเนื้อเป็นเวลา 1-2 วัน (ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน ยังไม่มีรายงานความน่ากังวลเกี่ยวกับอันตรายหรือความปลอดภัยของวัคซีนแต่อย่างใด)

 

สิ่งที่ทำให้วัคซีนของ Pfizer และ Moderna ต่างจากวัคซีนของบริษัทอื่น

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากโฟกัสกับสิ่งที่เรียกว่า ‘หนามโปรตีน’ (Spike Protein) ที่พบบนผิวไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้ไวรัสยึดจับกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์จนเกิดการติดเชื้อได้ 

 

วัคซีนสองตัวนี้พัฒนาขึ้นโดยนำสารพันธุกรรมของไวรัสมาเปลี่ยนเซลล์ในร่างกายคนให้กลายเป็นแหล่งผลิตผิวโปรตีน ซึ่งผิวโปรตีนที่สร้างจากร่างกายมนุษย์นั้นไม่เป็นอันตราย เพราะไม่มีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ เมื่อร่างกายมนุษย์เจอกับผิวโปรตีนของไวรัสจะมีการผลิตภูมิคุ้มกันออกมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดี้ต่อสู้กับไวรัสนั่นเอง 

 

จะได้วัคซีนเมื่อไร

ในประเทศอื่นๆ อาจต้องรอไปก่อน ส่วนที่สหรัฐฯ นั้น ก่อนที่บริษัทต่างๆ จะยื่นขอใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (FDA) เพื่อแจกจ่ายวัคซีนได้จะต้องผ่านอุปสรรคหลายด่าน โดยมีข้อกำหนดว่าต้องติดตามผลผู้เข้าร่วมทดลองจำนวนครึ่งหนึ่งหลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อพิสูจน์ยืนยันว่าวัคซีนปลอดภัย เพราะหากมีใครมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนอย่างรุนแรงก็อาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับวัคซีนภายใน 6 สัปดาห์ ซึ่งสำหรับ Pfizer นั้นจะผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยนี้ในสัปดาห์นี้ ส่วน Moderna อาจใช้เวลานานขึ้น

 

ด่านสุดท้ายก็คือการผลิตวัคซีน ซึ่งทั้งสองบริษัทต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถผลิตวัคซีนในปริมาณมากอย่างปลอดภัย โดย Pfizer ระบุว่าบริษัทจะให้ข้อมูลกับทาง FDA ก่อนสุดสัปดาห์นี้ แต่สำหรับ Moderna นั้นยังไม่มีข้อมูลว่าจะเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้เมื่อใด

 

ท้ายที่สุด FDA จะใช้เวลาในการตรวจสอบการยื่นขออนุมัติของวัคซีนแต่ละบริษัท ซึ่งยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานเท่าไร อย่างไรก็ตาม คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีนของ Pfizer และ BioNTech ได้อย่างเร็วที่สุดก่อนสิ้นปีนี้

 

ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเริ่มแจกจ่ายวัคซีนหลังจากที่ FDA อนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง โดยคาดว่าคนกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนคือบุคลากรการแพทย์ในพื้นที่แนวหน้า

 

ส่วนวัคซีนของ Moderna นั้น ทางบริษัทประกาศเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 20 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะผลิตเพิ่มอีก 500-1,000 ล้านโดสในปีหน้า ขณะที่ Pfizer ระบุว่าบริษัทจะผลิตวัคซีนได้มากถึง 50 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ และอีก 1,300 ล้านโดสในปีหน้า

 

สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าวัคซีนจะพร้อมใช้ในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วงปี 2021

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising